EA พลิกโฉมธุรกิจ สู่ยานยนต์ไฟฟ้า เปิดอาณาจักร ‘พลังงานบริสุทธิ์’ (EA) ผู้พร้อมป้อน ‘พลังงานใหม่’ สู่อนาคตไทย

เคยได้อ่านบทความหนึ่งของนิตยสาร Bloomberg เมื่อราว 2 ปีก่อน ตอนนั้นมีหัวข้อที่ทำให้ต้องคลิก Feed เข้าไปอ่านไปต่อ เพราะมีการพูดถึง ‘รถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ไทย’ ในชื่อว่า MINE Mobility แถม Bloomberg ยังได้กล่าวยกย่องให้ MINE เปรียบเสมือน ‘Tesla of Thailand’ 

จริงๆ แล้ว MINE Mobility เป็นหนึ่งในธุรกิจของ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA (Energy Absolute) ธุรกิจไทยผู้บุกเบิกและพัฒนาการนำ ‘พลังงานสะอาด’ หรือ ‘พลังงานทดแทน’ มาใช้ขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายในประเทศไทย รวมถึงอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

EA ถูกก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 โดยเริ่มต้นจากการทำธุรกิจ น้ำมันปาล์ม และหลังจากทำธุรกิจได้ 7 ปี ก็จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้สำเร็จ มีรายได้ที่น่าสนใจดังนี้…

- ปี 2560 รายได้ 11,673 ล้านบาท กำไร 3,817 ล้านบาท
- ปี 2561 รายได้ 12,490 ล้านบาท กำไร 4,975 ล้านบาท
- ปี 2562 รายได้ 14,955 ล้านบาท กำไร 6,082 ล้านบาท
- 9 เดือน ปี 2563 รายได้ 12,738 ล้านบาท กำไร 3,720 ล้านบาท
- ปี 2564 รายได้ 20,558 ล้านบาท กำไร 6,100 ล้านบาท

ทีนี้หากมาพิจารณาถึงกลุ่มธุรกิจหลักๆ ของ EA แล้ว มีผลิตภัณฑ์ใดอยู่ในพอร์ต แล้วกลุ่มธุรกิจไหนที่น่าสนใจขนาดที่ Bloomberg เปรียบให้เป็น ‘Tesla of Thailand’

1.) กลุ่มธุรกิจไบโอดีเซล
ธุรกิจกลุ่มนี้เป็นธุรกิจการผลิต และจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล หรือ B100 ซึ่งหากนำไปผสมกับน้ำมันดีเซลพื้นฐานตามปริมาณ ก็จะกลายเป็นน้ำมันดีเซลที่ใช้เติมเครื่องยนต์ เช่น ดีเซล B7 B10 หรือ B20 ขณะเดียวกันนอกจากน้ำมันไบโอดีเซลแล้ว ธุรกิจกลุ่มนี้ของ EA ก็ยังมีกรีนดีเซล สารเปลี่ยนสถานะ กลีเซอรีนบริสุทธิ์ 

2.) กลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน
สำหรับธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของ EA จะดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้า จากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม เพื่อจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

3.) กลุ่มธุรกิจแห่งอนาคต
ธุรกิจกลุ่มนี้ ถือเป็นอนาคตของทั้ง EA และประเทศไทย และเป็นกลุ่มธุรกิจที่เชื่อว่าน่าจะเป็นเหตุผลให้เกิดการเปรียบเทียบกับการเป็น Tesla แห่งประเทศไทย นั่นก็เพราะธุรกิจกลุ่มนี้จะครอบคลุมการผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่ ประเภทลิเทียมไอออน พอลิเมอร์ รวมถึงยังประกอบรถยนต์ไฟฟ้า รถโดยสารไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า และเรือโดยสารไฟฟ้า และธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้า ซึ่งในที่นี้จะพาลงไปดูรายละเอียดเพื่อทำความรู้จักกับธุรกิจกลุ่มนี้มากยิ่งขึ้น...

>> แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน (Li-Ion Battery)
แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน เป็นอุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้าที่มีความสามารถในการกักเก็บประจุไฟฟ้าได้ในปริมาณสูง ซึ่งเป็นแบตเตอรี่ชนิดที่สามารถชาร์จกระแสไฟฟ้าเข้าไปใหม่ได้หลังจากไฟฟ้าถูกใช้หมดไป โดยบริษัทฯ ได้ออกแบบให้มีคุณสมบัติที่โดดเด่น คือ สามารถกักเก็บพลังงานไฟฟ้าได้สูงมีน้ำหนักเบา มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน สำหรับแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนของกลุ่มบริษัทนั้น นอกจากไม่มีส่วนประกอบของสารที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม โดยร่วมลงทุนในบริษัท AMITA Technologies Inc. (AMITA-Taiwan) ผู้เชี่ยวชาญมีประสบการณ์มากกว่า 20 ปี ในด้านการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่ใช้สำหรับระบบกักเก็บพลังงานและยานยนต์ไฟฟ้า จากประเทศไต้หวัน

