วิกฤตภัยแล้งจีน ทำระดับน้ำลด เผยให้เห็นฐานพระใหญ่เล่อซาน

องค์พระใหญ่เล่อซาน หนึ่งในมรดกโลกขององค์การยูเนสโก ในมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน นับเป็นพระพุทธรูปหินแกะสลักที่มีชื่อเสียงอีกแห่งของโลก ซึ่งในช่วงนี้ มีปรากฏการณ์ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำแยงซีลดลงจนปรากฏให้เห็นฐานด้านล่างทั้งหมดใต้องค์พระ

สำนักข่าวซินหัว สื่อทางการของจีน เผยภาพถ่ายให้เห็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำแยงซี จำนวน 3 สาย มีระดับน้ำลดลงเพราะภัยแล้งในช่วงไม่นานนี้ ส่งผลให้เห็นส่วนฐานของพระใหญ่เล่อซานได้อย่างชัดเจน

ทั้งนี้พระพุทธรูปดังกล่าวแกะสลักขึ้นริมผาภูเขาเล่อซาน และตั้งอยู่ ณ จุดที่แม่น้ำสาขาทั้งสามสายไหลมาบรรจบกัน ได้แก่ แม่น้ำหมิ่นเจียง, แม่น้ำชิงอี และแม่น้ำต้าตู้ ที่มาของพระใหญ่ในสมัยราชวงศ์ถัง เกิดจากแนวคิดของพระสงฆ์รูปหนึ่งนามว่า “ไห่ทง” ที่ทราบว่าบริเวณจุดตัดแม่น้ำสามสายมีอุบัติเหตุบ่อยครั้ง การสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ น่าจะช่วยปกป้องให้การโดยสารทางน้ำปลอดภัย รวมทั้งป้องกันปัญหาจากอุทกภัย

พระไห่ทง จึงรวบรวมเงินบริจาคและแรงศรัทธาจากชาวบ้าน สร้างสรรค์เป็นผลงานสุดมหัศจรรย์ตระหง่าน 71 เมตร อยู่ริมแม่น้ำ โดยสร้างเริ่มต้นปี 713 สมัยราชวงศ์ถัง (ปี 618-907) และใช้เวลาแกะสลักกว่า 90 ปี

สำหรับสถานะการเป็นมรดกโลกนั้น องค์พระครอบคลุมอยู่ในภูมิทัศน์บริเวณภูเขาเอ๋อเหมย จึงมีสถานะเป็นมรดกโลกร่วมกันแบบผสมผสาน ทั้งด้านธรรมชาติและวัฒนธรรม


ที่มา: https://mgronline.com/travel/detail/9650000081382