วิโรจน์ ล้อมวงคุย สวน 100 ปีจุฬา ชี้ มีอีกหลายที่ในกรุงเทพมีศักยภาพพัฒนาเป็นสวนสาธารณะ แต่นายทุนกลับเอาไปปลูกกล้วย ชู ยกเว้นภาษี แลกให้ กทม. พัฒนา

เย็นวันนี้ (10 เมษายน 2565) วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กรุณพล เทียนสุวรรณ อดีตผู้สมัคร สส.เขตหลักสี่ พร้อมด้วยณัฏฐ์  อิศรางกูร ณ อยุธยาผู้สมัคร สก.เขตปทุมวัน พรรคก้าวไกลเดินทางไปยังอุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อศึกษาตัวอย่างสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียว โดยมีผู้ที่มาพักผ่อนในอุทยานเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับวิโรจน์ในมุมมองของกรุงเทพเมืองที่คนเท่ากัน 

โดยวิโรจน์กล่าวว่า อีกหนึ่งปัจจัยที่จะสามารถทำให้กรุงเทพเป็นเมืองที่คนเท่ากันได้คือการมีพื้นที่สาธารณะให้แก่พี่น้องประชาชนได้ใช้ประโยชน์ได้จริง

แน่นอนว่าอุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคือตัวอย่างพื้นที่สาธารณะที่วาดฝันอยากให้มีทั่วกรุงเทพฯ

“นี่คือตัวอย่างสวนสาธารณะที่ดีที่เราอยากเห็น สวนสาธารณะที่สร้างขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ประชาชนเข้ามาใช้งาน มากกว่าเพื่อความสวยงามเพียงอย่างเดียว” 

เราอยากเห็นพื้นที่สีเขียวที่เป็นสวนสาธารณะที่ประชาชนใช้งานได้จริง มากกว่าเป็นพื้นที่สีเขียวเพื่อความสวยงามแต่ประชาชนไม่สามารถใช้งานได้

พื้นที่สีเขียวในกรุงเทพมหานครทุกวันนี้จำนวนมากประชาชนไม่สามารถเข้าถึงและใช้งานได้จริง ต้นไม้ที่อยู่เกาะกลางถนน หรือต้นไม้ที่แปะไว้บนตอม่อบีทีเอสก็ถูกนับรวมเป็นพื้นที่สีเขียว

ส่วนพื้นที่สีเขียวที่เป็นสวนสาธารณะที่ประชาชนสามารถใช้งานได้จริงนั้นมีอยู่เพียงไม่กี่แห่ง และส่วนมากก็กระจุกอยู่ในตัวเมืองมากกว่าที่จะกระจายออกไปรองรับประชาชนในพื้นที่รอบๆ

แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่เราจะหาพื้นที่สร้างสวนสาธารณะที่มีขนาดเท่านี้ เพราะที่นี่มีขนาดกว่า 28 ไร่ เราสามารถสร้างให้เล็กกว่านี้สักหน่อย แต่ต้องอยู่บนฐานคิดที่ว่าต้องเป็นสวนสาธารณะที่ประชาชนสามารถใช้งานได้จริง มากกว่าสร้างไว้เพื่อสร้างภาพว่าเรามีพื้นที่สีเขียวต่อประชากรที่ไม่น้อยหน้าเมืองไหนแต่ประชาชนใช้งานไม่ได้

“นโยบายด้านพื้นที่สาธารณะของเราชัดเจน เราจะผลักดันให้มีการใช้กลไกภาษีที่ดิน ที่เรียกว่า Negative Land Tax เพื่อลดภาษีที่ดินให้เอกชน โดยแลกกับให้เอกชนยอมให้ กทม. นำพื้นที่รกร้างมาพัฒนาเป็นสวนสาธารณะ”

ผมคิดว่าสวนดีๆ แบบนี้ ไม่ควรมีที่จุฬาที่เดียวแต่ควรกระจายไปทั่วกรุงเทพ ถ้าเราผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์บนที่ดินอย่างเต็มประสิทธิภาพได้ ผมคิดว่าไม่ใช่แค่คนกรุงเทพจะมีปอดในเมืองเพิ่มขึ้น แต่ยังเพิ่มพื้นที่ค้าขายและการจ้างงานประชาชนทั่วทุกเขตในกรุงเทพ” วิโรจน์ทิ้งท้าย