ส่องอาชีพแห่งอนาคตที่คนรุ่นใหม่ห้ามพลาด หลังตลาดอยากได้ทักษะเหล่านี้มาตอบโจทย์

ในปัจจุบันเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งคนรุ่นใหม่มักถูกมองว่าเป็นชาว Digital Natives ที่สูง ขณะที่บางส่วนเรียกว่า iGen เพราะเป็นกลุ่มที่เกิดและเติบโตมาพร้อมกับการใช้เทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันนี้ ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมดิจิทัล ทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมที่เน้นด้านเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์เพิ่มมากขึ้นและต้องตอบโจทย์การใช้ชีวิตแบบอิสระของคนรุ่นใหม่ ทำให้คนรุ่นใหม่ต้องปรับตัวเพื่อก้าวทันเทคโนโลยีที่รวดเร็ว และหลายๆ อาชีพกำลังเริ่มเป็นที่ต้องการของตลาด 

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid 19 ที่ไปในทิศทางที่ดีขึ้น การจ้างงานค่อยๆฟื้นตัว ประกอบกับงานในสายเทคโนโลยีที่มีความต้องการแรงงานจำนวนมาก ประกอบกับสายงานใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับรูปแบบธุรกิจยุคใหม่ การสื่อสารสมัยใหม่ THE STATES TIMES ได้รวบรวมอาชีพของคนรุ่นใหม่ที่น่าสนใจ เหมาะกับเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่...

- ผู้ประกอบการด้าน e-Sports เป็นที่ทราบกันดีว่าในปัจจุบัน e-Sports เป็นอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต สร้างอาชีพและรายได้ให้กับคนรุ่นใหม่ โดยกีฬา e-sport ครอบคลุมไปถึงหลายส่วนงาน เช่น นักพากย์เกม ทีมงานถ่ายทอดสด นักออกแบบเกม ผู้ดูแลเกม นักวิเคราะห์ นอกจากนี้ กีฬา e-Sport ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อุตสาหกรรมเกมในประเทศไทย มีอัตราการขยายตัวย้อนหลังในปี 2559 - 2562 อยู่ที่ 12.7% เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยต่อยอดและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมเกมเข้ากับธุรกิจอื่น ด้านบริษัท NewZoo บริษัทที่รวบรวมเกี่ยวกับธุรกิจเกม รายงานว่า ในปี 2562 มูลค่ารวมของกีฬา e-Sport ทั่วโลก อยู่ที่ 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยอยู่ที่ 36,300 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าในปี 2565 มูลค่าของกีฬา e-Sports ทั่วโลกจะอยู่ที่ 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยอยู่ที่ 59,400 ล้านบาท

- วิศวกรด้าน Ai หรือ machine learning ปัจจุบันนี้ AI เป็นเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมหลายๆ ด้าน ทั้งด้านธุรกิจ อุตสาหกรรม หน่วยงานรัฐ และความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันของคนในสังคมยุคนี้ โดยบริษัท McKinsey บริษัทที่ปรึกษาชื่อดังของโลกได้วิเคราะห์ว่า อีก 10 ปีข้างหน้า AI จะสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากถึง 13 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และบริษัทอีก 70% ทั่วโลกจะใช้ AI ในการดำเนินธุรกิจ ทำให้องค์กรส่วนใหญ่ต่างมองหาพนักงานสายอาชีพนี้จำนวนมาก

- Full stack developer เป็นอีก 1 อาชีพที่ต้องการในตลาดงานอย่างมาก เนื่องจากต้องมีความสามารถและทักษะที่หลากหลาย ต้องมีพื้นฐานทั้ง Front-End Developer เป็นผู้ออกแบบ Website ต้องเขียนภาษา HTML/CSS/JavaScript ได้ และ Back-End Developer ทำหน้าที่วางระบบด้านหลังทั้งหมด ข้อมูลจะวิ่งจากไหนไปไหน ด้วยวิธีอะไร ชนิดฐานข้อมูลที่ต้องใช้เก็บข้อมูล มีทักษะอื่นๆ ประกอบด้วย UX/UI database (SQL/NoSQL), middleware tools และ web server configuration โดยตำแหน่งนี้ต้องรู้ครบจบในคนเดียวกัน ต้องสามารถพัฒนาเว็บอย่างเต็มรูปแบบทั้งหน้าบ้าน และหลังบ้าน จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้นักพัฒนา Full stack เป็นที่ต้องการที่เพิ่มมากขึ้นของบริษัทต่างๆ

