เชื่อมต่อแล้ว!! ‘สะพานขึง’ ข้ามแม่น้ำแม่กลอง แลนด์มาร์กใหม่แห่งราชบุรี 'สร้างงาน-ดึงดูดนทท.'

ไม่นานมานี้ เฟซบุ๊กเพจ 'โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure' ได้โพสต์ความคืบหน้าอีกโครงการใหญ่ของไทย ด้วยการพาไปทำความรู้จักกับ สะพานรถไฟขึง หลบระเบิด ข้ามแม่น้ำแม่กลอง บนโครงการทางคู่สายใต้ Landmark แห่งใหม่ของจังหวัดราชบุรี ระบุว่า...

วันนี้ขอมาเล่ารายละเอียด อีกหนึ่ง Highlights ของโครงการรถไฟทางคู่ ที่กำลังก่อสร้างกันอยู่ นั่นก็คือ 'สะพานรถไฟขึง' แห่งแรกของไทย ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อข้ามแม่น้ำแม่กลอง 

โดยสะพานแห่งนี้ เป็นรูปแบบสะพานคอนกรีตขึง (Extradose Bridge) เพื่อแก้ปัญหาทางกายภาพ อย่างการหลบระเบิดที่นอนอยู่ก้นแม่น้ำแม่กลอง กลางเมืองราชบุรี ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 

***คลิปอธิบายที่มาที่ไปและข้อจำกัดต่างๆ ของโครงการจาก นายช่างมีน หนึ่งในหัวหน้าวิศวกรคุมงาน ของการรถไฟ ได้จากลิ้งค์นี้ >> https://youtu.be/4o0uV8EqhTc

***โพสต์พาชมสะพานขึงนี้ เมื่อปีที่แล้ว >> https://www.facebook.com/491766874595130/posts/1291848297920313/?d=n

ทีนี้ลองมาทำความรู้จัก สะพานรถไฟขึง แห่งแรกของไทยนี้ให้ลึกยิ่งขึ้น

สะพานรถไฟขึงนี้ อยู่ในโครงการรถไฟทางคู่สายใต้ สัญญาที่ 1 ช่วง นครปฐม-หนองปลาไหล 

โดยตัวสะพานได้ก่อสร้างคู่ขนานกับ 'สะพานจุฬาลงกรณ์' ซึ่งเป็นสะพานเดิม ที่เป็นรูปแบบสะพานเหล็กโครงถัก 

แต่สะพานใหม่นี้ จำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบสะพานขึง เนื่องจากข้อจำกัดของพื้นที่ ซึ่งมีระเบิดที่จมอยู่กลางแม่น้ำแม่กลอง ใกล้กับพื้นที่ก่อสร้างสะพานใหม่ 

ส่วนระเบิดนี้เกิดขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งฝ่ายสัมพันธมิตร ต้องการตัดเส้นทางการเดินทาง ของกองทัพญี่ปุ่น เพื่อใช้เส้นทางรถไฟเป็นเส้นทางหลักในการเดินทาง

ซึ่งในช่วงสงคราม มีการทิ้งระเบิดในบริเวณสะพานจุฬาลงกรณ์ และสถานีรถไฟราชบุรี (ติดกัน) ไม่น้อยกว่า 10 ครั้ง และในปัจจุบัน มีระเบิดที่จมอยู่ในดินใต้แม่น้ำแม่กลอง ที่สำรวจเจอ 'ขนาดใหญ่' อย่างน้อย 3 ลูก ซึ่งมีความเสี่ยงในการเก็บกู้ 

ดังนั้น ทางแก้ปัญหา ก็จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการกระทบกระเทือนจากการก่อสร้างในพื้นที่แม่น้ำให้มากที่สุด จึงต้องเปลี่ยนเป็น 'สะพานคอนกรีตขึง' (Extradose Bridge) นั่นเอง

สำหรับโครงการนี้ ทางการรถไฟฯ ได้ทำพิธีเชื่อมต่อสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลอง สะพานรถไฟแบบขึงแห่งแรกของไทยไปเมื่อ 24 มิ.ย.65 ที่ผ่านมา

โดยมี นายจเร รุ่งฐานีย รองผู้ว่าการกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน การรถไฟแห่งประเทศไทย และนายอุดม เพชรคุต รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เป็นประธานในพิธีเชื่อมต่อสะพานรถไฟช่วงสุดท้ายข้ามแม่น้ำแม่กลอง สะพานรถไฟแบบขึงแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่เส้นทางสายใต้ ช่วงนครปฐม–หัวหิน โดยมีพลตรีวิกร เลิศวัชรา รองเจ้ากรมการทหารช่าง และนายดนุช ยนตรรักษ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เอ.เอส. แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด พร้อมด้วยหน่วยงานจังหวัดราชบุรีเข้าร่วมพิธี 

นายจเร เปิดเผยว่า การสร้างสะพานรถไฟแบบขึงข้ามแม่น้ำแม่กลอง เป็นส่วนหนึ่งของโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม-หัวหิน สัญญาที่ 1 ช่วงนครปฐม – หนองปลาไหล โดยได้มีการสร้างสะพานรถไฟคู่ขนานกับสะพานรถไฟเดิมหรือสะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์ เพื่อรองรับการให้บริการรถไฟทางคู่สายใต้ พร้อมกับมีการออกแบบด้วยเทคนิคทางวิศวกรรมพิเศษให้โครงสร้างสะพานรถไฟใช้คานขึง ที่มีตอม่ออยู่บนฝั่งแม่น้ำทั้ง 2 ฝั่ง แทนรูปแบบเดิมที่มีตอม่อกลางแม่น้ำ 

