สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ ‘จักรวรรดิอิตาลี’ ขยายอำนาจเข้ายึดครอง ‘ลิเบีย’ ตำนานนักต่อสู้ ฉายา ‘สิงโตแห่งทะเลทราย’ จึงเกิด

เมื่อไม่นานมานี้ มีเพื่อนในเฟซบุ๊ก ‘ดร.โญ มีเรื่องเล่า’ ของผม ได้ส่งข้อความมาหาและขอให้ผมเล่าเรื่องราวของจักรวรรดิอิตาลี ยินดีครับ จัดให้เลย กลังจากค้นคว้าหาข้อมูล เรียบเรียง แล้วจึงส่งบทความที่น่าสนใจนี้มาเผยแพร่ใน THE STATES TIMES และสำหรับใครที่สนใจเรื่องอะไร อยากรู้เรื่องไหน สามารถเขียนบอกที่คอมเมนต์ได้เลยครับ

พฤติกรรมหรือนิสัยของฝรั่งโซนยุโรปอย่างหนึ่งที่มีมานานแล้วคือ ‘การล่าเมืองขึ้น’ หรือที่เรียกว่า ลัทธิจักรวรรดินิยม (Imperialism) เป็นการใช้พลังอำนาจ โดยเฉพาะกำลังทางทหารที่เหนือกว่าไม่ว่าด้วยจำนวนกำลังพลหรือเทคโนโลยีด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ในการเข้าบังคับยึดเอารัฐหรือดินแดนอื่นให้มาอยู่ภายใต้อาณัติ เพื่อกอบโกย (หรือปล้น) ทรัพยากรของรัฐหรือดินแดนนั้นๆ ทั้งทางตรง (ยึดแล้วขนกลับประเทศเลย) และทางอ้อม (ด้วยวิธีการเรียกเก็บภาษีอากรต่าง ๆ)

สาธารณรัฐอิตาลี เดิมคือ ราชอาณาจักรอิตาลี เป็นรัฐอธิปไตยบนคาบสมุทรอิตาลี ซึ่งได้มีการสถาปนาขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๐๔ (ค.ศ. 1861) จากการรวมตัวกันของรัฐอิตาลีหลายๆ รัฐ ภายใต้การนำของราชอาณาจักรซาร์ดิเนีย 

ต่อมาอิตาลีได้ประกาศสงครามต่อออสเตรียในปี พ.ศ. ๒๔๐๙ (ค.ศ. 1866) โดยมีปรัสเซีย (เยอรมนีในอดีต) เป็นพันธมิตรร่วม แม้ว่าอิตาลีจะทำการรบล้มเหลว แต่ชัยชนะของปรัสเซียก็ได้ทำให้อิตาลีได้สิทธิครอบครองเวนิส ต่อมาอิตาลีได้ยกทัพเข้ายึดกรุงโรมในปี พ.ศ. ๒๔๑๓ (ค.ศ. 1870) เป็นการปิดฉากอำนาจการปกครองทางโลกของสมเด็จพระสันตะปาปาที่ต่อเนื่องยาวนานมานับพันปี 

อิตาลีเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ ๑

ต่อมาอิตาลีได้ตอบรับข้อเสนอของ ออทโต้ ฟอน บิสมาร์ค ผู้นำปรัสเซียในการเข้าร่วมกลุ่มไตรพันธมิตรกับเยอรมนีและออสเตรียในปี พ.ศ. ๒๔๓๕ (ค.ศ. 1892) หลังจากที่อิตาลีเกิดความไม่พอใจในการขยายอาณานิคมของฝรั่งเศส อย่างไรก็ดี แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างอิตาลีกับเยอรมนีจะเป็นไปด้วยดียิ่ง แต่ความเป็นพันธมิตรกับออสเตรียกลับอยู่ในลักษณะเป็นทางการเท่านั้น 

ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ (ค.ศ. 1915) อิตาลีจึงได้ตอบรับคำเชิญของสหราชอาณาจักรในการเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ ๑ และชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรในมหาสงครามครั้งนั้นได้ทำให้อิตาลีก้าวขึ้นมาเป็นชาติมหาอำนาจ โดยมีที่นั่งถาวรอยู่ในสภาสันนิบาตชาติ และราชอาณาจักรอิตาลีดำรงคงอยู่จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. 1946) เมื่อประชาชนชาวอิตาลีได้มีการลงประชามติให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบราชอาณาจักรไปสู่ระบบสาธารณรัฐ

จักรวรรดิอาณานิคมของอิตาลีถูกสร้างขึ้นหลังจากอิตาลีเข้าไปมีส่วนร่วมกับมหาอำนาจยุโรปอื่น ๆ ในการแสวงหาอาณานิคมในต่างประเทศในยุคของ ‘การแย่งชิง/การล่าอาณานิคมในแอฟริกา’ ซึ่งจักรวรรดิอาณานิคมของอิตาลีถูกสร้างขึ้นช้ากว่าหรือยังคงเล็กเกินไปที่จะนำไปเปรียบเทียบกับการครอบครองโพ้นทะเลขนาดใหญ่ของมหาอำนาจยุโรปอื่น ๆ เช่น โปรตุเกส สเปน เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ และฝรั่งเศส ซึ่งต่างก็ได้สร้างจักรวรรดิขนาดใหญ่แล้วมาเป็นเวลาหลายร้อยปี และหนึ่งในพื้นที่สุดท้ายที่เหลืออยู่ที่เปิดให้ล่ารัฐหรือดินแดนมาเป็นอาณานิคมก็คือ ดินแดนในทวีปแอฟริกา 

ดังนั้นจักรวรรดิอิตาลีจึงกำเนิดก่อเกิดขึ้นเฉพาะในแอฟริกาตะวันออกและในลิเบีย ในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังการที่ประเทศเข้าสู่ลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism) ภายใต้การนำของ ‘เบนิโต มุสโสลินี (Benito Mussolini)’

เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ (ค.ศ. 1914) อิตาลีก็ได้ผนวกดินแดนของเอริเทรีย และ โซมาเลีย และพยายามเข้าควบคุมบางส่วนของจักรวรรดิออตโตมัน รวมทั้งลิเบีย แต่ต้องหยุดชะงักไปเมื่อพยายามเข้ายึดครองอะบิสซิเนีย (เอธิโอเปียในปัจจุบัน) รัฐบาลฟาสซิสต์ภายใต้การนำของ เบนิโต มุสโสลินี ผู้นำเผด็จการได้พยายามขยายเขตแดนของจักรวรรดิอิตาลีเพิ่มขึ้น ทั้งโดยการใช้กำลังและโดยการขู่ว่าจะใช้กำลัง และในที่สุดก็สามารถยึดครองอะบิสซิเนียได้ในสี่สิบปีให้หลังจากความพยายามในการเข้ายึดครองครั้งแรก

อาณานิคมของอิตาลีได้แก่
>> แอฟริกาเหนือของอิตาลี : อิตาเลียนลิเบีย
>> แอฟริกาตะวันออกของอิตาลี : อิตาเลียนเอริเทเรีย, อิตาเลียนโซมาลีแลนด์ และอิตาเลียนเอธิโอเปีย โดยมีพื้นที่ดินแดนอาณานิคมในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ (ค.ศ. 1938) กว้างขวางถึง ๓,๗๙๘,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร (๑,๔๖๖,๐๐๐ ตารางไมล์)

เบนิโต มุสโสลินี ผู้นำเผด็จการของอิตาลี ขณะตรวจเยี่ยมกองทหารอิตาลี

อย่างไรก็ตาม เมื่ออิตาลีเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะรบกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ ๒ และกองกำลังของฝ่ายสัมพันธมิตรก็สามารถยึดครองอาณานิคมโพ้นทะเลของอิตาลีได้ในที่สุด และอิตาลีเองก็ถูกกองกำลังของฝ่ายสัมพันธมิตรบุกในปี พ.ศ. ๒๕๘๖ (ค.ศ. 1943) จึงเป็นเหตุทำให้จักรวรรดิอิตาลีล้มหายสลายไป 

โดยที่ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องเลวร้ายทั้งหมดในการล่าอาณานิคมของจักรวรรดิอิตาลี ในขณะที่ความเชื่อมโยงที่ยั่งยืนยังคงดำเนินต่อไประหว่างอดีตเจ้าอาณานิคมและอดีตอาณานิคม อันกลายเป็นมรดกทางอาณานิคมที่เกิดขึ้นกับฝรั่งเศสและอังกฤษ แต่สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นระหว่างอิตาลีกับอดีตอาณานิคม บางทีในขณะที่บรรดาจักรวรรดิอื่น ๆ ถูกกระตุ้นด้วยเรื่องของผลประโยชน์ที่มาจากการกอบโกย (ปล้นเอา) ทรัพยากรจากบรรดาอาณานิคม แต่สำหรับจักรวรรดิอิตาลีแล้วแรงจูงใจในการล่าอาณานิคมมีเพียงเรื่องเดียวคือ ความปรารถนาในเกียรติยศและความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิอิตาลี

Omar Al Mukhtar ฉายา ‘สิงโตแห่งทะเลทราย’
(๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๙๖ (ค.ศ. 1853) - ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๔ (ค.ศ. 1931))

การขยายตัวของจักรวรรดิอิตาลี ทำให้เกิด นักสู้ ผู้นำของกลุ่มต่อต้านจักรวรรดิอิตาลีในลิเบีย ซึ่งกลายเป็นตำนานจนทุกวันนี้ นั่นก็คือ ‘Omar Al Mukhtar’ (๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๙๖ (ค.ศ. 1853) - ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๔ (ค.ศ. 1931)) Omar Al Mukhtar ผู้ซึ่งมีฉายาว่า ‘สิงโตแห่งทะเลทราย’ เป็นผู้นำกลุ่มต่อต้านการยึดครองลิเบีย โดยจักรวรรดิอิตาลี ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในหมู่ชาวอิตาเลียนนักล่าอาณานิคม เขาเป็นผู้นำขบวนการ Senussi ของชนพื้นเมืองใน Cyrenaica (ลิเบียตะวันออกในปัจจุบัน) ซึ่งต่อต้านการล่าอาณานิคมลิเบียของอิตาลี และได้รับการยกย่องว่าเป็น “วีรบุรุษแห่งชาติของลิเบีย” และเป็นสัญลักษณ์ในการต่อต้านจักรวรรดินิยมของโลกอาหรับและชาวมุสลิม

Omar Al Mukhtar และเหล่านักรบ Senussi ขบวนการต่อต้านการยึดครองลิเบีย โดยจักรวรรดิอิตาลี

Omar ต้องเปลี่ยนตัวเองจากครูสอนศาสนา จนกลายมาเป็นผู้นำขบวนการต่อต้านติดอาวุธต่อจักรวรรดิอิตาลี เขาเป็นบุคคลที่โดดเด่นในขบวนการ Senussi ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๔ (ค.ศ. 1911) เขาได้เริ่มการจัดตั้งกองกำลังและนำขบวนการต่อต้านการยึดครองลิเบียของจักรวรรดิอิตาลีเป็นเวลา เกือบยี่สิบปี ในช่วงสงคราม Italo-Senussi ครั้งแรกและครั้งที่สอง 

Omar Al Mukhtar ขณะเดินเข้าสู่ลานประหาร

หลังจากการต่อสู้ของ Omar มาเกือบยี่สิบปี  การต่อสู้ได้มาถึงจุดสิ้นสุดเมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 1931 เมื่อเขาได้รับบาดเจ็บในการต่อสู้ใกล้ Slonta และถูกกองทัพอิตาลีจับ วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๔ (ค.ศ. 1931) ตามคำสั่งของศาลอิตาลีและด้วยความหวังของจักรวรรดิอิตาลีว่า ขบวนการต่อต้านจักรวรรดิอิตาลีของชาวลิเบียจะล่มสลายไปกับเขา 

Omar ถูกประหารชีวิตเขาด้วยการแขวนคอพร้อมกับเหล่าคนสนิทของเขาในค่ายนักโทษ Suluq เมื่ออายุ ๗๓ ปี

รูปปั้นครึ่งตัวของ Omar Al Mukhtar ในกรุง Caracas ประเทศ Venezuela

Omar Al Mukhtar ได้ทิ้งคำกล่าวไว้ก่อนถูกประหารโดยทางการอิตาลี ความว่า “เราไม่เคยยอมแพ้ ไม่ว่าเราจะชนะหรือตาย นี่ยังไม่ใช่จุดจบ เพราะพวกเจ้าจะต้องต่อสู้กับคนรุ่นต่อ ๆ ไป ส่วนชีวิตของข้าฯ นั้นจะยาวนานยิ่งกว่าชีวิตของชายผู้ซึ่งจะทำหน้าที่ประหารชีวิตของข้าฯ”

Omar Al Mukhtar


👍 ติดตามผลงาน อาจารย์โญธิน มานะบุญ เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.โญธิน%20มานะบุญ