ตัวอย่างของคนสร้างป่า!! ‘สามี-ภรรยาชาวบราซิล’ เสกผืนป่าจากทุ่งทะเลทราย สรรค์สร้างธรรมชาติขึ้นใหม่บนพื้นที่กว่า ๓,๗๕๐ ไร่

ช่วงต้นทศวรรษ 2000 Sebastião Salgado ช่างภาพชื่อดังชาวบราซิล และ Lélia Wanick Salgado ภรรยาของเขาตัดสินใจพัฒนาระบบนิเวศในพื้นที่ทะเลทรายขนาด ๖๐๐ เฮกตาร์ขึ้น (ราว ๓,๗๕๐ ไร่) ขึ้นมาใหม่ใน Aimorés โดยพวกเขาได้ปลูกต้นกล้าพืชพรรณชนิดต่าง ๆ กว่า ๒ ล้านต้น โดยคนงานกับอาสาสมัครเป็นเวลา ๑๘ ปี แล้วพวกเขาก็ได้รับผลลัพธ์ที่น่าทึ่ง! พวกเขาสามารถสร้างป่าใหม่ขึ้น และตอนนี้พื้นที่ป่านี้ มีพืช ๒๙๓ สายพันธุ์ นกอีก ๑๗๒ สายพันธุ์ และสัตว์ต่าง ๆ อีก ๓๓ สายพันธุ์ ซึ่งบางสายพันธุ์กำลังใกล้ที่จะสูญพันธุ์แล้ว

Sebastião Ribeiro Salgado Júnior เป็นช่างภาพสารคดีทางสังคมและช่างภาพชาวบราซิล เกิดเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1944 ในเมืองไอโมเรส รัฐมีนัสเชไรส์ ประเทศบราซิล หลังจากการเดินทางท่องเที่ยวในวัยเด็ก Salgado ได้รับการศึกษาเพื่อเป็นนักเศรษฐศาสตร์ โดยได้รับปริญญาตรีจาก UFES ปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยเซาเปาโลในบราซิล และปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยปารีส

เขาเริ่มทำงานเป็นนักเศรษฐศาสตร์ขององค์การกาแฟนานาชาติ (หน่วยงานภายใต้สหประชาชาติ (UN)) ซึ่งจะต้องเดินทางไปทวีปแอฟริกาเพื่อปฏิบัติภารกิจ ในการเดินทางไปทวีปแอฟริกาเป็นครั้งแรกที่เขาเริ่มถ่ายภาพอย่างจริงจัง ที่สุดแล้วในปี ค.ศ. 1973 เขาก็เลือกที่จะทิ้งอาชีพนักเศรษฐศาสตร์แล้วเปลี่ยนมาทำงานด้านการถ่ายภาพ  โดยเริ่มจากงานที่ได้รับมอบหมายด้านภาพสำหรับข่าวก่อนที่จะหันไปทำงานประเภทภาพสำหรับสารคดีมากขึ้น ในตอนแรก Salgado ทำงานร่วมกับบริษัทถ่ายภาพ Sygma และ Gamma ในปารีส แต่ในปี ค.ศ. 1979 เขาได้เข้าร่วมกับ Magnum Photos ซึ่งเป็นความร่วมมือระดับนานาชาติของช่างภาพ แล้วเขาก็ลาออกจาก Magnum ในปี ค.ศ. 1994 เพื่อร่วมกับภรรยาของเขา Lélia Wanick Salgado ก่อตั้งบริษัท Amazonas Images ขึ้นในกรุงปารีส เพื่อเป็นบริษัทตัวแทนของเขา เขามีชื่อเสียงในด้านการถ่ายภาพสารคดีทางสังคม โดยเฉพาะภาพชีวิตของคนงานในประเทศกำลังพัฒนา

เขาได้เดินทางไปในกว่า ๑๒๐ ประเทศสำหรับโครงการถ่ายภาพของเขา สิ่งเหล่านี้ส่วนใหญ่ปรากฏในสื่อสิ่งพิมพ์และหนังสือหลายเล่ม นิทรรศการการท่องเที่ยวผลงานของเขาได้รับการตีพิมพ์นำเสนอไปทั่วโลก นอกจากนั้นแล้ว Salgado ได้รับรางวัล W. Eugene Smith Memorial Fund Grant ในปี ค.ศ. 1982 เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ชาวต่างประเทศของ American Academy of Arts and Sciences ในปี ค.ศ. 1992 และเหรียญ Centenary Medal and Honorary Fellowship ของ Royal Photographic Society (HonFRPS) ในปี ค.ศ. 1993 เขาเป็นสมาชิกของ Académie des Beaux-Arts ที่ Institut de France ตั้งแต่เดือนเมษายน ค.ศ. 2016

Salgado ทำงานในโครงการระยะยาวที่ตัวเขาริเริ่ม ซึ่งหลายโครงการได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสืออาทิ : The Other Americas, Sahel, Workers, Migrations และ Genesis เป็นหนังสือที่รวบรวมรูปภาพหลายร้อยรูปจากทั่วทุกมุมโลก ภาพที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขาคือ เหมืองทองคำในบราซิลที่เรียกว่า Serra Pelada เขายังเป็นทูตสันถวไมตรีของยูนิเซฟตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001 ด้วย 