เนื่องจากก่อนที่จะมีการก่อสร้างสะพานรถไฟดังกล่าว การรถไฟฯ ได้ทำการสำรวจพื้นที่แล้วพบวัตถุระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ขนาด 1,000 ปอนด์ จำนวน 7 ลูก จมอยู่ในแม่น้ำแม่กลองบริเวณใต้สะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์ ตรงกับแนวเขตการก่อสร้างสะพานรถไฟ หากจะก่อสร้างสะพานในรูปแบบเดิม จำเป็นต้องมีการเคลื่อนย้ายวัตถุระเบิดออกจากพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตราย

ดังนั้นจึงต้องให้ผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการฯ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้างสะพานรถไฟใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงจากวัตถุระเบิด จึงเป็นที่มาของรูปแบบการสร้างสะพานรถไฟแบบขึง (Extradosed Bridge) หรือ เรียกสั้นๆ ว่า 'สะพานขึง' ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอพระราชทานชื่อสะพาน 

สำหรับสะพานขึงนี้ มีความยาวทั้งสิ้น 340 เมตร แบ่งเป็น 3 ช่วงสะพาน โดยช่วงสะพานที่ข้ามแม่น้ำแม่กลองเป็นช่วงที่มีความยาวมากที่สุดคือ 160 เมตร และมีความสูง 16 เมตร การออกแบบโครงสร้างสะพานเป็นแบบผสมคานคอนกรีตสมดุล (Balance Centilever) ซึ่งเป็นรูปแบบสะพานที่มีการใช้สายเคเบิลร้อยเข้ากับเสาหลักโดยตรง ด้วยเทคนิคทางวิศวกรรมเพื่อขึงช่วยรับน้ำหนัก (Tension cable) ทำให้ลดจำนวนตอม่อที่รองรับน้ำหนักลงได้ ถือได้ว่าเป็นสะพานรถไฟที่ใช้คานขึงแห่งแรกที่ก่อสร้างขึ้นในประเทศไทย และหลังจากการเชื่อมต่อสะพานช่วงสุดท้ายบรรจบสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลองแล้ว เจ้าหน้าที่จะดำเนินงานก่อสร้างด้านโยธาเป็นลำดับถัดไป 

นายจเร กล่าวต่อว่า เมื่อดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ สะพานรถไฟแบบคานขึงข้ามแม่น้ำแม่กลองจะกลายเป็นแลนด์มาร์กท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดราชบุรี เนื่องจากมีรูปลักษณ์ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นจากสะพานรถไฟอื่นๆ ทั่วไป อีกทั้งยังมีการสร้างคู่ขนานกับสะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์ ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มายาวนาน ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่โปรดให้มีกิจการรถไฟสายใต้ และได้ก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมจากสถานีรถไฟบางกอกน้อยไปถึงสถานีรถไฟเพชรบุรี จึงโปรดให้มีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลองสำหรับรถไฟ พร้อมพระราชทานนาม 'สะพานจุฬาลงกรณ์' ขนานกับสะพานธนะรัชต์ที่เป็นสะพานสำหรับรถยนต์ช่วงใจกลางเมืองราชบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2444 

การรถไฟฯ มีความมุ่งหวังว่า การเปิดให้บริการสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลอง ควบคู่กับการเปิดเดินรถไฟทางคู่เส้นทางสายใต้นั้น นอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกการเดินทางขนส่งคมนาคมแก่ผู้โดยสาร และสนับสนุนให้ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ให้หันมาเดินทางท่องเที่ยวโดยรถไฟเพิ่มแล้ว ยังเป็นการทำให้ประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลอดจนสร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่พี่น้องประชาชนในชุมชนพื้นที่ใกล้เคียงทางรถไฟ ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น อันเป็นการช่วยกระจายรายได้ และสร้างความเข้มแข็งต่อเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างยั่งยืน

เชื่อได้ว่า สะพานแห่งนี้ คงกลายเป็นอีกหนึ่ง Landmark แห่งใหม่ของเมืองราชบุรี เคียงคู่ไปกับเรื่องเล่าของระเบิดกลางแม่น้ำ กลางเมืองราชบุรีได้ไม่ยากอย่างแน่นอน!!


>> รูปแบบการก่อสร้าง
- รูปแบบสะพาน เป็นสะพานคอนกรีตขึง (Extradose Bridge)
- ระยะปลอดเสา 160 เมตร
- ความสูงของเสาขึงสายเคเบิล 17 เมตร
- คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565 
- คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2566


ที่มา: https://www.facebook.com/491766874595130/posts/pfbid0Zc4KXPQUvEb7JivbuLjf2oXTM9T8U4EvnKAVtqLpHj4HCSw15aPrzjir8T8dBJPMl/

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=400338772124120&id=100064440019733

https://www.instagram.com/p/CfLxe16LtPv/?igshid=YmMyMTA2M2Y=

https://twitter.com/pr_srt/status/1540274436829761538?s=21&t=rO7pO45KcXZch6bhowDKsg