แอบส่อง!! คัดแข่งหัวหน้าพรรคทอรี่ สไตล์ผู้ดีอังกฤษ

 อังกฤษได้ชื่อว่าเป็นแม่แบบของประชาธิปไตยที่มีการปกครองด้วยระบบที่มีหลายพรรคการเมือง พรรคใหญ่และเก่าแก่ที่เป็นที่รู้จักกันดีก็คือพรรคทอรี่หรือเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่าพรรคคอนเซอเวทีฟ อีกพรรคหนึ่งคือพรรคเลเบอร์หรือพรรคแรงงาน นอกจากสองพรรคนี้แล้ว อังกฤษก็ยังมีพรรคขนาดกลางอีกพรรคหนึ่งคือพรรคลิบเบอรัลเดโมแครต

แต่พรรคที่มีเสียงข้างมากและได้จัดตั้งรัฐบาลบ่อยครั้งกว่าก็คือพรรคคอนเซอเวทีฟที่บางครั้งก็เรียกกันว่าพรรคอนุรักษ์นิยมและขณะนี้พรรคนี้ก็เป็นรัฐบาลปกครองประเทศ 

ในระยะ ๕-๖ ปีที่ผ่านมาพรรคอนุรักษ์นิยมมีการเปลี่ยนหัวหน้าพรรคมาแล้วสามคนหลังจากการลงประชามติว่าอังกฤษจะอยู่หรือออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปในปีค.ศ. ๒๐๑๖

เริ่มจากนายเดวิด แคมเมอรอนก่อนนายเดวิดประกาศลาออกในปี ค.ศ.๒๐๑๖ สาเหตุก็คือในการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปในปี ค.ศ. ๒๐๑๕นายเดวิดประกาศว่าถ้าเขาชนะการเลือกตั้งเขาจะจัดให้อังกฤษมีการลงประชามติในการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ปรากฏว่านายเดวิด ชนะการเลือกตั้งเขาจึงจัดให้มีการลงประชามติตามสัญญา นายเดวิด สนับสนุนให้อังกฤษยังคงเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปต่อไป แต่ชาวอังกฤษส่วนใหญ่โหวตให้อังกฤษออก ดังนั้นเมื่อความเห็นของเขาไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากคนอังกฤษ นายเดวิดจึงอยู่ต่อไปไม่ได้

ขอแทรกข้อมูลตรงนี้สักหน่อยว่าเรื่องการออกจากสมาชิกสหภาพยุโรปนี่ในพรรคคอนเซอเวทีฟพูดกันมานาน แต่ไม่มีใครกล้าทำเรื่องประชามตินี้ เพราะมันมีผลมากมายและถ้าทำก็ต้องเสี่ยงว่าจะอยู่หรือไป ก็มีความเห็นของชาวอังกฤษที่ขัดแย้งกันและเช่นเดียวกันกับนักการเมือง บ้างก็ว่าอยู่ก็ดี บ้างก็ว่าออกจะดีกว่า

ต่อมานางเทเรซ่า เมย์ ได้รับเสียงสนับสนุนจากส.ส. ภายในพรรคอย่างท่วมท้นให้ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคและได้เป็นนายกรัฐมนตรีโดยตำแหน่ง แต่ระหว่างเป็นนายกฯไม่ถึงสามปีเธอก็ต้องลาออกเพราะรัฐบาลของเธอไม่สามารถที่จะดำเนินการต่อรองเจรจากับสหภาพยุโรปตามเงื่อนไขที่อังกฤษต้องการในการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปได้ มีข้อขัดแย้งหลายประการ อังกฤษถูกโดนรุมจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป เช่นเดียวกับตัวนางเทเรซ่าเอง เธอดูจะเสียเครดิทไปมากและจากการขัดแย้งกันเองภายในพรรควุ่นวายกันไปหมด จนเทเรซ่า เมย์แทบจะหมดสภาพ เธอยอมลาออกในปีค.ศ. ๒๐๑๙