- Data Scientist หรือนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล เป็นอีก 1 อาชีพที่มาแรงที่คลาดทั่วโลกต้องการ ทำหน้าที่วิเคราะห์ Big Data หรือ ข้อมูลจำนวนมหาศาลในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ที่มีอยู่ในองค์กร โดยหน้าที่หลักของ Data Scientist คือ ทำความเข้าใจในปัญหาที่ต้องการแก้ไข (Define Question)  ดึงข้อมูลจากแหล่งข้อมูล (Data collection) ทำความเข้าใจในข้อมูลที่มี (Data analysis) เตรียมข้อมูลให้เรียบร้อยก่อนนำข้อมูลไปประมวล (Data preparation) วัดประสิทธิภาพและการประมวลผลข้อมูล (Data acquisition) สรุปผลและแสดงผลที่ได้จากการประมวลผลข้อมูล (Data visualization) ปรับปรุงประสิทธิภาพการประมวลผลข้อมูลให้ดีขึ้น (Optimization) และทำงานร่วมกับ Data Engineer เพื่อออกแบบโครงสร้างข้อมูลที่ง่ายต่อการนำไปประมวลผล

- นักขับโดรน หรือ Drone Specialist เป็นอาชีพในยุคดิจิทัลที่หลายคนใฝ่ฝัน แถมได้รับความนิยมมากขึ้นโดยเฉพาะในภาคธุรกิจ เพราะหลายภาคส่วนนำโดรนไปใช้ในการทำธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านโลจิสติกส์ เกษตรกรรม หรือสื่อสารมวลชน โดยข้อดีของอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) คือ  ทำให้ได้ภาพมุมสูงมาโดยที่ประหยัดค่าใช้จ่าย การบินโดรนในประเทศไทย ต้องขออนุญาตอย่างถูกกฎหมายและมีใบขึ้นทะเบียนที่ออกโดยสำนักงานการบินพลเรือน หรือ กสทช. โดรนที่ใช้บินต้องมีประกันภัยความเสียหาย ผู้บินโดรนต้องมีใบอนุญาตบังคับอากาศยานไร้คนขับที่ออกโดยสำนักงานการบินพลเรือน

- Coder หรือ นักเขียนโค้ด Larry Page แห่ง Google กล่าวว่า coder จะเป็นผู้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวก และทำให้เกิดความเป็นไปได้ในสิ่งที่มนุษย์อยากที่จะทำ ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพและเติบโตได้มากขึ้น จึงเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญและต้องการอย่างมาก

- Strategist หรือ นักวางกลยุทธ์ Michael E. Porter นักกลยุทธ์มองว่า ปัจจัยสำคัญของการเติบโตธุรกิจหรือการทำงานต่างๆ คือการวางกลยุทธ์และมองเห็นอนาคต เพื่อให้เกิดมุมมองใหม่ๆ และสร้างจุดเด่นจุดแข็งของธุรกิจขึ้นมาได้ นับเป็นอาชีพที่สำคัญอย่างมากในการทำให้ธุรกิจต่างๆ เติบโตขึ้น

- Data Analyst หรือ นักวิเคราะห์ข้อมูล Vadim Kutsyy หัวหน้าห้องปฎิบัติการข้อมูลของ eBay กล่าวว่า อีกหนึ่งปัจจัยของการเติบโตทางธุรกิจ และเป็นอาชีพที่มีความสำคัญ คือ นักวิเคราะห์ข้อมูล เป็นการวิเคราะห์เชิงสถิติจากข้อมูลจำนวนมาก โดยนำมาตีความและวิจัย เพื่อนำไปวางแผนการดำเนินงานให้มีประโยชน์สูงสุด และลดความเสี่ยงต่างๆ ที่ทำให้เกิดปัญหา

