ส่องสถานการณ์เปิดตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในเมียนมา เมื่อบิ๊กจีนเทียบท่าใต้พลังงานไฟฟ้าที่ทรงๆ ทรุดๆ

เมื่อไม่กี่วันก่อนมีรายงานข่าวที่น่าสนใจว่าบริษัท Hozon Auto บริษัทรถยนต์สัญชาติจีนที่จัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยภายใต้แบรนด์ NETA ได้ทำ MOU กับบริษัท Grand Sirius Co., Ltd. ในการที่จะเปิดตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นทางการในเมียนมา

เรื่องนี้มีประเด็นให้เล่าพอควร แต่ก่อนที่จะมาพูดถึงเรื่องของรถไฟฟ้า เรามารู้จักบริษัททั้งสองบริษัทนี้กันก่อน ว่ามีความเป็นมาอย่างไร?

เริ่มที่บริษัท Grand Sirius จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทเมียนมาที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทสสิงคโปร์ โดยกลุ่มบริษัทนี้มี 4 ธุรกิจใหญ่ในเมียนมาได้แก่ บริษัท Ceramic Pro Myanmar เป็นบริษัทสีเซรามิกเคลือบสำหรับรถยนต์ การบินและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสีเคลือบแก้ว   

บริษัทต่อมาคือ V-Kool Myanmar เป็นบริษัทตัวแทนจำหน่ายฟิล์มยี่ห้อ V-Kool ในเมียนมานั่นเอง

ถัดมาคือ บริษัท Moe Zac Auto ซึ่งเป็นบริษัทนำเข้ารถมือสอง  

และสุดท้ายเป็นดีลเลอร์ของ Hyundai ในย่างกุ้งและมัณฑะเลย์  

ส่วน Hozon Auto ก่อตั้งขึ้นในปี 2014 ในจังหวัดเจ้อเจียง ก่อตั้งโดย Beijing Sinohytec และ Zhejiang Yangtze Delta Region Institute of Tsinghua University และตั้งอยู่ในเมืองเจียซิง โดย Hozon Auto มุ่งเน้นในการคิดค้นและวิจัยยานยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ ซึ่งต่างจากบริษัทอื่น ๆ ที่มีการคิดค้นพัฒนายานยนต์ที่ใช้น้ำมันและพลังงานทางเลือกควบคู่กันไป  

แน่นอนว่า นี่ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ หาก Hozon Auto นั้นเลือกที่จะเข้ามาเปิดตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในไทย เพราะต้องยอมรับว่า ไทยเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้าสูง อีกทั้งการจับมือเป็นพันธมิตรระหว่าง Hozon กับ ปตท. ที่เป็นบริษัทพลังงานเต็มรูปแบบ ก็ทำให้ Hozon มีแต้มต่อเมื่อเข้ามาเจาะตลาดในไทย ยิ่งราคาเปิดตัวในไทยอยู่ที่ประมาณครึ่งล้าน ถูกกว่ารถใช้น้ำมันบางรุ่น ก็ยิ่งทำให้ NETA เป็นอีกแบรนด์หนึ่งที่น่าจับตามองสำหรับชนชั้นกลางที่มีชีวิตในเมือง 

แต่กลับกันสำหรับในเมียนมา ที่มีปัญหาเรื่องการซัพพลายพลังงานไฟฟ้าในการใช้ชีวิตที่ไม่เพียงพออยู่แล้วนั้น ถือว่าเป็นความเสี่ยงอย่างมากสำหรับคนที่ต้องการที่จะมีรถยนต์ไฟฟ้าสักคัน อีกทั้งที่จอดรถที่ต้องจำเพาะเจาะจงเพราะจะต้องมีการทำหัวชาร์จตรงที่จอดรถ ก็ยิ่งเป็นอุปสรรคกับชนชั้นกลางในเมียนมาที่อาศัยอยู่ในเมืองที่ส่วนใหญ่เป็นตึกอพาร์ทเมนต์ด้วย

อย่างไรซะ การเซ็นข้อตกลงครั้งนี้ ก็ถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับวงการยานยนต์ในเมียนมา หากแต่กลุ่มบริษัท Grand Sirius ที่แสนยิ่งใหญ่และมีความชำนาญในการทำธุรกิจยานยนต์เพียงใด แต่ด้วยข้อจำกัดทางพลังงานในประเทศเมียนมา อาจจะเป็นจุดที่ทำให้ NETA เจริญเติบโตในเมียนมาด้วยความยากลำบาก เว้นแต่ว่าจะผ่านวิกฤตนี้ไปได้ NETA ก็อาจจะเป็นทางเลือกใหม่ของคนเมียนมาได้เลย 

วัดกันที่พลัง เวลา กันแบบอึด ๆ เหมือนดังที่ Great Wall Motor (GWM) ตัดสินใจที่จะขยายตลาดรถในเมียนมา จนติดตลาดและเป็นที่นิยมของคนเมียนมาในทุกวันนี้

เรื่อง: AYA IRRAWADEE