ระหว่างปี ค.ศ. 2006 ถึง ค.ศ. 2011 Salgado ทำงานโดยมุ่งเป้าไปที่การนำเสนอภาพที่ปราศจากตำหนิของธรรมชาติและมนุษยชาติ ประกอบด้วยชุดภาพถ่ายทิวทัศน์และสัตว์ป่า ตลอดจนชุมชนมนุษย์ที่ยังคงดำเนินชีวิตตามประเพณีและวัฒนธรรมตามวิถีของบรรพบุรุษ งานนี้ถูกมองว่าเป็นเส้นทางที่มีศักยภาพในการค้นพบตัวเองตามธรรมชาติของมนุษยชาติ

ในเดือนกันยายนและตุลาคม ค.ศ. 2007 Salgado ได้แสดงรูปถ่ายของคนที่เกี่ยวกับกาแฟจาก อินเดีย กัวเตมาลา เอธิโอเปีย และบราซิล ณ สถานทูตบราซิลในกรุงลอนดอน จุดมุ่งหมายของโครงการคือเพื่อสร้างความตระหนักรู้ของสาธารณชนเกี่ยวกับต้นกำเนิดของกาแฟเครื่องดื่มยอดนิยมของโลก

ส่วนภรรยาของเขา Lélia Wanick Salgado (เกิดปี ค.ศ. 1947) ที่ Vitória, Espírito Santo ประเทศบราซิล เป็นนักเขียน ผู้สร้างภาพยนตร์ และนักสิ่งแวดล้อมชาวบราซิล เธอเริ่มต้นชีวิตการทำงานเมื่ออายุเพียง ๑๗ ปี เมื่อเธอเริ่มจากเป็นคุณครูสอนเปียโน และคุณครูโรงเรียนประถม เธอจบปริญญาด้านสถาปัตยกรรมจาก Ecole National Supérieure de Beaux Arts and Urbanism ที่ Paris VII University เธอเป็นผู้อำนวยการสำนักข่าวภาพ Amazonas Images ที่เธอก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2004 ร่วมกับ Sebastião Salgado ผู้เป็นสามี

เธอพบกับ Sebastião Salgado ในปี ค.ศ. 1964 และแต่งงานกันในปี ค.ศ. 1967 ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองในบราซิลและการต่อต้านที่พวกเขาแสดงออก ทำให้พวกเขาต้องอพยพออกจากบราซิลและย้ายไปฝรั่งเศส อาชีพของเธอรวมถึงการดูแลจัดการภาพถ่ายของ Sebastião Salgado การก่อตั้งนิตยสาร Photo Revue และ Longue Vue การจัดการแกลเลอรี่ภาพถ่าย Magnum Agency และการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมในการถ่ายภาพ เพื่อให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้างด้วยการผลิตสารคดีเรื่อง The Salt of the Earth ซึ่งทำให้เธอได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ในปี ค.ศ. 2015 สาขาสารคดียอดเยี่ยม และได้รับรางวัล Audience Award 2014 จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติซานเซบาสเตียน และรางวัลขวัญใจผู้ชม ปี ค.ศ. 2015 จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติทรอมโซ นอกจากนี้ยังได้รับรางวัล César Award สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมจากงาน César Awards ครั้งที่ 40 ด้วย

ในปี ค.ศ. 1998 Salgado และสามีของเธอได้ก่อตั้ง Instituto Terra ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูหุบเขา Rio Doce Instituto Terra นอกจากส่งเสริมการปลูกป่าแล้ว ยังส่งเสริมการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และการพัฒนาที่ยั่งยืน

การปลูกป่า Fazenda Bulcão หรือฟาร์ม Bulcão โดย Instituto Terra ซึ่ง Lélia และ Sebastião ร่วมกันทำงานตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ด้วยการฟื้นฟูส่วนหนึ่งของป่าแอตแลนติกในบราซิล ในปี ค.ศ. 1998 พวกเขาประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนพื้นที่ 17,000 เอเคอร์ให้กลายเป็นเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ และสร้าง Instituto Terra อันเป็นสถาบันที่ทุ่มเทให้กับภารกิจการปลูกป่า การอนุรักษ์ และการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันถือเป็นพื้นที่ต้นแบบอันเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

ในอดีตประเทศไทยมีการลักลอบตัดไม้แล้วสวมสิทธิไม้ที่ตัดจากป่าสัมปทาน 
เรียกว่า ‘การสวมตอ’ ทำให้พื้นที่ป่าไม้ของไทยเหลือน้อยลงเป็นอันมาก

ในอดีตประเทศไทยของเราก็มีการตัดไม้ทำลายป่ามากมาย ทั้งที่ถูกต้องโดยการได้รับสัมปทานจากกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าอีกมหาศาล แล้วสวมสิทธิไม้ที่ตัดจากป่าสัมปทาน เรียกว่า ‘การสวมตอ’ ทำให้พื้นที่ป่าไม้ของไทยเหลือน้อยลงเป็นอันมาก 

พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ประกาศปิดป่า 
ยกเลิกสัมปทานการทำไม้ในประเทศทั้งหมด จนได้ฉายาว่า ‘รัฐมนตรีป่าลั่น’

จนกระทั่งใน ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้น ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรี ซึ่งมีนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศปิดป่า ยกเลิกสัมปทานการทำไม้ในประเทศทั้งหมด จนได้ฉายาว่า ‘รัฐมนตรีป่าลั่น’ ตั้งแต่นั้นมาจนปัจจุบันไม่มีสัมปทานตัดไม้อย่างถูกต้องเกิดขึ้นอีกเลย ทำให้ประเทศไทยได้พื้นที่ป่าและป่าที่ได้รับการฟื้นฟูกลับคืนมาอย่างมากมาย


👍 ติดตามผลงาน อาจารย์โญธิน มานะบุญ เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.โญธิน%20มานะบุญ