วิทยุทรานซิสเตอร์ ‘อุปกรณ์เอาตัวรอดยามภัยพิบัติ’ ไม่ใช่เรื่องล้าสมัย เพราะหลายประเทศพัฒนาก็ใช้กัน

‘ทรานซิสเตอร์’ วิทยุพื้นฐาน ที่หลายชาติยังจัดเป็น ‘อุปกรณ์เอาตัวรอดยามภัยพิบัติ’ แม้จะเข้าสู่ยุคดิจิทัลแล้วก็ตาม

แม้ ‘วิทยุทรานซิสเตอร์’ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แนะนำ จนนำมาสู่มุมมองหลายคนว่า ‘ตกยุค’ ไปแล้ว เหตุเพราะสมัยนี้การสื่อสารทุกอย่างใช้อินเทอร์เน็ตกันหมด แถมโทรศัพท์มือถือก็กลายเป็นปัจจัยที่ 5 ของใช้ธรรมดาสามัญไปเรียบร้อย จึงเข้าใจได้ว่าหลายคนอาจนึกไม่ออกว่าวิทยุทรานซิสเตอร์มีประโยชน์กับภัยพิบัติอย่างไร 

แต่อีกด้านหนึ่ง เชื่อหรือไม่ว่า ประเทศที่เจริญแล้วหลายชาติ ก็ยังแนะนำให้ประชาชนเตรียมวิทยุแบบนี้ซึ่งใช้แบตเตอรี่พื้นฐาน (แบบที่เราเรียกว่า “ถ่านไฟฉาย”) สำรองไว้ในแผนเผชิญภัยพิบัติด้วย

>> สหรัฐอเมริกา เว็บไซต์ ready.gov ซึ่งอยู่ในความดูแลของ กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ เว็บนี้ให้ความรู้กับชาวอเมริกันเรื่องการรับมือภัยพิบัตินานาประเภท โดยในหมวด “Build A Kit” หรือการเตรียมเครื่องมือเอาชีวิตรอด จะพบว่า “Battery-powered or hand crank radio and a NOAA Weather Radio with tone alert” หรือ วิทยุมือหมุนที่ใช้พลังงานแบตเตอรี่ และวิทยุที่มีระบบรับคลื่นสัญญาณของ องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) ซึ่งทำหน้าที่พยากรณ์อากาศในสหรัฐฯ (แบบเดียวกับกรมอุตุนิยมวิทยาของไทย) ซึ่งเจ้า Battery-powered or hand crank radio ก็คือ “วิทยุทรานซิสเตอร์” ที่คนไทยรุ่นก่อนคุ้นเคยกันดี แถมคำแนะนำของทางการสหรัฐฯ ยังจัดให้อยู่ในหมวด “Basic Disaster Supplies Kit” หรือสิ่งของพื้นฐานที่ควรมีอีกต่างหาก

>> ประเทศอังกฤษ เว็บไซต์ redcross.org.uk ของสภากาชาดแห่งสหราชอาณาจักร (British Red Cross) เลือกหมวด “Get Help” จากนั้นไปที่หัวข้อ “how to prepare for emergencies.” และหัวข้อ “How to make an emergency kit” ซึ่งจะพบว่า หนึ่งในอุปกรณ์ที่กาชาดเมืองผู้ดีแนะนำให้ประชาชนเตรียมไว้เผื่อเหตุฉุกเฉินคือ “Battery-operated radio and spare batteries, or a wind-up radio.” ก็คือวิทยุทรานซิสเตอร์ โดยมีทั้งแบบใส่แบตเตอรี่และแบบมือหมุน

