Friday, 17 May 2024
พระใหญ่เล่อซาน

จีนเล็งบูรณะ ‘พระใหญ่เล่อซาน’ 'พระพุทธรูปแกะสลัก' ใหญ่สุดในโลกอีกครั้ง

คณะผู้เชี่ยวชาญของจีนเปิดเผยว่า พระใหญ่เล่อซาน พระพุทธรูปแกะสลักริมผาขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีความสูง 71 เมตร และตั้งอยู่ ณ จุดที่แม่น้ำสามสายไหลมาบรรจบกันนอกตัวเมืองเล่อซาน มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน จำเป็นต้องได้รับการบูรณะอีกครั้ง

พื้นที่ส่วนจมูกและใบหน้าของพระใหญ่เล่อซานมีร่องรอยดำและสกปรก ขณะส่วนหน้าอก ท้อง มือ และขาบางจุดปกคลุมด้วยตะไคร่น้ำและพืชอื่นๆ แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากเมื่อครั้งผ่านการบูรณะใหญ่ในเดือนเมษายน 2019 ซึ่งเป็นงานบูรณะขนานใหญ่ครั้งที่ 7 ในรอบร้อยปี

เมืองเล่อซานจัดงานสัมมนาหารือแผนการบูรณะพระพุทธรูปยักษ์องค์ดังกล่าวเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยครั้งนี้เหล่าผู้เชี่ยวชาญตัดสินใจแก้ไขต้นเหตุความเสื่อมโทรมแทนการปรับปรุงโฉมนอก เพื่อให้รูปแกะสลักนี้ตั้งตระหง่านสง่างามอีกนานหลายปี

จานฉางฝ่า อดีตรองประธานสถาบันมรดกวัฒนธรรมจีน (CACH) กล่าวว่างานสัมมนาครั้งนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงแนวทางบูรณะครั้งสำคัญ โดยหันมาแก้ปัญหาที่ต้นตอเพิ่มเติม จากเดิมที่ให้ความสำคัญเฉพาะปลายเหตุ

คณะผู้เชี่ยวชาญพบว่าความเสียหายจากน้ำ ฝน และความชื้น เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้พระใหญ่เล่อซานเสื่อมโทรมมากที่สุด โดยหวงเค่อจง นักวิจัยจากสถาบันฯ เผยผ่านระบบวิดีโอจากกรุงปักกิ่งว่าก่อนอื่นเราต้องแก้ไขปัญหาความเสียหายจากน้ำ ไม่เช่นนั้นการปรับปรุงรูปแกะสลักจะช่วยระงับปัญหาได้แค่ชั่วคราว

ผู้เชี่ยวชาญคนอื่นต่างเห็นพ้องว่าต้องดำเนินมาตรการหลากหลายเพื่อจัดการความเสียหายจากน้ำ ซึ่งครอบคลุมการสำรวจทางธรณีวิทยา การติดตามและประเมินผล การวิจัยวัสดุ และการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

วิกฤตภัยแล้งจีน ทำระดับน้ำลด เผยให้เห็นฐานพระใหญ่เล่อซาน

องค์พระใหญ่เล่อซาน หนึ่งในมรดกโลกขององค์การยูเนสโก ในมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน นับเป็นพระพุทธรูปหินแกะสลักที่มีชื่อเสียงอีกแห่งของโลก ซึ่งในช่วงนี้ มีปรากฏการณ์ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำแยงซีลดลงจนปรากฏให้เห็นฐานด้านล่างทั้งหมดใต้องค์พระ

สำนักข่าวซินหัว สื่อทางการของจีน เผยภาพถ่ายให้เห็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำแยงซี จำนวน 3 สาย มีระดับน้ำลดลงเพราะภัยแล้งในช่วงไม่นานนี้ ส่งผลให้เห็นส่วนฐานของพระใหญ่เล่อซานได้อย่างชัดเจน

ทั้งนี้พระพุทธรูปดังกล่าวแกะสลักขึ้นริมผาภูเขาเล่อซาน และตั้งอยู่ ณ จุดที่แม่น้ำสาขาทั้งสามสายไหลมาบรรจบกัน ได้แก่ แม่น้ำหมิ่นเจียง, แม่น้ำชิงอี และแม่น้ำต้าตู้ ที่มาของพระใหญ่ในสมัยราชวงศ์ถัง เกิดจากแนวคิดของพระสงฆ์รูปหนึ่งนามว่า “ไห่ทง” ที่ทราบว่าบริเวณจุดตัดแม่น้ำสามสายมีอุบัติเหตุบ่อยครั้ง การสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ น่าจะช่วยปกป้องให้การโดยสารทางน้ำปลอดภัย รวมทั้งป้องกันปัญหาจากอุทกภัย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top