- User Experience Designer หรือ นักออกแบบจากประสบการณ์ผู้ใช้งาน Irene Au หัวหน้าฝ่ายออกแบบของ Google , Yahoo และ Udacity กล่าวว่า ในการทำธุรกิจ อีกอย่างหนึ่งที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้ ธุรกิจนั้นต้องมีปฎิสัมพันธ์กับ user โดย UXD เป็นผู้ออกแบบโดยอาศัยการเรียนรู้และสังเกตพฤติกรรมของ user และนำไปพัฒนา ทำให้สินค้าและบริการสามารถเข้าถึง user ได้ดีขึ้น

- Software Developer หรือ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ Linus Torvalds ผู้สร้างระบบปฎิบัติการ Linux และ Gift Linux กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ซึ่งเบื้องหลังเทคโนโลยีต่างๆ จะมีนักพัฒนาซอฟต์แวร์เป็นผู้คอยสร้างและเทคโนโลยีเหล่านี้ เป็นอาชีพที่เป็นกลไกสำคัญของการทำให้เกิดเทคโนโลยีต่างๆ และมีโอกาสก้าวหน้าสูง

- Computer System Analyst หรือ นักวิเคราะห์ระบบคอมพิวเตอร์ Steve Wozniak หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ที่ Data virtualization company มองว่า นักวิเคราะห์ระบบคอมพิวเตอร์ เป็นอาชีพที่ใช้ทั้งความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและด้านธุรกิจ เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้สามารถวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์ และวิจัยเทคโนโลยีที่ดีที่สุดเพื่อนำมาใช้ในองค์กร เป็นตำแหน่งที่ขาดไม่ได้ในการทำให้องค์กรมีประสิทธิภาพ

- Information Security Analysts หรือ นักวิเคราะห์ความปลอดภัยของข้อมูล Mark Russinovich ผู้ทำหน้าที่ CTO ของ Microsoft กล่าวว่า การเข้าสู่ยุคดิจิทัลและมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการทำงานและดำเนินชีวิต ข้อมูลต่างๆ ได้เข้าไปอยู่ในระบบ cloud สิ่งที่ละเลยไม่ได้คือ “ความปลอดภัยของข้อมูล” ที่อาจมีผู้ไม่หวังดีหรือหาผลประโยชน์จากข้อมูลของผู้ใช้ ต้องมี Information Security Analysts เป็นผู้เชี่ยวชาญที่คอยวางแผนเพื่อป้องกันระบบจากการบุกรุกและการโจมตีทางไซเบอร์ ทำให้อาชีพนี้มีความสำคัญมากในปัจจุบันนี้

- Computer Network Architect สถาปนิกเครือข่ายคอมพิวเตอร์ Tom Hollingsworth วิศวกรเครือข่าย United Systems กล่าวว่า จากการใช้งาน Network ในปัจจุบันมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ การออกแบบสร้างและบำรุงรักษาเครือข่ายการสื่อสารข้อมูล รวมทั้งการกำหนดงบประมาณการออกแบบเครือข่ายและการติดตั้ง มีความสำคัญอย่างมาก ทั้งนี้เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจ

- Computer Support Specialist ผู้เชี่ยวชาญด้านการสนับสนุนคอมพิวเตอร์ David Perry แห่ง Comodo Group บริษัทซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัยคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับระบบคอมพิวเตอร์ ต้องการแก้ไขอย่างตรงจุด และรวดเร็ว อาชีพนี้จึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นบุคคลที่เข้าไปแก้ปัญหานั้นโดยการศึกษาปัญหาจากผู้ใช้งานโดยตรงและให้คำแนะนำที่ถูกต้องอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ อาชีพของคนรุ่นใหม่ในต่างประเทศ ก็มีผลสำรวจจาก U.S News & World Report พบว่า ชาวอเมริกันกว่า 1,000 คน ที่มีอายุระหว่าง 20-34 ปี เห็นว่าพื้นฐานเงินเดือนนั้นสำคัญที่สุดในการตัดสินใจเลือกงาน รองลงมาคือ Work life balance สุดท้ายคือ ระดับความเครียด อาชีพที่ทำรายได้มากที่สุดของคนรุ่นใหม่ในสหรัฐอเมริกา ได้แก่…

1. สมุหบัญชี (Accountant) มีเงินเดือนเฉลี่ย $75,280
2. นักวิเคราะห์ผลการดำเนินงาน (Operations research analyst) มีเงินเดือนเฉลี่ย $84,180
3. นักรังสีวิทยา (Radiation therapist) มีเงินเดือนเฉลี่ย $84,460
4. วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม (Environment engineer) มีเงินเดือนเฉลี่ย $88,040
5. วิศวกรรมเครื่องกล (Mechanical engineer) มีเงินเดือนเฉลี่ย $88,190
6. นักวิเคราะห์ระบบงานคอมพิวเตอร์ (Computer system analyst) มีเงินเดือนเฉลี่ย $90,180
7. นักพัฒนาซอฟต์แวร์ (Software developer) มีเงินเดือนเฉลี่ย $102,160
8. นักคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuary) มีเงินเดือนเฉลี่ย $110,560
9. ที่ปรึกษาทางการเงิน (Financial adviser) มีเงินเดือนเฉลี่ย $118,050

และจากการลงพื้นที่ของ THE STATES TIMES เพื่อสอบถามคิดเห็นของเยาวชนไทย บริเวณสามย่านมิตรทาวน์ ก็ได้คำตอบหลากหลายความคิดเห็นเกี่ยวกับอาชีพในอนาคต เช่น...

น้องแอ๋ว นักเรียนชั้น ม.4 แผนการเรียนวิทย์ คณิต โรงเรียนสาธิตมศว.ปทุมวัน กล่าวว่า พึ่งเลือกเข้าแผนการเรียนแต่ยังไม่ค่อยมั่นใจ แต่มองไปที่สายสุขภาพ เพราะว่าในอนาคตอาจจะยังมีงานทำในด้านนี้

น้องใบเตย ปรียาวดี เจียมทรัพย์สิน นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ รัชดา กล่าวว่า ในตอนนี้กำลังทำ YouTuber และอยากเป็นแอร์โฮสเตส เนื่องจากเรียนด้านภาษา อยากใช้ภาษาที่เรียนทำงานด้วย  อยากเรียนกำกับภาพแสดงและภาพยนตร์และผู้กำกับ ในส่วนของ YouTuber น้องระบุว่า ทำเป็นอาชีพเสริมควบคู่กับงานประจำ และสามารถนำไปต่อยอดได้ในอนาคต 

น้องเกมส์ นันธวัช กิจสุคนธ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะวิทยาศาสตร์ สาขาจุลชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อยากทำงานที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ที่เกี่ยวจุลชีววิทยา เช่น ทำงานในโรงพยาบาล แต่ว่าในประเทศไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เท่าไหร่ อยากขอทุนไปเรียนต่อที่บอสตัน และอยากทำธุรกิจส่วนตัวควบคู่กับงานจุลวิทยา ส่วนแผนสำรองอยากเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย

น้องมิ้นท์  ปนัดดา สาธรธนกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิทยาศาสตร์ สาขาจุลชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อยากทำงานในหน่วยพิสูจน์หลักฐาน และอยากทำงานในโรงพยาบาล ถ้าเป็นไปได้อยากทำงานให้ตรงกับสายที่เรียน แต่ถ้าไม่ได้ มีเป้าหมายคืออยากหาประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับชีวิต ไม่จำเป็นต้องทำงานให้ตรงสาย แต่อยากทำงานที่รู้สึกให้ตัวเองมีความสุข

