“บิ๊กป้อม”สั่ง เตรียมแผนรับมือฤดูฝน 

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการ ด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1/65 เพื่อ ติดตามผลดำเนินงานตามมาตรการฤดูแล้งและมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 65

โดยที่ประชุมเห็นชอบร่างมาตรการรับมือฤดูฝน ปี2565 ซึ่งถอดบทเรียนการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 64 จากหน่วยงานต่างๆ และร่วมกำหนด 13 มาตรการ รับมือ ประกอบด้วย การคาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม การบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มต่ำ การปรับปรุง เกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดต่างๆ การซ่อมแซมปรับปรุงระบบระบายน้ำ การแก้ปัญหาสิ่ง กีดขวางทางน้ำ การขุดลอกคูคลอง การเตรียมพร้อมประจำพื้นที่เสี่ยง การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและ การส่งน้ำ การตรวจความมั่นคงปลอดภัยผนังกั้นน้ำ การซักซ้อมพื้นที่อพยพและแผนเผชิญเหตุ การตั้งศูนย์ ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ รวมทั้งการติดตามประเมินผล เพื่อปรับการ บริหารจัดการให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมสูงสุด

นอกจากนั้น เห็นชอบปฏิทินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ แบ่งเป็น 2 ฤดู คือ ฤดูแล้ง ตั้งแต่  1 พ.ย. - 30 เม.ย.และฤดูฝน 1พ.ค. - 31 ต.ค.และเห็นชอบแนวทางการกำจัดผักตบชวา ด้วยจุลินทรีย์ชีวภาพ โดยการใช้สารสกัดจากสมุนไพรธรรมชาติจากผลการวิจัย เพื่อลดความเสียหายจากปัญหาผักตบ ชวาในฤดูน้ำหลาก

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ภาพรวมการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งที่ผ่านมา สทนช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถจัดสรรน้ำได้อย่างเพียงพอต่อการเพาะปลูกของเกษตรกร และยังไม่พบสถานการณ์ขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค ขอย้ำให้
สทนช.ช่วยเหลือประชาชน ให้รับผลกระทบจากภัยแล้งน้อยที่สุด และให้ความสำคัญในการดูแลคุณภาพน้ำ ลดความสูญเสียน้ำ ขยายผลกักเก็บน้ำบนดินและเติมน้ำใต้ดิน นอกจากนั้น

ให้พิจารณาความเร่งด่วนในการบริหารจัดการประตูน้ำ ในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำท่าจีน เพื่อแก้ปัญหาน้ำเค็มจากผลกระทบน้ำทะเลหนุนสูง ขณะที่กระทรวงมหาดไทย ต้องเร่งขยายผลให้ทุกหมู่บ้านมีและสามารถใช้น้ำประปาได้ในทุกหมู่บ้าน ส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สนับสนุนและทำความเข้าใจกับเกษตรการให้ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยในฤดูแล้ง เพื่อจะได้บริหารจัดการผลิตผลการเกษตร ต่อเนื่องตลอดปี

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า สำหรับฤดูฝนที่จะมาถึง ให้ทุกหน่วยงาน เตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝน โดยให้สทนช. ติดตามขับเคลื่อนรับมือตาม 13 มาตรการที่กำหนดให้เป็นรูปธรรมร่วมกันในทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมที่เกิดขึ้นที่ผ่านมา ต้องเร่งป้องกันและแก้ปัญหาจากบทเรียนที่ผ่านมา ในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งให้ความสำคัญกับแผนเตือนภัยและการอพยพเคลื่อนย้าย เพื่อลดการสูญเสียและความเสียหายในพื้นที่เสี่ยงให้ได้มากที่สุด