28 กันยายน พ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้ใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย

ครบรอบ 105 ปี 'วันพระราชทานธงชาติไทย' เนื่องในโอกาสพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย

ประเทศไทยใช้ธงสีแดงเป็นธงชาติมาตั้งแต่สมัยโบราณ แต่จะมีกำเนิดและใช้มาอย่างไรไม่มีใครทราบแน่นอน สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบันทึกไว้ที่เชิงอรรถแห่งหนึ่งของหนังสือ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 ว่า “ธงสำหรับชาติไทยที่ใช้ในเรือ แต่ก่อนจะใช้ธงอย่างไร ข้าพเจ้าได้ตรวจค้นในหนังสือที่ฝรั่งแต่งไม่พบ มาพบในหนังสือจดหมายเหตุทูตไทยที่ลังกาทวีป เมื่อคราวพระอุบาลีออกไปให้อุปสมบทแก่ชาวสิงหล ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมโกศ ว่าใช้ธงพื้นแดงสีเดียว จึงเห็นว่าจะใช้ธงสีแดงเป็นธงชาติมาแต่โบราณ”

พุทธศักราช 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงออกพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช 2460 มีใจความตอนหนึ่งว่า “ธงสำหรับชาติสยามซึ่งได้ประดิษฐานขึ้นตามพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช 2459 นั้น ยังไม่เป็นสง่างามพอสำหรับประเทศ สมควรจะเพิ่มสีน้ำเงินแก่เข้าอีกสีหนึ่ง ให้เป็นสามสี ตามลักษณะธงชาติของประเทศที่เป็นสัมพันธมิตรกับกรุงสยามได้ใช้อยู่โดยมากนั้น เพื่อให้เป็นเครื่องหมายให้ปรากฏว่า ประเทศสยามได้เข้าร่วมสุขทุกข์ แลเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับสัมพันธมิตรหมู่ใหญ่ ช่วยกันกระทำการปราบปรามความอาสัตย์อาธรรมในโลก ให้พินาศประลัยไป อีกประการหนึ่งสีน้ำเงินนี้เป็นสีอันเปนศิริแก่พระชนมวาร นับว่าเป็นสีเครื่องหมายเฉพาะพระองค์ด้วย จึงเป็นสีที่สมควรจะประกอบไว้ในธงสำหรับชาติด้วยประการทั้งปวง” โดยกำหนดดังนี้

ธงชาติสยาม หรือ ธงไตรรงค์ รูปสี่เหลี่ยมรี มีขนาดกว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน มีแถบสีน้ำเงินแก่ กว้าง 1 ส่วน ซึ่งแบ่ง 3 ของขนาดกว้างแห่งธงอยู่กลาง มีแถบขาว กว้าง 1 ส่วน ซึ่งแบ่ง 6 ของขนาดกว้างแห่งธงข้างละแถบ แล้วมีแถบสีแดงกว้างเท่าแถบขาวประกอบชั้นนอกอีกข้างละแถบ ธงสำหรับชาติสยามอย่างนี้ ให้เรียกว่าธงไตรรงค์ สำหรับใช้ชักในเรือพ่อค้าทั้งหลาย แล่นในที่ต่าง ๆ ของสาธารณชน บรรดาที่เป็นชาติสยามทั่วไป ส่วนธงพื้นแดง กลางมีรูปช้างปล่อย ซึ่งใช้เป็นธงชาติ สำหรับสาธารณชนชาวสยามมาแต่ก่อนนั้น ให้เลิกเสีย

ซึ่งได้มีการประกาศไว้ ณ วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2460