จับโป๊ะ!! เหตุประท้วง ต้าน ‘พ.ร.บ.เอ็นจีโอ’ อ้างปิดกั้นการชุมนุม ทั้งที่เป็นกม.เผยที่มาเงิน NGO

จากรายการ ‘NEWS GEN TIMES ชวนคิด กับ กิตติธัช’ โดย ‘อ.ต้อม - กิตติธัช ชัยประสิทธิ์’ นักวิชาการอิสระและอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้ชวนคิดถึงประเด็นกฎหมายเปิดเผยที่มาของเงินอุดหนุน NGO ในไทย ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่ม NGO ออกมาประท้วงเพื่อคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้ ว่า…

จากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีขบวนการ NGO (เอ็นจีโอ) บางกลุ่ม ออกมาประท้วง ‘ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร’ หรือเรียกสั้นๆ กันว่า ‘พ.ร.บ.เอ็นจีโอ’ โดยอ้างว่าเป็นกฎหมายที่ปิดกั้นเสรีภาพการรวมกลุ่มของประชาชน ซึ่งหลายฝ่ายต่างก็สงสัยว่า ร่าง พรบ.ดังกล่าว ไปเกี่ยวอะไรด้วย

เพราะไม่มีข้อความใดๆ ที่ระบุถึงการปิดกั้นเสรีภาพการรวมกลุ่มของประชาชนในเลย ในขณะที่สาระหลักของร่างกฎหมายฉบับนี้ คือ การตรวจสอบเส้นทางการเงินของ NGO หรือบรรดาองค์กรอิสระที่รับเงินจากองค์กรต่างชาติ เพื่อเข้ามาดำเนินกิจกรรมบางประการในประเทศไทยมากกว่า

ยิ่งไปกว่านั้น ร่างกฎหมายดังกล่าว ยังนำต้นแบบมาจาก ‘กฎหมายลงทะเบียนองค์กรต่างชาติ’ หรือ The Foreign Agents Registration Act (FARA) ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1938 ที่ระบุให้องค์กรที่รับเงินต่างชาติทุกองค์กร ต้องลงทะเบียนและชี้แจงเส้นทางการเงินอย่างเปิดเผยอีกด้วย 

โดย FARA นั้น ถูกวางไว้เพื่อป้องกันต่างชาติที่จะเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศสหรัฐอเมริกา ผ่านการใช้องค์กรไม่แสวงหากำไร หรือ NGO มาเป็นเครื่องบังหน้า
 

ฉะนั้นร่างกฎหมายของไทย ที่นำต้นแบบมาจากสหรัฐฯ นี้ จึงมีรายละเอียดเฉกเช่นเดียวกันกับ FARA ซึ่งระบุว่า องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ได้รับเงินอุดหนุน หรือเงินบริจาคจากแหล่งเงินทุนต่างประเทศนั้น ต้องมีหน้าที่ดำเนินการ ดังต่อไปนี้... 

1. ต้องแจ้งชื่อแหล่งเงินทุนต่างประเทศ บัญชีธนาคารที่จะรับเงิน จำนวนเงินที่จะได้รับ และวัตถุประสงค์ของการนำเงินไปใช้จ่ายต่อนายทะเบียน 

2. ต้องรับเงินผ่านบัญชีของธนาคารตามที่องค์กรไม่แสวงหากำไรแจ้งไว้ต่อนายทะเบียน

3. ต้องใช้เงินที่ได้รับจากแหล่งเงินทุนต่างประเทศเฉพาะตามวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งต่อนายทะเบียน 

4. ต้องไม่ใช้เงินที่ได้รับจากแหล่งเงินทุนต่างประเทศเพื่อดำเนินกิจกรรมในลักษณะการแสวงหาอำนาจรัฐ หรือเอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมือง 

อันที่จริง เรื่องนี้ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างมาก เพราะคนในสังคมไทยเองก็คงอยากจะทราบ ว่าองค์กรต่างชาติ ทั้งจากสหรัฐฯ, ยุโรป, จีน, รัสเซีย, อาหรับ หรือชาติใดๆ ก็ตาม ได้เข้ามาทำอะไรบ้างในประเทศของเราบ้าง

แต่ปัญหาในวันนี้ คือ ‘ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร’ ของไทย ซึ่งแทบจะไม่ได้ต่างอะไรจากของสหรัฐฯ กลับถูกต่อต้านจาก NGO หลายกลุ่มที่มักอ้างเรื่องสิทธิเสรีภาพ ทั้งที่ NGO เหล่านี้ มักจะชอบใช้วาทกรรมทางการเมืองที่กดดันให้ภาครัฐหรือแม้แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ ว่าต้องมีความโปร่งใส และถูกตรวจสอบทางการเงินได้ 

แล้วเพราะเหตุใดองค์กรเหล่านี้ ถึงไม่ยอมให้สังคมได้รับทราบบ้างว่า พวกเขารับเงินมาจากใคร จำนวนเท่าไร และใช้เงินนั้นไปในกิจการอะไรบ้างล่ะ?


 ที่มา: https://fb.watch/dmCT2kA_2M/