>> รถโดยสารพลังงานไฟฟ้า
โดยในปี 2563 กลุ่มบริษัทได้เริ่มก่อสร้างโรงงานประกอบยานยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% โดยใช้แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่ผลิตโดยกลุ่มบริษัท ซึ่งมีกำลังการผลิตสูงสุดประมาณ 8,000 คันต่อปี และสามารถปรับเปลี่ยนสายการผลิตเป็นรถประเภทอื่นได้ เช่น รถโดยสารไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า เรือไฟฟ้า หรือรถที่ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ 

ปัจจุบันได้มีการเริ่มทยอยส่งมอบรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า “MINE BUS” ซึ่งเป็นรถชานต่ำ รองรับผู้โดยสารที่ใช้รถวีลแชร์ เด็กและผู้สูงอายุ ให้สามารถขึ้น-ลงได้ง่าย สะดวก โดยภายในห้องโดยสารมีความกว้างขวาง ระยะห่างระหว่างเบาะกว้าง ไม่อึดอัด มีช่องเสียบ USB เพื่อชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือให้บริการระหว่างการเดินทาง ยิ่งไปกว่านั้นในรถจะไม่มีทางเดินต่างระดับของช่วงห้องโดยสารที่สูงแบบรถประเภทอื่น ติดตั้งแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ขนาด 250-350 kWh ที่ออกแบบให้สามารถชาร์จประจุไฟฟ้าได้ด้วยความเร็วภายในเวลาประมาณ 15-20 นาที สามารถขับเคลื่อนระยะทางได้ถึง 250-300 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ช่วยยกระดับการเดินทางบนท้องถนนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

>> เรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า 
บริษัทฯ นำแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน (Lithium-ion Battery) ที่ใช้เป็นอุปกรณ์กักเก็บพลังงานให้กับยานยนต์ไฟฟ้า EV (Electric Vehicle) ประเภทรถยนต์ มาพัฒนาต่อยอดเป็นเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า “MINE SMART FERRY” ซึ่งได้รับการจดทะเบียนเรือไฟฟ้าลำแรกของประเทศไทย ผ่านการตรวจสอบการออกแบบ การทดสอบระบบ และการเดินเรือตามมาตรฐานและมีความปลอดภัย สามารถคว้ารางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2563 สามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 250 คน สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 18 knots ด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ขนาด 700 - 800 kWh ที่ผลิตจากโรงงานของบริษัท อมิตา เทคโนโลยี ภายในกลุ่มของบริษัทฯ สามารถชาร์จประจุไฟฟ้าจาก 0-80% ของ State of Charge (SOC) ในเวลาเพียง 15-20 นาที และขับเคลื่อนได้ระยะทางประมาณ 100 กม.ต่อการชาร์จหนึ่งรอบจากหัวชาร์จ 26 หัว ปัจจุบันมีให้บริการใน 3 เส้นทางระหว่างเส้นทางพระนั่งเกล้า-สาทร

ยิ่งไปกว่านั้น ทางบริษัทฯ ยังได้ร่วมมือกับกรมเจ้าท่า ในการพัฒนาท่าเรือสะพานพุทธ และท่าเรือนนทบุรี เพื่อติดตั้งจอแสดงข้อมูลการเดินทางต่างๆ แก่ผู้โดยสารบริเวณจุดรอเรือบนท่า และใช้ระบบบัตร EMV Contactless เป็นระบบหลักระบบเดียวในการชำระค่าโดยสาร เพื่อเป็นการนำร่องให้กับผู้ให้บริการขนส่งมวลชนรายอื่นๆ ได้สร้าง Ecosystem ของระบบบัตรโดยสารแบบ Open loop อีกด้วย

>> สถานีชาร์จประจุไฟฟ้า EA ANYWHERE
บริษัทเป็นผู้บุกเบิกการติดตั้งเครื่องชาร์จประจุไฟฟ้าเพื่อให้บริการชาร์จประจุไฟฟ้าให้กับยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าที่จะซื้อยานยนต์ไฟฟ้ามาใช้ โดยดำเนินงานธุรกิจสถานีชาร์จประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ภายใต้เครื่องหมายการค้า “EA Anywhere” ให้บริการชาร์จประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งประเภท PHEV (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) และประเภท BEV (Battery Electric Vehicle) สามารถใช้ได้ทั้งการอัดประจุไฟฟ้ากระแสสลับได้สูงสุดที่ 44 กิโลวัตต์/ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับ On-board Charger ของรถยนต์ไฟฟ้าแต่ละรุ่น ส่วนเครื่องอัดประจุไฟฟ้าประเภทกระแสตรง สามารถอัดประจุไฟฟ้าได้สูงสุดที่ 150 กิโลวัตต์ /ชั่วโมง

