เช็กลิสต์ 15 ข้อ ประเมินภาวะหมดไฟจากการทำงาน พร้อมรู้ 'สาเหตุ-วิธีแก้ไข' ก่อน ‘ร่างกาย-จิตใจ’ ย่ำแย่

ปัจจุบันวัยรุ่นและวัยทำงานมีความตระหนักเรื่องสุขภาพทางร่างกายมากขึ้น สังเกตจากแนวทางการใช้ชีวิตและพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น การรับประทานอาหารคลีน การรับประทานอาหารเสริม การออกกำลังกายในฟิตเนส เป็นต้น แต่ในทางกลับกันปัญหาสุขภาพทางจิตใจกลับเป็นภัยเงียบที่ส่งผลคุกคามต่อคุณภาพชีวิตของวัยรุ่นและวัยทำงาน

ภาวะหมดไฟจากการทำงาน หรือ Burn Out เป็นภาวะของสภาพจิตใจและความรู้สึกเบื่อหน่ายการทำงานโดยไม่รู้สาเหตุ เหน็ดเหนื่อย อ่อนล้า ไม่อยากทำงานกับเพื่อนร่วมงาน รู้สึกว่างานล้นมือ ขาดแรงจูงใจในการทำงาน และเฝ้ารอถึงเวลาเลิกงานหรือวันหยุดเพื่อจะได้กลับบ้าน บางคนจะงีบหลับต่อหน้าผู้ร่วมงาน

นอกจากนี้อาจมีสัญญาณความผิดปกติทางร่างกายร่วมด้วย ได้แก่ อาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย รู้สึกเหนื่อยล้า หมดแรง อ่อนเพลีย ภูมิคุ้มกันต่ำลง นอนไม่หลับ อันเป็นสาเหตุให้เกิดอาการเจ็บป่วยอื่นๆ ตามมาได้ 

สำหรับสัญญาณความผิดปกติทางอารมณ์ ได้แก่ รู้สึกล้มเหลว สิ้นหวัง หงุดหงิดง่าย กังวลใจทุกครั้งที่ต้องไปทำงาน รู้สึกโดดเดี่ยว ขาดแรงบันดาลใจและแรงกระตุ้นในการทำงาน ขาดสมาธิและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เกิดทัศนคติเชิงลบต่องานและเพื่อนร่วมงาน รวมทั้งสัญญาณความผิดปกติทางพฤติกรรม เช่น การขาดความรับผิดชอบต่องาน เกี่ยงงาน การปลีกตัวออกจากสังคม รวมทั้งอาจมีการรับประทานอาหารมากขึ้น มีการใช้ยาหรือแอลกอฮอล์เพื่อปลอบประโลมตัวเองจากภาวะดังกล่าว

สาเหตุของภาวะหมดไฟจากการทำงาน
1.) ขาดอำนาจในการตัดสินใจในการทำงาน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของภาวะหมดไฟจากการทำงาน การไม่สามารถควบคุมงานที่รับผิดชอบได้ด้วยตนเอง เช่น ต้องรอการสั่งการ หรือต้องทำตามแนวทางที่ถูกกำหนดเท่านั้น
2.) เป้าหมายและขอบเขตในการทำงานไม่ชัดเจน
3.) ทำงานร่วมกับทีมงานหรือองค์กรที่ไม่มีประสิทธิภาพ
4.) งานหนักเกินไป
5.) ขาดการสนับสนุนจากหัวหน้า ผู้บังคับบัญชา หรือ องค์กร
6.) งานที่ทำไม่ได้รับการยอมรับ
7.) งานที่ทำเป็นงานลักษณะซ้ำๆ เหมือนเดิมในทุกวัน

แม้ว่าภาวะหมดไฟจากการทำงานจะไม่สามารถวินิจฉัยได้ด้วยเครื่องมือทางการแพทย์เหมือนโรคอื่นๆ แต่ก็สามารถประเมินได้เบื้องต้นด้วยการใช้แบบสอบถาม ‘Burnout Self-Test’ ที่พัฒนาขึ้นโดย Christina Maslach นักจิตวิทยาสังคมชาวอเมริกัน ซึ่งแบบสอบถามนี้มีคำถามทั้งหมด 15 ข้อ โดยแต่ละข้อมีคะแนนตั้งแต่ 1-5 คะแนน (1 คะแนน = ไม่มีเลย, 5 คะแนน = เกิดเป็นประจำ) เลือกให้คะแนนที่ตรงกับความรู้สึกมากที่สุด