น้องวาดเขียน แพรตะวัน ตะลันกูล นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะอักษรศาสตร์ ภาค BALAC  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อยากเป็นนักวิจัย อยากเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย เพราะชอบอ่านหนังสือ ชอบ research เรื่องต่างๆที่สนใจ พอเข้ามาเรียนอักษรศาสตร์ จุฬาฯ มี project หลายอย่างที่ต้องคิดหัวข้อ พอได้ลองหาข้อมูลเอามานั่งเขียนแล้วรู้สึกชอบ เพราะชอบเขียน ชอบหาข้อมูลอยู่แล้ว 

และน้องขนม พชรพร อภิภัทรากร นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะศิลปศาสตร์ สาขาภาษาและวัฒนธรรมจีน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า โดยส่วนตัวจะยังไม่ระบุว่าอยากเป็นอะไรทันที เพราะยังค้นหาตัวตนอยู่ แต่ก็อยากเป็น Creative เพราะความชอบและในงานสามารถคิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาด้วย แต่ในขณะเดียวกัน creative ก็สามารถที่จะสื่อสารกับผู้คนผ่านงานของเราด้วย  รวมถึงติดต่อกับลูกค้า เนื่องจากเป็นคน Ambivert (เป็นบุคลิกของคนที่เป็นส่วนผสมระหว่างคนแบบ Introvert และ Extrovert ที่กำลังมีมากขึ้นในสังคม) ที่สามารถสื่อสารกับผู้คนได้ แต่ก็มีโลกส่วนตัวอยู่เหมือนกัน

ดังนั้น ทักษะใหม่ที่คนทำงานต้องมีในอนาคต ได้แก่...
1. Hard skill ทักษะความสามารถด้านอาชีพ หรือความชำนาญในการทำงานด้านนั้นๆ เช่น ความรู้ด้าน IT  ทักษะด้านภาษา การวิเคราะห์ข้อมูล 
2. Soft skill ทักษะด้านสังคมในการอยู่ร่วมกับคนอื่น ได้แก่ ทักษะการสื่อสาร การทำงานเป็นทีม การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน
3. Meta skill ความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง สร้างทัศนคติที่พร้อมจะเติบโตและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น การรู้จักหรือเข้าใจตนเอง ความคิดสร้างสรรค์ ความยืดหยุ่นทางความคิด

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทาง THE STATES TIMES ได้รวบรวมอาชีพที่น่าสนใจของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ยังมีอาชีพคนรุ่นใหม่ที่น่าสนใจอีกจำนวนมาก การเรียนรู้อย่างไม่หยุดนิ่งและปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี จะกลายเป็นคำขวัญสำคัญของคนรุ่นใหม่ที่จะช่วยให้พวกเขาเติบโตอย่างมั่นคงในโลกที่มีการ Disruption ตลอดเวลา

สุดท้ายนี้ THE STATES TIMES ฝาก Mindset ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนรุ่นใหม่ ได้แก่ growth mindset เชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง มีกรอบความคิดในการพัฒนาตัวเองและองค์กร กล้าเผชิญปัญหา เรียนรู้ และเติบโตไปกับองค์กร และ Outward Mindset เปลี่ยนมุมมอง ทำความเข้าใจผู้อื่น พร้อมหาวิธีแก้ปัญหา


เรื่อง: มณฑ์ภัสสร ประสิทธิสิน (แตน) Content editor

ที่มา : https://careers.scb.co.th/th/life-at-scb/detail/Career-Tips-10-career-digital-age/
https://www.scholarship.in.th/9-surveys-career-in-usa/
https://th.jobsdb.com/th-th/articles/ai-engineer/
https://www.advancedis.co.th/en/blog/หางาน-full-stack-developer-เงินเดือนสตาร์ทเท่าไหร่ 
https://thanyavuth.medium.com/data-scientist-%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3-%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9