นอกจากนี้ทางบริษัทฯ ยังได้ร่วมกับบริษัทพันธมิตรในการออกแบบและพัฒนารูปแบบตู้ชาร์จไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าชนิดต่างๆ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้ครอบคลุมทุกประเภทของยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า รถโดยสารไฟฟ้า รวมไปถึงเรือโดยสารไฟฟ้า โดยมี 2 ระบบคือ AC (Normal Charge) และ DC (Fast Charge) รองรับการชาร์จด้วยความเร็วสูง (4C-Rate) (ระยะเวลาในการชาร์จขึ้นอยู่กับประเภทยานยนต์ ระบบควบคุมการชาร์จในรถยนต์ ชนิดและขนาดของแบตเตอรี่) พร้อมมีการขยายสถานีอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีกว่า 430 สถานีทั่วประเทศ รวมกว่า 1,800 หัวชาร์จ โดยบริษัทฯ พัฒนาตู้ชาร์จไฟฟ้าเป็น 4 รุ่น ดังนี้

- Normal Charge 22 kW (AC) จะรองรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า BEV และรถยนต์ PHEV
- Fast Charge 40 kW (DC) จะรองรับการชาร์จด้วยความเร็วสูง เหมาะสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดกลางที่เป็น BEV เท่านั้น
- Super-Fast Charge 150 kW (DC) จะรองรับการชาร์จด้วยความเร็วสูง เหมาะสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดกลางไปถึงขนาดใหญ่ที่เป็น BEV เท่านั้น เช่น รถโดยสารไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้า และรถบรรทุกไฟฟ้า 
- Ultra-Fast Charge 300 kW (DC) จะรองรับการชาร์จด้วยความเร็วสูง เหมาะสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ติดตั้งแบตเตอรี่จำนวนมาก เช่น เรือโดยสารไฟฟ้า, รถโดยสารไฟฟ้า และรถบรรทุกไฟฟ้า ซึ่งได้มีการติดตั้งสถานีชาร์จที่ใหญ่ที่สุด สำหรับการชาร์จเรือไฟฟ้าขนาด 3 MW จำนวน 14 ตู้ รวม 28 หัวชาร์จ

ส่วนพื้นที่บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าในระยะแรก มุ่งเป้าหมายการติดตั้งในสถานที่สาธารณะ ที่สามารถรองรับการจอดยานยนต์ไฟฟ้าได้เป็นระยะเวลาอย่างต่ำประมาณ 1-3 ชั่วโมง เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ร้านอาหาร โรงพยาบาล อาคารจอดรถ พื้นที่สำนักงานย่านธุรกิจ จุดพักรถในเส้นทางหลัก ตลอดจนภายในสถานีบริการน้ำมัน เป็นต้น การใช้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า ผู้ใช้บริการสามารถจองเครื่องชาร์จไฟฟ้าแบบระบุสถานีและตัวเครื่องล่วงหน้า หรือ Walk-in เพื่อเข้าใช้งานที่สถานีได้ทันที ผ่าน Application “EA Anywhere” และชำระเงินผ่านระบบ 2C2P Payment Gateway ซึ่งเป็นระบบรับชำระเงินออนไลน์ที่รองรับทั้งบัตรเครดิต บัตรเดบิต เป็นบริการที่พัฒนาขึ้นเพื่อรองรับผู้ใช้บริการในยุคดิจิทัล สะดวก รวดเร็วและมีความปลอดภัยสูง

จากทั้งหมดที่กล่าวมา คงต้องยอมรับว่า EA น่าจะเป็นบริษัทสัญชาติไทยที่วิ่งเข้าหาระบบนิเวศของพลังงานแห่งอนาคตที่เด่นชัดที่สุดในนาทีนี้ ส่วนจะสมแก่การเป็น TESLA แห่งประเทศไทยมากน้อยเพียงใด ระยะเวลาคงเป็นเครื่องพิสูจน์...

Energy Absolute: Energy for the Future
From Green Energy to E-Mobility “Mission No Emission” 


ที่มา : https://www.blognone.com/node/111158
https://www.longtunman.com/27177
https://www.bloomberg.com/news/features/2019-06-19/thailand-s-tesla-being-built-by-billionaire-s-energy-absolute