‘ครูธัญ’ หวั่น!! ความเสมอภาคของผู้คนในแดนกิมจิอาจมืดสนิท!! หลังผู้นำคนใหม่เตรียมยุบ​ 'ก.ความเท่าเทียมทางเพศ'

ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส..แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี เกาหลีใต้ ซึ่ง ยูน ซอก-ยอล จากพรรคพลังประชาชน เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งล่าสุดอย่างเฉียดฉิว ว่า...

เป็นว่าที่ประธานาธิบดีที่มีนโยบายขวาจัด และสิ่งหนึ่งที่ประกาศต่อสาธารณะ คือ​ การยุบกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศ จึงมีความเป็นห่วงอย่างมาก เพราะความเท่าเทียมทางเพศ​ คือ​ ตัวชี้วัดอย่างหนึ่งที่สะท้อนความเสมอภาคของประชาชนและความก้าวหน้าของประเทศ และยอมรับว่า ในปัจจุบันผู้มีอำนาจ มีตำแหน่งสำคัญๆ ยังมีความไม่เข้าใจประเด็นดังกล่าวว่าสำคัญอย่างไรอยู่

Gender หากแปลตรงตัวคือ ‘เพศสถานะ’ หากเราเข้าใจเพียงเท่านี้ก็คงไม่นำพาสู่การแก้ปัญหาใด ๆ แต่หากเราเข้าใจว่าเพศสถานะนั้นคือการกำหนดบทบาททางเพศโดยรัฐ หรือสังคมนิยมชาย #Patriachy ในอดีต เราก็จะพบความไม่เท่าเทียม ทั้งการให้คุณค่าด้านวัฒนธรรม มูลค่าทางเศรษฐกิจ และ ศักดิ์ศรีรวมถึงพื้นที่ของผู้หญิงและความหลากหลาย ดังนั้น Gender = เพศสถานะ = ความไม่เท่าเทียมทางเพศ เราจึงเติมคำว่า Equality ด้านหลังคำว่า Gender เพื่อให้ความไม่เท่าเทียมนั้นถูกทำให้เท่าเทียม จึงเป็นที่มาของคำว่า #GenderEquality”

ธัญวัจน์ กล่าวต่อไปว่า ความคิดการยุบกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศ สะท้อนความคิดสังคมที่นิยมความเป็นชายในบุคคลนั้น แม้คนนั้นจะเป็นผู้หญิงก็ตาม ตัวอย่างข่าวที่ออกมาในเกาหลีใต้ คิมกอนฮีภรรยาของ ยูน ซอก-ยอล เคยมีบทสนทนาถึงความไม่เชื่อใน #Metoo หรือประเด็นการส่งเสียงต่อการล่วงละเมิดทางเพศที่เป็นกระแสเกิดขึ้นทั่วโลกเพื่อต่อสู้กับ ‘ความเงียบ’ ที่ถูกกดทับจากผู้ชาย สะท้อนความคิดสนับสนุนอำนาจชายเป็นใหญ่ที่มองว่าเป็นเรื่องผู้ชายเล่นสนุก

วันนี้โลกเราต่างเรียนรู้จากความรุนแรงและสงครามในอดีตที่มีการสูญเสียมากมายทั้งชีวิตทหาร ชีวิตประชาชน และทรัพยากร เราทุกคนบนโลกใบนี้ล้วนแล้วแต่ไม่อยากให้เกิดสงครามและความรุนแรง การให้ความสำคัญในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศจะส่งผลให้ประเทศนั้นเปลี่ยนนิยามความมั่นคงของประเทศให้สัมพันธ์กับความมั่นคงของมนุษย์ และน่าจะเป็นผลลัพธ์ที่สำคัญของประชาชนในสังคม และการมีส่วนร่วมของคนทุกเพศในระดับการตัดสินใจของประเทศ จะไม่นำพาโลกของเราก้าวเข้าสู่ประวัติศาสตร์ที่เลวร้ายซ้ำรอยเดิม

เพราะสังคมนิยมชายกำหนดความมั่นคงโดยการให้ความสำคัญกับ การทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ จารีตประเพณีและความเชื่อเพื่อควบคุมประชาชน และหากความเท่าเทียมทางเพศเกิดขึ้น ความมั่นคงจะให้ความสำคัญกับ เด็ก เยาวชน ความปลอดภัย การดูแลกัน มนุษยธรรม และมนุษยชาติ รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ที่ถูกสนับสนุน ซึ่งสำคัญอย่างมากในระบบเศรษฐกิจ ความเท่าเทียมทางเพศจึงเป็นเรื่องเดียวกันกับการเปิดโอกาส ให้เสียงของคนทุกคนดังและได้รับการแก้ไข เปลี่ยนแปลงโลกนี้เพื่อเป้าหมายความมั่นคงของมนุษยชาติและเศรษฐกิจ นี่ไม่ใช่เรื่องของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่มันคือความคิดสังคมนิยมชายที่ยังปกคลุมของคนทั่วโลก” ธัญวัจน์ ระบุ