การเมืองก็คือการเมืองไม่ว่าที่ไหนๆ ต้องมีพรรคมีพวก ส.ส.ในพรรคคอนเซอเวทีฟสนับสนุนให้นายบอริส จอนห์สันซึ่งตอนนั้นเป็นรัฐมนตรีร่วมคณะรัฐบาลของนางเทเรซ่าอยู่ ว่าน่าจะมาแทนที่นางเทเรซ่า และสามารถแก้ไขปัญหาการออกจากสมาชิกสหภาพยุโรปได้เร็วขึ้น เพราะนายบอริส คือตัวหลักคนหนึ่งในการที่สนับสนุนให้อังกฤษ ดีดตัวออกจากสหภาพยุโรปสำเร็จ เพราะฉะนั้นนายบอริส น่าจะเป็นคนที่ทำได้ตามที่อังกฤษต้องการ

และก็เป็นไปตามที่คิดกันในปี ค.ศ. ๒๐๑๙ ส.ส.พรรคคอนเซอเวทีฟก็เลือกนายบอริสขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค นายบอริสขึ้นชื่อว่าเป็นปลาไหลใส่เสก็ตเก่งคนหนึ่งเขาจึงต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างง่ายๆต่อจากนางเทเรซ่า  ดังนั้นหลังจากที่เขาได้เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่นานนักนายบอริสก็ประกาศยุบสภาให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ เกิดปรากฏการณ์ที่ฉงนๆกันอยู่คือว่าพรรคคอนเซอเวทีฟได้คะแนนเสียงข้างมากกว่าเดิมได้จัดตั้งรัฐบาลอีก

เมื่อได้เป็นนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งเสียงดีเช่นนี้ ด้วยความมั่นใจนายบอริสก็ดำเนินการเจรจาให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปได้เร็วขึ้น แต่เมื่อปีที่แล้วนายบอริสก็มาตกม้าตายจากการบริหารประเทศในการระบาดของโรคโควิด ๑๙ ที่สับสนวุ่นวายทำให้คนอังกฤษเสียชีวิตเพราะโรคระบาดไปนับแสนคน แผนการที่รัฐบาลออกมารับมือถูกวิพากย์วิจารณ์ว่าไม่มีประสิทธิภาพและสร้างความโกลาหลให้กับประชาชนเพราะรัฐบาลนายบอริสเชื่องช้าและเพิกเฉยต่อการรับมือกับโรคระบาด

แม้ว่ารัฐบาลของนายบอริสจะถูกตำหนิติเตียนอย่างหนักแต่ดูเหมือนเขาจะดวงดีอยู่มากเพราะก็ยังอยู่ในตำแหน่งต่อมาได้  ทว่าสิ่งที่นายบอริสมาถูกโจมตีอย่างรุนแรงจนสั่นคลอนเก้าอี้ของเขาก็คือการที่เขาไปร่วมในงานปาร์ตี้ที่บ้านพักของเขาทั้งๆที่รัฐบาลประกาศให้ประชาชนอย่าชุมนุมกันเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด ซึ่งเป็นการกระทำตัวที่ขัดแย้งกันอย่างยิ่ง ที่รัฐบาลเองออกคำสั่ง แต่กลับทำการชุมนุมกันเสียเอง ตอนแรกนายบอริสเองก็แบ่งรับแบ่งสู้ในการกระทำจนกระทั่งต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบความจริงว่านายบอริสมาร่วมงานจริงหรือไม่และกี่ครั้ง

และตอนนั้นน.ส.พ ในอังกฤษก็พากันนับวันแล้วว่านายบอริสต้องไปแน่ๆ แต่เมื่อผลรายงานของคณะกรรมการออกมา นายบอริสก็เพียงถูกปรับจากความผิดที่ฝ่าฝืนคำสั่งรัฐบาลดังกล่าว นายบอริสก็ยังเกาะเก้าอี้ไว้ได้อยู่

สุดท้ายที่รัฐมนตรีร่วมคณะรัฐบาลของเขาทนความประพฤติของนายบอริสไม่ได้ก็คือการพูดกลับกลอกของเขาในการแต่งตั้งรองหัวหน้าวิปรัฐบาล ซึ่งมีคนเห็นว่ามีความประพฤติที่ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งคือนาย คริส พินเชอร์ Chris Pincher ที่เคยมีกรณีวิวาทในงานเลี้ยงและล่าสุดมีการทะเลาะเบาะแว้งกันในงานและลวนลามผู้ชาย ๒ คนในคลับที่เขาเป็นสมาชิก 

ครั้งแรกนายบอริสก็บอกว่าเขาแต่งตั้งนายพินเชอร์เป็นรองหัวหน้าวิปรัฐบาลโดยไม่ทราบกรณีวิวาทและความประพฤติของเขา แต่ครั้นพอถูกสภาสอบเค้นเข้าจริงๆว่า เขารู้หรือไม่รู้ และจากการเปิดเผยของอดีตเจ้าหน้าระดับสูงของกระทรวงต่างประเทศว่าตัวเขาเองได้รายงานเรื่องความประพฤติของนายพินเชอร์ต่อนายบอริสโดยตรง  ในที่สุดนายบอริสก็ยอมรับว่ารู้เรื่อง และนี่คือฟางเส้นสุดท้ายที่บรรดาผู้ร่วมรัฐบาลและข้าราชการระดับสูงในคณะรัฐบาลของเขาราว ๕๐ คนประกาศลาออกประท้วงความประพฤติของเขาว่าเชื่อถือไม่ได้ เมื่อต้นเดือนกรกฏาที่ผ่านมาซึ่งเป็นแรงกดดันให้นายบอริสต้องประกาศลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคคอนเซอเวทีฟ 

อันนำมาสู่ขบวนการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ซึ่งหมายถึงนายกรัฐมนตรีของประเทศด้วย  ขบวนการเลือกหัวหน้าพรรคของพรรคคอนเซอเวทีปเป็นอย่างไร

น่าสนใจทีเดียวค่ะ ขั้นตอนอาจจะดูว่าเป็นการแข่งขันกันจริงและเป็นระบบที่เขายอมรับกันอย่างที่ผู้เจริญแล้วเขาทำกันค่ะ
เอาหละค่ะมาฟังกันว่าขบวนการเขาเริ่มอย่างไร  อันดับแรกเริ่มจากว่า ส.ส. ในพรรคคนใดที่คิดอยากจะลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ก็เสนอชื่อตนเข้ามา แต่ต้องมีรายชื่อส.ส. อีก ๒๐ คนที่สนับสนุนตนพ่วงเข้ามาด้วย. ไม่เพียงแต่เสนอชื่อตัวเองมาเท่านั้น

เมื่อพรรคได้ชื่อของตัวสมัครมาแล้ว  (ครั้งนี้มีผู้เสนอตัวเข้ามา ๘ คน ) ส.ส.ก็เริ่มโหวตกันในรอบแรกว่าจะสนับสนุนผู้สมัครคนใด ในรอบแรกนี้ผู้สมัครคนใดได้เสียง ต่ำกว่า ๓๐ เสียงจะถูกคัดออก

การโหวตในรอบที่สอง ผู้สมัครที่ได้เสียงน้อยที่สุดจะถูกคัดออก การโหวตของส.ส. จะดำเนินต่อไปจนเหลือผู้สมัครเพียงสองคน ในการเลือกครั้งนี้ทำกัน ๕ รอบก็ได้ผู้สมัครเหลือสองคนค่ะคือนายริสชี่ สุหนาก อดีตรัฐบมนตรีคลังที่ลาออกจากรัฐบาลของนายบอริส  นายริชชี่ผู้นี้ได้คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่งทุกรอบจากเสียงของส.ส. ร่วมพรรคของเขา นายริสชี่ สุหนากมีเชื่อสายอินเดียค่ะ ส่วนผู้สมัครที่ได้คะแนนมาเป็นอันดับสองคือนางเอลิซาเบธ ทรัสส์ เธอเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศค่ะและเป็นผู้ที่สนับสนุนนายบอริสอย่างใกล้ชิดและไม่ได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อประท้วงเหมือนนายริสชี่

