11 ตุลาคม พ.ศ.2540 ประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 ฉบับที่ได้ชื่อว่าเป็น 'รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน'

วันนี้ เมื่อ 25 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน"

สำหรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เป็นกฎหมายสูงสุดว่าด้วยการจัดระเบียบการปกครองประเทศไทยที่เป็นลายลักษณ์อักษร ฉบับที่ 16 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2540 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" เนื่องจากเป็นฉบับแรกที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างมากที่สุดและมีการเปิดรับฟังความเห็นของประชาชนทั่วประเทศ 

ปัจจุบันรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้สิ้นสุดลงแล้ว ด้วยการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้ออกประกาศ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2549 ทั้งนี้คณะปฏิรูปฯได้ออกประกาศคงบทบัญญัติบางหมวดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2549 ไว้ภายหลัง

รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 นี้ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่ริเริ่มขึ้นโดยพรรคชาติไทย นายบรรหาร ศิลปอาชานายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองเข้ามาดำเนินการและได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา และมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 99 คน โดย 76 คนเป็นตัวแทนของแต่ละจังหวัด และอีก 23 คนมาจากผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์ ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งฉบับเดียวของประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้ 15 ฉบับมาจากคณะรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้งหรือรัฐบาลทหาร รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวถูกเรียกว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” เนื่องจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่าง