“นายกฯ”เชิญชวนปชช.บริโภคผลไม้ตามฤดูกาล อุดหนุนเกษตรกร-สร้างภูมิคุ้มกันธรรมชาติ ด้าน “โฆษกรัฐบาล” เผย ยอดใช้จ่ายรัฐ เกือบ 5.4 หมื่นล้านบาท ด้าน ก.คลัง เร่งสรุป 2.6 ล้านสิทธิ ที่ถูกตัดสิทธิโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้า มาตรการลดภาระค่าครองชีพของรัฐปี 2565 จำนวน 3 โครงการ ที่เปิดให้ใช้จ่ายไปเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้แก่ โครงการคนละครึ่ง ระยะ 4 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะ 4 และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 ที่รัฐบาลเพิ่มวงเงินสนับสนุนในการช่วยลดภาระการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันของประชาชน กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ พบว่าถึงวันที่ 3 มี.ค. ที่ผ่านมา มีผู้ใช้สิทธิสะสม รวม 40.72 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม รวม 53,889.99 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการคนละครึ่งฯมีผู้ใช้สิทธิสะสม 26.23 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 49,420.9 ล้านบาท เป็นส่วนที่ประชาชนจ่ายสะสม 25,104.7 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 24,316.2 ล้านบาท ด้านโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 13.28 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 4,116.12 ล้านบาท และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 1.21 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 352.97 ล้านบาท

นายธนกร กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม มีนโยบายขับเคลื่อนทุกกลไกเพื่อช่วยเหลือประชาชน ในยุคที่ต้องเผชิญกับผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 โดยรัฐบาลมีมาตรการลดภาระค่าครองชีพของรัฐ เพื่อแบ่งเบาค่าใช้จ่ายประจำวันของประชาชน เป็นการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ มีผู้ประกอบการบริการร้านค้า ร้านธงฟ้า OTOP กิจการขนส่งสาธารณะ ร่วมโครงการจำนวนมาก ซึ่งประชาชน และผู้ประกอบการรายย่อย ที่ลงทะเบียนไว้ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ทั้งนี้หลังจากให้สแกนใช้จ่ายสิทธิภายในวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา มีผู้ไม่ใช้สิทธิตามวันที่กำหนด ถูกตัดสิทธิจำนวน 2.6 ล้านสิทธิ ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทาง ในระดับนโยบายว่าจะดำเนินการกับสิทธิที่เหลืออย่างไรต่อไป

 

นายธนกร กล่าวว่า ประชาชนสามารถใช้จ่ายโครงการคนละครึ่ง ได้จนถึงวันที่ 30 เม.ย.นี้ หรือจนกว่าจะใช้จ่ายเต็มวงเงิน 1,200 บาท โดยนายกฯ มอบหมายให้กระทรวงการคลัง และหน่วยงานด้านเศรษฐกิจร่วมกันออกแบบมาตรการช่วยเหลือประชาชนในแต่ละช่วงสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ต้องวิเคราะห์ปัจจัยหลายด้านควบคู่กัน นอกจากนี้นายกฯได้ติดตามราคาสินค้าเกษตร พร้อมเร่งช่วยเหลือ ชาวนา เกษตรกร จึงเชิญชวนประชาชนบริโภค อุดหนุนสินค้าเกษตร ผลไม้ตามฤดูกาลเพิ่มวิตามินซีเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายป้องกันโควิด-19 ได้ และขอให้ประชาชนเข้มงวดในมาตรการป้องกันครอบจักรวาล ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง