โบว์ ณัฏฐา ชี้ การใส่มาตรการกระตุ้นที่ไม่ถึง ก็เหมือนการเข็นรถขึ้นเขา ถ้าเข็นเบาๆ ก็อาจถูกรถไหลทับ ต้องใส่แรงมากพอที่จะส่งรถขึ้นไปได้ มัน คือ การใส่ เพื่อให้เกิดการหมุนต่อ

จากสถานการณ์ความผันผวนของราคาพลังงาน อันเป็นผลพวงของความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซีย ที่ทำให้ต้นทุนการผลิต การค้า-บริการต่างๆ ราคาดีดตัวสูงขึ้น ทำให้ค่าครองชีพเองก็มีการปรับตัวสูงขึ้นจนเกิดปรากฏการณ์ ‘แพงทั้งแผ่นดิน’ โดยรัฐบาลเองก็ได้เห็นถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน จึงได้กำหนด 10 มาตรการ เพื่อช่วยเหลือประชาชนขึ้น ดังนี้ 

1.) การเพิ่มเงินช่วยเหลือเพื่อซื้อก๊าซหุงต้มสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3.6 ล้านคน โดยเพิ่มเงินจากเดิม 45 บาท เป็น 100 บาท/เดือน
2.) ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้ม เดือนละ 100 บาท สำหรับผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนประมาณ 5,500 คน
3.) ช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบก จำนวน 157,000 คน โดยช่วยลดค่าใช้จ่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 250 บาทต่อเดือน และขอให้กรมการขนส่งทางบกกำกับราคาการให้บริการเพื่อให้ประชาชนที่ต้องใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเท่าเดิม 
4.) คงราคาขายปลีกผู้ที่ใช้ก๊าซ NGV ไว้ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม
5.) ผู้ขับขี่แท็กซี่มิเตอร์ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน สามารถซื้อก๊าซได้ในราคา 13.62 บาท/กิโลกรัม
6.) ช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นสำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยลดค่า Ft ลง 22 สตางค์ต่อหน่วยในช่วงเดือนพ.ค. - ส.ค.
7.) ตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร ไปจนถึงสิ้นเดือนเม.ย. 2565 หลังจากนั้น รัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลือส่วนที่ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นครึ่งหนึ่ง
8.) กำกับดูแลการปรับราคาก๊าซหุงต้มในช่วงตั้งแต่เดือนเม.ย.- มิ.ย. โดยใช้กองทุนน้ำมันเข้าไปช่วยลดผลกระทบจากการปรับราคาให้ไม่ขึ้นสูงเกินไป
9.) ลดอัตราเงินสมทบของนายจ้างและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 จาก 5% เหลือ 1% เพื่อให้ลูกจ้างและนายจ้างสามารถมีกำลังในการใช้จ่ายและผู้ประกอบการสามารถมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นในการดำเนินธุรกิจในช่วงถัดไป
10.) ลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 39 จาก 9% เหลือ 1.9% และลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 ลงเหลือ 42-180 บาทต่อเดือน

หากแต่ว่าการกำหนดมาตรการเหล่านี้จากรัฐบาล ดูจะสร้างความกังขาต่อประชาชนทั่วไป ว่าแท้จริงแล้ว 10 มาตรการนี้ จะช่วยเหลือประชาชนจริงหรือไม่? โดย ‘โบว์ - ณัฏฐา มหัทธนา’ ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ไว้ว่า..

ทั้ง 10 มาตรการที่พูดถึงนั้น คือ มาตรการเดียว นั่นก็คือ ‘มาตรการลดค่าครองชีพ’ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีเพราะเป็นการลดภาระ แต่การลดภาระนั้น ต้องลดลงไปให้รู้สึกได้ว่าภาระนั้น มันถูกยกออกไปมากพอสมควรหรือเปล่า แต่ 10 ข้อที่ไล่มา หากแปลงออกมาเป็นเงินมันได้คนละกี่บาทต่อวัน

อย่างของแม่ค้าหาบเร่แผงลอย ให้เขาเดือนละร้อย เดือนละร้อย 3 เดือน คือ ส่วนลดค่าแก๊ส หารออกมาต่อวันตกวันละ 3 บาท แม่ค้าได้รับการลดภาระค่าครองชีพตกวันละ 3 บาท คำถามคือ ‘เขาจะรู้สึกอะไรไหม?’ ได้รู้สึกว่า ‘ภาระลดลงไปบ้างไหม?’ ประเด็นของโบว์ก็คือ ‘มันคือการลดภาระ ที่ไม่รู้สึกถึงการลดภาระเลย’ 

กรณีค่าไฟก็เช่นกัน การที่ออกมาบอกว่า 300 หน่วย ลด Ft 22 สตางค์ ถามว่าพอแปลงออกมาเป็นเงินแล้วได้กี่บาท เพราะเทียบดูแค่คิดจากค่าแก๊สวันละ 3 บาท ก็รู้แล้ว เพราะฉะนั้นมันเป็นการลดภาระแบบไม่รู้สึก คนรับเขาไม่รู้สึกอะไรเลย เหมือนน้ำซึมบ่อทราย คือเทไปเท่าไหร่ก็ซึมหายหมดไม่รู้สึก

ประเด็น คือ การจะช่วยก็ช่วยไป แต่ถ้าลองถามแม่ค้า เขาอยากให้ลดค่าแก๊สวันละ 3 บาท หรืออยากให้มีลูกค้าเข้ากันแน่ คุณลดให้ค่าแก๊ส 3 บาท แต่มันไม่มีลูกค้าเข้าร้าน เพราะคนไม่มีเงินไปจับจ่าย มันก็จะไม่มีผลในการที่จะทำชีวิตดีขึ้นจริงๆ

กลับกันหากไปมองอย่างนโยบาย ‘คนละครึ่ง’ / ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ นโยบายพวกนี้ คือ นโยบายที่ดีในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพียงแต่นโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาจต้องมีที่ได้ผลมากกว่าเดิม เพราะตอนนี้สถานการณ์ไม่ได้มีแค่โควิด- 19 มันมีเรื่อง รัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกับน้ำมัน แล้วมันเลยยิ่งทำให้เศรษฐกิจแย่ลงไปอีก

ซึ่งในประมาณสัปดาห์ที่ผ่านมาโบว์เห็นร้านปิดตัวมากขึ้นมาก นั้นแปลว่าวิกฤติหนักกว่าเดิม ดังนั้นเราต้องการยาแรงกว่าเดิม กว่าแค่ คนละครึ่ง หรือมากกว่านโยบายอื่นๆ ที่มีแล้วหรือไม่? อย่างโบว์เองเคยได้เห็นโมเดลกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวของรัฐนิวเซาท์เวลส์ ในออสเตรเลีย เขาจะให้มาเป็น Voucher ที่ไม่ใช่แค่เงินสด หรือเปอร์เซ็นต์ส่วนลด แต่เป็นเงินสดที่ระบุมาเลยเป็นเหมือนคูปองออนไลน์ โดยจะมีแอปพลิเคชัน ซึ่งคนที่มีสิทธิก็จะได้รับคูปองโดยตรงผ่านแอปพลิเคชันนั้น ตัวอย่างเช่น ครอบครัวที่มีลูก ในปีที่ผ่านมามีการล็อกดาวน์ 3 เดือน ดูแลลูกอยู่บ้านตลอดไม่ได้พัก เขาก็จะชดเชย ให้รางวัลปลอบใจเป็น Voucher ที่พัก ไปพักผ่อนหย่อนใจเป็นมูลค่ารวมใบละ 50 ดอลลาร์ 5 ใบ ซึ่งตีเป็นเงินไทย ประมาณ 6,000 กว่าบาท  

พูดง่ายๆ คือ เขารู้ว่าเงินที่ผ่านมือของประชาชนจะถูกนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้จริง โดยเข้าใจภาพว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต้องการการอัดฉีดเงินเข้าไปเพื่อการอยู่รอด และเงินเมื่อถึงมือประชาชน เขาก็พร้อมนำไปใช้ ส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ก็จะได้เงินสดๆ มาอยู่ในมือผู้ประกอบการ และ ต่ออายุเศรษฐกิจได้ ขณะเดียวกัน บรรยากาศการจับจ่ายก็จะกลับมา และช่วยกระตุ้นให้คนอยากออกมาใช้เงินมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วเวลาคนที่ออกไปเขาก็ไม่ได้ใช้แค่คูปอง