แบบสอบถามการประเมินภาวะหมดไฟจากการทำงาน
1.) ฉันรู้สึกเหนื่อยล้า หมดพลัง ทั้งพลังทางกายและอารมณ์
2.) ฉันรู้สึกในทางลบกับงานในหน้าที่ที่ทำ
3.) ฉันรู้สึกเฉยเมยหรือเห็นอกเห็นใจกับผู้คนน้อยลงอย่างไม่สมเหตุผล
4.) ฉันรู้สึกหงุดหงิดกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ หรือหงุดหงิดกับเพื่อนร่วมงาน
5.) ฉันรู้สึกไม่เข้าใจผู้ร่วมงานหรือผู้ร่วมงานไม่ชื่นชอบ
6.) ฉันรู้สึกเหมือนไม่มีใครที่จะพูดคุยด้วย
7.) ฉันรู้สึกว่าประสบความสำเร็จน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
8.) ฉันรู้สึกเหมือนอยู่ภายใต้แรงกดดันที่ไม่พึงประสงค์ที่ทำให้งานไม่สำเร็จ
9.) ฉันรู้สึกว่ายังไม่ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการในการทำงาน
10.) ฉันรู้สึกว่าเลือกทำงานในองค์กรที่ผิดหรือเลือกอาชีพผิด
11.) ฉันรู้สึกผิดหวังกับบางส่วนของงานที่ทำหรือรับผิดชอบ
12.) ฉันรู้สึกว่าการเมืองในองค์กรหรือการทำงานที่มีขั้นตอนมาก ทำให้ไม่สามารถที่จะทำงานสำเร็จด้วยดี
13.) ฉันรู้สึกว่ามีหลายงานที่เกินขีดความสามารถของตนที่จะทำงานดังกล่าว
14.) ฉันรู้สึกว่าฉันไม่มีเวลาที่จะทำหลายๆ งานที่มีความสำคัญอย่างมีคุณภาพ
15.) ฉันรู้สึกว่าไม่มีเวลาที่มากพอในการวางแผนการทำงานที่อยากจะทำ

การแปลผลแบบสอบถามการประเมินภาวะหมดไฟจากการทำงาน
>> 15-18 คะแนน : ไม่มีอาการของภาวะหมดไฟจากการทำงาน
>> 19-32 คะแนน : มีอาการของภาวะหมดไฟจากการทำงานเล็กน้อย
>> 33-49 คะแนน : มีความเสี่ยงที่จะมีภาวะหมดไฟจากการทำงาน
>> 50-59 คะแนน : มีความเสี่ยงอย่างมากที่จะมีภาวะหมดไฟจากการทำงาน
>> 60-75 คะแนน : มีความเสี่ยงอย่างรุนแรงที่จะมีภาวะหมดไฟจากการทำงาน

วิธีจัดการภาวะหมดไฟจากการทำงาน
1.) กำหนดเป้าหมายในการทำงานให้ชัดเจน ตั้งเป้าหมายย่อยและพิชิตให้ได้เป็นลำดับ
2.) จัดลำดับความสำคัญของงานและเวลาในการทำงาน
3.) สร้างขอบเขตในการทำงานเพื่อลดการแบกรับภาระงานที่มากเกินไป
4.) ปรับมุมมองหรือทัศนคติให้เห็นถึงคุณค่าของงานที่ทำ
5.) ปรับสมดุลการใช้ชีวิตส่วนตัวและการทำงาน จัดเวลาพักผ่อนให้ตัวเอง เช่น ช่วงพักเบรค หรือ การลาพักร้อน
6.) ผ่อนคลายความตึงเครียดด้วยการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ชอบ
7.) เรียนรู้การจัดการความเครียด
8.) พูดคุยหรือบอกเล่าความรู้สึกกับเพื่อนหรือคนที่ไว้ใจ
9.) ดื่มน้ำสะอาดและพักผ่อนให้เพียงพอ
10.) จำกัดเวลาในการใช้อุปกรณ์สื่อสารและโซเชียลมีเดีย
11.) การให้หรือการช่วยเหลือผู้อื่นเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน หรือออกไปทำกิจกรรมจิตอาสา ทำให้เห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น


เอกสารอ้างอิง
- https://www.mindtools.com/pages/article/newTCS_08.htm (Burnout Self-Test)
- วารสาร Chulalongkorn Medical Bulletin โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์พรชัย สิทธิศรัณย์กุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย