สหรัฐฯ ปรับระดับไทย กลุ่มประเทศเสี่ยงสูงสุดโควิดระบาด แนะ!! ชาวมะกัน เลี่ยงไปเยือน

8 มี.ค. 65 สื่อต่างประเทศรายงานว่า สำนักข่าว CNN สหรัฐอเมริกา เสนอข่าว CDC adds former Covid success stories to its highest-risk category for travel ระบุว่า เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2565 ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐฯ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ (CDC) ได้ปรับระดับประเทศไทย, นิวซีแลนด์ และเกาะฮ่องกง ขึ้นไปอยู่ในระดับ 4 หรือระดับสูงที่สุด ด้านความเสี่ยงจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19

โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เวียดนามเพิ่มถูกจัดให้อยู่ในระดับ 4 ส่วนประเทศอื่นๆ ในกลุ่มนี้ ได้แก่ แคนาดา, อียิปต์, ฝรั่งเศส, กรีซ, เปรู และสิงคโปร์ ส่วนสหราชอาณาจักรอยู่ในระดับ 4 มาตั้งแต่เดือน ก.ค. 2564

อย่างไรก็ตาม ไม่มีสหรัฐฯ อยู่ในรายการคำแนะนำ แต่มีการกำหนดรหัสสีไว้อยู่ในกลุ่มระดับ 4 เช่นกัน ซึ่งประเทศที่อยู่ในระดับ 4 นี้ CDC แนะนำให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปเยือน

สำหรับฮ่องกง และนิวซีแลนด์ ก่อนหน้านี้ได้รับการยกย่องเรื่องความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ไม่มากนัก แต่ทุกอย่างได้เปลี่ยนไปเมื่อต้องเผชิญกับไวรัสกลายพันธุ์สายโอมิครอน ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น บนเกาะฮ่องกง ห้องเก็บศพใกล้เต็ม ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล สินค้าอุปโภค-บริโภคถูกซื้อจนแทบเกลี้ยงซูเปอร์มาร์เก็ต และทางการต้องจำกัดการเดินทางรวมถึงเที่ยวบินขาเข้า ส่วนนิวซีแลนด์ มีแผนการเปิดประเทศรับชาวต่างชาติช่วงปลายปี 2565 และยังคงมาตรการกักตัวอย่างเข้มงวดต่อไป

ขณะที่ไทย ประเทศที่เคยทำรายได้จากการท่องเที่ยวสูงที่สุดในทวีปเอเชีย เมื่อปี 2562 กลับมาเริ่มโครงการ Test & Go อีกครั้งตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา อนุญาตให้ชาวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วเดินทางได้โดยไม่ต้องกักตัวนาน ทั้งนี้ เกณฑ์การจัดระดับความเสี่ยงจะพิจารณาจากจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศปลายทางเป็นหลัก เช่น ระดับ 4 หมายถึงมีสัดส่วนผู้ติดเชื้อมากกว่า 500 คนขึ้นไปต่อประชากร 1 แสนคนในช่วง 28 วันล่าสุด โดยก่อนหน้านี้ ทั้งไทย นิวซีแลนด์ และฮ่องกง อยู่ในกลุ่มระดับ 3 หรือความเสี่ยงสูง

รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า ประเทศหรือดินแดนที่เพิ่งถูกจัดให้อยู่ในความเสี่ยงระดับ 3 หรือเสี่ยงสูง หมายถึงมีสัดส่วนผู้ติดเชื้อ 100-500 คนต่อประชากร 1 แสนคนในช่วง 28 วันล่าสุด ในวันที่ 7 มี.ค. 2565 ประกอบด้วย แองกวิลลา เคปเวิร์ด ฟิจิ เม็กซิโก ฟิลิปปินส์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทั้งหมดเคยอยู่ในกลุ่มระดับ 4 มาก่อน อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า เม็กซิโกมีนโยบายเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่มีเงื่อนไขด้านการตรวจคัดกรองโรคหรือการฉีดวัคซีนโควิด-19

การปรับระดับความเสี่ยงโควิด-19 ของประเทศต่างๆ โดย CDC รอบล่าสุดนี้ หลายประเทศในทวีปแอฟริกาถูกปรับลดความเสี่ยงจากระดับ 3 ลงไปอยู่ที่ระดับ 2 หรือเสี่ยงปานกลาง หมายถึงมีสัดส่วนผู้ติดเชื้อ 50-99 คนต่อประชากร 1 แสนคนในช่วง 28 วันล่าสุด ได้แก่ แองโกลา จิบูติ อิเควทอเรียลกินี เอธิโอเปีย แกมเบีย มอริทาเนีย โมซัมบิก นามิเบีย และเซเนกัล

ส่วนประเทศที่ระดับความเสี่ยงระดับ 1 หรือเสี่ยงต่ำสุด หมายถึงมีสัดส่วนผู้ติดเชื้อน้อยกว่า 50 คนต่อประชากร 1 แสนคนในช่วง 28 วันล่าสุด ได้แก่ โกตดิวัวร์ (ไอวอรีโคสต์) เคนยา เลโซโท ไนเจอร์ รวันดา สาธารณรัฐคองโก โตโก อูกันดา ขณะที่จีนแผ่นดินใหญ่ และไต้หวัน เป็นประเทศ และดินแดนนอกทวีปแอฟริกาที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่ำ 

นอกจากนี้ CDC ยังมีหมวด “ไม่สามารถระบุได้ (Unknown)” หมายถึงไม่มีข้อมูลเพียงพอ เนื่องจากสาเหตุต่างๆ เช่น เป็นดินแดนเล็กๆ ห่างไกล หรือมีเหตุการณ์ไม่สงบในดินแดนเหล่านั้น ซึ่ง 3 ประเทศหรือดินแดนที่ถูกเพิ่มเข้ามาล่าสุด คือกัมพูชา แทนซาเนีย และมาเก๊า

ลีอานา เหวิน (Leana Wen) แพทย์ซึ่งทำงานเป็นนักวิเคราะห์ของ CNN กล่าวว่า อัตราการแพร่เชื้อเป็นเกณฑ์เดียวที่ใช้คำนวณความเสี่ยงส่วนบุคคลของนักเดินทาง ขณะนี้เรากำลังเข้าสู่สถานการณ์โรคระบาดที่แต่ละคนต้องตัดสินใจด้วยตนเองโดยพิจารณาจากปัจจัยทางการแพทย์ของพวกเขา เช่นเดียวกับการอดทนต่อความเสี่ยงในการสัมผัสกับโควิด-19 และย้ำว่า ควรตีความระดับ 4 หมายถึงสถานที่ที่มีการระบาดในชุมชนอย่างมาก หากเดินทางไปนั่นหมายถึงโอกาสติดเชื้อย่อมมากขึ้นด้วย

“บางคนจะตัดสินใจว่า มันเสี่ยงเกินไป แต่บางคนก็อาจจะบอกว่า ตัวเองฉีดวัคซีนแล้วรวมถึงเข็มกระตุ้นด้วยดังนั้นจึงรับได้กับความเสี่ยง นี่จึงเป็นการตัดสินใจที่เป็นเรื่องของแต่ละคนจริงๆ ที่ต้องชั่งน้ำหนัก โดยเฉพาะใจว่าขณะนี้ CDC กำลังจำแนกระดับต่างๆ ตามอัตราการระบาดในชุมชน และโดยพื้นฐานแล้วมีเพียงเท่านั้น พวกเขาไม่คำนึงถึงสถานการณ์ส่วนบุคคล” เหวิน กล่าว


ที่มา : https://www.naewna.com/inter/640022