กลับกัน นโยบายเราเที่ยวด้วยกัน มันเป็นแค่ส่วนลด ผลมันต่างกันตรงนี้ เพราะเวลาคุณได้ Voucher มันเป็นเงินสดๆ มาใช้ โอกาสที่คุณจะบังคับตัวเองออกไปใช้ มันจึงมีมากกว่าที่จะให้ออกไปใช้ส่วนลด 

ขณะเดียวกันในสังคมยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่นโยบายเหล่านี้ ยังไม่ตอบโจทย์เขา เช่น เขาอาจจะรู้สึกว่าลดคนละครึ่งร้านส้มตำ ยังเล็กน้อยสำหรับเขา เขายัง จ่ายเองได้ แต่ถ้าให้มาเป็น Voucher เป็นชิ้นเป็นอัน เขาก็จะผลักดันตัวเองให้ไปตรงนั้น มันก็เป็นการเอาเงินที่ไปไม่เคยถึง ไปให้ถึง

นี่ไม่ใช่การโจมตีโครงการคนละครึ่งหรือเราเที่ยวด้วยกัน เพราะยังการันตีว่าเป็นโครงการที่ดี แต่สถานการณ์ตอนนี้มันแย่กว่าเดิม การลองดูโมเดลอื่นๆ ที่มี Creative Idea เป็นสิ่งที่ควรทำ ที่สำคัญอย่าทำแบบใจไม่ถึงที่จะให้ อย่าคิดแบบข้าราชการ บางครั้งต้องคิดแบบนักธุรกิจ กล้าได้กล้าเสีย เขาจะรู้สึกว่า ฉันกล้าทุ่มไปเท่านี้เพื่อให้ได้ผลตอบกลับมาเท่านี้ ซึ่งอันนี้ไม่ใช่คาแรกเตอร์ของรัฐบาลนี้ โบว์เลยอยากจะ โยนไอเดียมาให้ลองคิดอะไรแบบนี้ดู

แต่ความท้าทายก็คือว่า เงินมันจะหมดแล้วน่ะสิ  คือถ้ามันไปใช้ช่วงแรกๆ อาจจะยังมีเงิน แต่ว่าฐานะทางการคลังมันค่อนข้างแย่ ดูจากการเก็บภาษี ดูรายจ่าย หนี้สะสม แล้วก็เรื่องของประมาณการรายได้ ตอนนี้ก็เลยไม่แน่ใจว่าไอเดียนี้จะเอาไปใช้ได้ไหม เพราะฐานะการคลังแย่ อาจจะยาก

โดยสรุปแล้วการแก้ปัญหาวิกฤติจำเป็นต้องมององค์รวม ตั้งแต่ช่วงชดเชย เยียวยา กระตุ้น แล้วก็ฟื้นฟู แล้วไปให้สุด แต่เรามักเห็นวิธีการแก้แบบค่อยๆ ปล่อยออกมา มันเลยเหมือนคิดไม่สุดทาง ซึ่งกระตุ้นแล้วไม่ถึง ทุกอย่างก็หาย แต่ถ้าถึงทุกอย่างก็ไปต่อ เหมือนการเข็นรถขึ้นเขาถ้าเข็นเบาๆ ก็อาจถูกรถไหลทับ มันเลยต้องใส่แรงมากพอที่จะส่งรถขึ้นไปได้ มันคือการใส่ เพื่อให้เกิดการหมุนต่อ 

“อย่างไรก็ตาม สุดท้ายถ้าต้องพึ่งตัวเอง ก็ขอให้คนไทยช่วยกันไปฉีดวัคซีนก่อน พอโควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่นเมื่อไหร่ สภาพการทำงาน ตลาด การท่องเที่ยว วิถีชีวิตผู้คนกลับมาอยู่บนความปกติมากขึ้น เมื่อนั้นเศรษฐกิจก็จะค่อยๆ ฟื้นด้วยตัวเองได้”