'เสี่ยงลุย' ไม่คุ้มเสีย!! ระวัง!! ขับรถเปิดแอร์ฝ่าน้ำท่วม รถยุโรป ตุย!! รถญี่ปุ่นผ่านฉลุย

เมื่อเข้าฤดูฝนอย่างนี้คนมีรถยนต์อย่างเรา มันจี๊ดที่ใจมากเวลาขับรถฝ่าน้ำท่วม คนกรุงทราบดีว่าถ้าไม่ขับฝ่าน้ำท่วมกลับบ้าน ตี 5 ก็คงไม่ถึงบ้านถ้ายังรอให้น้ำลดอยู่ แต่คุณรู้ไหมครับเราควรจะขับรถยนต์ฝ่าน้ำยังไงให้ยังรอด? 

(คำถาม : คุณคิดว่าทำไมรถยุโรปถึงกลัวน้ำมากกว่ารถญี่ปุ่น?)

หากจะเล่าถึงทริกเล็กๆ ในการขับรถฝ่าน้ำท่วม สิ่งสำคัญคือห้ามขับรถเร็ว เพราะการที่คุณขับรถเร็วจะทำให้รถนั้นเสียการทรงตัว เบรกจะลื่นขึ้นกว่าปกติทำให้ควบคุมรถได้ยาก

ปิดแอร์แล้วเปิดกระจกเล็กน้อยเพื่อให้อากาศถ่ายเท ทำไมต้องปิดแอร์ เป็นเพราะว่าเมื่อเราเปิดแอร์ ใบพัดแอร์จะทำงานอาจทำให้ใบพัดหมุนน้ำกระจายไปยังจุดต่างๆ ของห้องเครื่อง อาจจะทำให้ใบพัดแอร์หักได้รับความเสียหาย

ห้ามสตาร์ตเครื่องยนต์ที่ดับขณะฝ่าน้ำ หากคุณพยายามสตาร์ต 1-2 ครั้งแล้วรถยังไม่ติด ห้ามฝืนสตาร์ตต่อไปเรื่อยๆ เพราะน้ำจะเข้าระบบเครื่องยนต์ เสียหายหนักไปอีกไม่คุ้มแน่นอน สาเหตุที่เครื่องดับอาจเกิดจาก หัวเทียนเปียกน้ำ น้ำเข้ากรองอากาศดูดเข้าเครื่องยนต์ ซึ่งรถยุโรปมักวางกรองอากาศไว้ต่ำใกล้ซุ้มล้อ มีโอกาสเสี่ยงมากกว่ารถญี่ปุ่น

หลังลุยน้ำท่วมให้จอดสตาร์ตทิ้งไว้สักพัก ข้อดีของการทำแบบนี้ คือการให้ไอเสียไล่น้ำที่อาจตกค้างอยู่ แล้วให้คุณเดินสำรวจรถว่ามีหลอดไฟดับไหม แผ่นป้ายทะเบียนหลุดหรือเปล่า สำรวจพรมภายในรถ หากมีน้ำซึมเข้ามา ให้ผึ่งรถให้แห้ง

หากมีคำถามว่าน้ำต้องท่วมระดับไหนถึงไม่ควรขับฝ่า เพราะบางทีมันก็จำเป็นต้องขับฝ่าจริงๆ กรมการขนส่งก็ได้ออกมาให้ความรู้ผ่านเพจ 'ขับขี่ปลอดภัย by DLT' ไว้ว่า..

• ระดับน้ำ 5-10 ซม. ขับผ่านได้ทุกคัน แต่ยังต้องมีสติ ระมัดระวัง ไม่ควรใช้ความเร็วสูง อาจทำให้สูญเสียการควบคุมได้ เพราะถนนลื่น

• ระดับน้ำ 10-20 ซม. รถทุกประเภทยังขับผ่านไปได้ รถขนาดเล็กอาจได้ยินเสียงน้ำใต้ท้องรถ ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะยังมีโอกาสที่น้ำจะเข้าไปในตัวรถ

• รถอีโคคาร์ต้องระวัง ระดับน้ำ 20-40 ซม. เพราะส่วนใหญ่ถูกออกแบบให้มีความสูงจากระดับพื้น 15-17 ซม. อาจทำให้เกิดปัญหาท่อไอเสียจม แต่ยังสามารถขับลุยน้ำผ่านได้ ส่วนรถกระบะยังผ่านไปได้

• ระดับน้ำ 40-60 ซม. รถเก๋ง รถขนาดเล็กต้องเลี่ยง รถกระบะยังฝ่าไปได้ ปิดแอร์ขณะขับ ป้องกันพัดลมแอร์หน้ารถดูดละอองน้ำเข้าไปในเครื่องยนต์ จะทำให้เครื่องยนต์ดับ ขับขี่ให้ช้าลง ลดการเกิดคลื่นน้ำซัดเข้าหารถ จากรถคันอื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงที่น้ำจะกระจายเข้าสู่ห้องเครื่องยนต์

• ระดับน้ำ 60-80 ซม. อันตรายต่อรถทุกคัน ไม่ควรขับลุย เพราะน้ำอาจไหลเข้าห้องเครื่องยนต์ ทำให้เครื่องยนต์ดับ หยุดชะงัก ก่อให้เกิดความเสียหายในระบบต่างๆ ได้ ซึ่งการขับลุยน้ำท่วมระดับนี้ต้องใช้ความชำนาญเป็นพิเศษ ที่สำคัญอย่าปะทะคลื่นโดยตรง เพื่อหลีกเลี่ยงเครื่องดับกลางอากาศ

• ระดับน้ำสูงเกินกว่า 80 ซม. ควรใช้เส้นทางอื่น

มาถึงคำตอบที่ผมได้ถามไปช่วงแรกว่าทำไมรถยุโรปถึงกลัวน้ำมากกว่ารถญี่ปุ่น? เป็นเพราะรถยุโรปมีเทคโนโลยีที่ซับซ้อนกว่า ยิ่งเป็นรถยุโรปรุ่นใหม่มักจะชอบติดตั้งระบบเทอร์โบมาให้ และจำเป็นต้องมีอินเตอร์คูลเลอร์ที่จะช่วยลดความร้อนของอากาศ ก่อนส่งไปยังห้องเผาไหม้ ซึ่งระบบนี้จะถูกติดตั้งด้านหลังของกันชนหน้าส่วนล่าง ทำให้มีโอกาสปะทะกับน้ำได้ง่าย

หากรถยนต์ใช้งานมาระยะหนึ่ง อินเตอร์คูลเลอร์อาจเกิดการแข็งหรือเสื่อมสภาพ ทำให้มีน้ำเข้าไปยังห้องเผาไหม้ได้ง่าย เป็นผลทำให้รถยุโรปชอบดับอยู่กลางน้ำนั่นเอง 

หากท่านไหนที่มีรถยุโรปคันเดียวที่บ้าน ขอให้ศึกษาสภาพอากาศดีๆ วันไหนที่ฝนตกหนัก ให้จอดรถทิ้งไว้ที่บ้าน แล้วหันมาใช้รถสาธารณะแทน หรือตรวจสอบเส้นทางที่คิดว่าน้ำไม่ท่วมแน่ๆ เพราะจะได้ไม่ต้องเสียค่าซ่อมที่แสนแพงหูฉีก 


ที่มา: https://today.line.me/th/v2/article/eLGOXal
https://www.facebook.com/safedrivedlt/photos/a.1416081775143094/5475370795880818/?_rdc=1&_rdr
จส. 100 (js100.com)