>> ประเทศออสเตรเลีย เว็บไซต์ infrastructure.gov.au ของกระทรวงโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง การพัฒนาระดับภูมิภาค การสื่อสารและศิลปะ เผยแพร่บทความ ‘How travellers can prepare for emergencies or natural disasters’ แนะนำให้คนที่เดินทางท่องเที่ยวเตรียมอุปกรณ์จำเป็นเผื่อต้องเผชิญกับเหตุฉุกเฉินซึ่งรวมถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยหนึ่งในนั้นคือ ‘Pack a portable battery powered AM radio and a spare set of batteries. หรือก็คือ ‘วิทยุรับคลื่น AM แบบพกพาพร้อมแบตเตอรี่สำรอง’ ก็หมายถึงวิทยุทรานซิสเตอร์ แถมภาครัฐแดนจิงโจ้ยังเน้นคำว่า ‘AM radio’ อีกต่างหาก (ซึ่งก็เป็นเพราะในระบบวิทยุดั้งเดิม-อนาล็อก มี 2 ระบบ คือ AM กับ FM โดย AM เป็นคลื่นความถี่ที่ส่งไปได้ไกลกว่าเคลื่อน FM แม้คุณภาพเสียงจะด้อยกว่าคลื่น FM ก็ตามนั่นเอง โดยบทความ ‘เครื่องรับวิทยุ AM FM ดิจิทัล’ จาก บริษัท ไลท์ แอนด์ ซาวด์ บิสิเนส จำกัด ผู้รับจำหน่ายและติดตั้งอุปกรณ์ระบบแสง-สี-เสียง ระบุว่า การใช้งานคลื่นเอฟเอ็มจะใช้กับการส่งวิทยุกระจายเสียงและเครื่องรับส่งวิทยุสื่อสาร ซึ่งการส่งวิทยุระบบ FM จะให้คุณภาพเสียงดีกว่าระบบ AM กล่าวคือ ย่านความถี่ที่ใช้ในการส่งจะเป็นอิสระกับชั้นบรรยากาศและการสอดแทรกของสัญญาณรบกวน คลื่นในย่านความถี่นี้ไม่สามารถสะท้อนกับชั้นบรรยากาศได้ทำให้ระยะทางในการส่งจะใกล้กว่าระบบ AM เพราะย่านความถี่ AM สามารถจะหักเหในชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์ทำให้คลื่นเดินทางได้ไกลกว่า)

>> ชาติเอเชียที่ภัยพิบัติเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนอย่าง ประเทศญี่ปุ่น ก็ยังมีคำแนะนำให้พลเมืองชาวอาทิตย์อุทัย เตรียม “วิทยุแบบพกพา (Portable Radio)” ไว้เผื่อมีเหตุฉุกเฉิน อาทิ The Japan Times หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับเก่าแก่ในญี่ปุ่น เผยแพร่บทความ “JAPAN EARTHQUAKE TIPS: WHAT TO DO BEFORE, DURING AND AFTER” อ้างอิงข้อมูลจาก The Tokyo Metropolitan Government หรือสำนักงานบริหารท้องถิ่นกรุงโตเกียว (เหมือนกับ กทม. ของไทย) ให้คำแนะนำเรื่องการเตรียมพร้อมหากเกิดแผ่นดินไหว (ซึ่งเป็นภัยพิบัติที่ญี่ปุ่นมักเจอเป็นประจำ) โดยให้วิทยุแบบพกพา อยู่ในหมวด “Before a quake” หรือการเตรียมพร้อมก่อนเกิดเหตุ ในฐานะอุปกรณ์พื้นฐานชิ้นหนึ่งที่ควรมีไว้พร้อมรับเหตุฉุกเฉิน

ก็เข้าใจแหละว่า ในยุคที่เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าไปมาก เครื่องมือเครื่องใช้หลายอย่างอาจถูกลืมไป ดังเช่นในยุคที่มีไฟฟ้าใช้กันเป็นปกติ ตะเกียงและเทียนไข ก็อาจจะไม่ได้อยู่ในความรับรู้ของผู้คน หรือในยุคที่ GPS เป็นอุปกรณ์ธรรมดาสามัญ สามารถใช้งานได้ในมือถือสมาร์ทโฟนแทบทุกรุ่น หลายคนก็อาจจะลืมไปแล้วหรือแม้แต่ไม่เคยเห็นว่า คนในยุคก่อนหน้านั้น ใช้แผนที่และเข็มทิศในการเดินทางอย่างไร ซึ่งกรณีดรามานายกฯ ประยุทธ์ กับวิทยุทรานซิสเตอร์ ก็เช่นเดียวกัน

กระทั่งเมื่อเกิดภัยพิบัติใหญ่ ระบบสาธารณูปโภคสิ่งอำนวยความสะดวกในยามปกติล่มหมด (อย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยกตัวอย่างน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่ไฟฟ้าดับหมด จึงต้องใช้วิทยุทรานซิสเตอร์รับข่าวสาร) เมื่อนั้นผู้คนก็จะนึกถึงสิ่งของจำเป็นที่คนยุคเก่าเคยใช้เพื่อเอาชีวิตรอด แต่จะใช้เป็นหรือไม่ก็อีกเรื่องเพราะเป็นอุปกรณ์ฉุกเฉิน นานๆ จะได้ใช้สักครั้งหนึ่ง)!!!


อ้างอิง https://www.ready.gov/kit

https://www.weather.gov/lch/noaa

https://www.redcross.org.uk/get-help/prepare-for-emergencies/prepare-an-emergency-kit

https://www.infrastructure.gov.au/media-technology-communications/phone/communications-emergencies-natural-disasters/how-travellers-can-prepare-emergencies-natural-disasters

https://www.soundprogroup.com/

https://www.japantimes.co.jp/japan-disaster-information/earthquake-preparation/

ที่มา : https://www.naewna.com/local/684318