เมื่อได้ผู้สมัครมาสองคนจากการเลือกของส.ส. พรรคแล้ว เขาจะทำกันอย่างไรต่อไป อันนี้แหละค่ะที่เรียกว่าเป็นประชาธิปไตยกันจริง คือ ผู้สมัครทั้งสองคนจะใช้เวลาราวหนึ่งเดือนหาเสียงกับผู้ที่เป็นสมาชิกพรรคคอนเซอเวทีฟที่มีอยู่ประมาณ ๑๖๐,๐๐๐ คนทั่วประเทศให้ออกเสียงสนับสนุนตน โดยผู้สมัครที่ได้เสียงมากที่สุดในครั้งนี้จะเป็น หัวหน้าพรรคคนใหม่และนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

สำหรับจำนวนสมาชิกพรรคนี้มีรายงานว่าทางพรรคคอนเซอเวทีฟไม่ได้เปิดเผยจำนวนที่แท้จริง แต่ก็ประมาณกันว่ามีราว ๑๖๐,๐๐๐ คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนชนชั้นกลางที่มีฐานะดีและเป็นชายที่มีอายุ ๕๐ ปีขึ้นไป

พรรคคอนเซอเวทีฟกำหนดให้มีการหาเสียงกับสมาชิกพรรคด้วยการที่ผู้สมัครทั้งสองคนจะเดินทางไปทั่วประเทศตามสถานที่กำหนดโดยเริ่มจากวันที่ ๒๘ กรกฎาคม จนถึงวันที่ ๓๑ สิงหาคม และกำหนดจะปิดหีบการออกเสียงทั้งทางกาบัตรทางไปรษณีย์หรือออกเสียงทางออนไลน์ในวันที่ ๒ กันยายน และจะประกาศผลในวันที่ ๕ กันยายน. เป็นอันสิ้นสุดขบวนการสรรหาหัวหน้าพรรคคอนเซอเวทีฟคนใหม่ค่ะ

สรุปคือ การเลือกหัวหน้าพรรคคอนเซอเวทีฟนั้นมี สองขั้นตอนคือ อันดับแรก ส.ส. ในพรรคเลือกผู้แข่งขันมาให้ได้ ๒ คน อันดับที่สองให้สมาชิกพรรคออกเสียงเลือกเป็นผู้ชี้ขาด  ถ้าขณะนั้นพรรคเป็นรัฐบาลอยู่ หัวหน้าพรรคก็เป็นนายกรัฐมนตรี

วันที่ ๕ กันยายนนี้ก็จะได้นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่ค่ะ

อาจมีคำถามว่าผู้สมัครทั้งสองคนหาเสียงกันอย่างไร ที่ฟังๆดู ก็คือว่าจะมีนโยบายในการบริหารประเทศอย่างไร ซึ่งก็หนีไม่พ้นเรื่องภาษี ว่าจะลดจะตัดหรือจะเพิ่ม,นางเอลิซาเบธ ทรัสส์ประกาศว่าเธอจะลดภาษี ทันทีเมื่อชนะ ส่วนนายริชชี่ ยืนยันว่าเขาจะจัดการกับภาวะเงินเฟ้อให้ได้ก่อนลดภาษี อันเป็นเรื่องที่กระทบกับชีวิตคนอังกฤษอย่างมาก นอกจากนี้ก็มีประเด็นอื่นๆในการที่จะทำให้ชีวิตของคนอังกฤษดีขึ้นอย่างไร ซึ่งก็เหมือนการเลือกตั้งทั่วไป แต่ว่าคนออกเสียงจะเป็นเพียงสมาชิกพรรคคอนเซอเวทีฟที่มีอยู่ราว ๑๖๐,๐๐๐ คนหรือประมาณ ๐.๓ % ของผู้ที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั้งหมดของประเทศ คนกลุ่มนี่แหละที่จะเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของอังกฤษ

แปลและเรียบเรียงจากข่าวบีบีซีภาษาอังกฤษ
อนุดี เซียสกุล อดีต Radio Journalist, วิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย