ส่องท่าทีจีน​ ภายใต้วิกฤติ​ 'รัสเซีย-ยูเครน'​ กับความนิ่งสงบที่สยบทุกการเคลื่อนไหว

หลังจากที่รัสเซียได้ปล่อยระเบิดการเมืองโลกลูกโตด้วยการประกาศรับรองเอกราชให้กับ ​'แคว้นโดเนตสก์'​ และ 'ลูฮันสก์'​ เพื่อแยกตัวออกจากยูเครน พร้อมทั้งอนุมัติให้ส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้าไปในแคว้นดังกล่าว ก็เรียกได้ว่าสร้างความโกลาหลไปทั่วทั้งโลก​ ​จนต่างเริ่มกังวลว่าสงครามครั้งใหญ่อาจเกิดขึ้นในไม่ช้าจริงๆ

แรงกระเพื่อมนี้แรงจนทำให้องค์กรระดับโลก ทั้งองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) สหภาพยุโรป (EU) และสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติออกมาเคลื่อนไหวโดยพร้อมเพรียงกันในวันนี้ เพื่อสกัดการรุกรานของรัสเซียในดินแดนยูเครน

ด้านนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการแห่งองค์การสหประชาชาติเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยึดหลักตามข้อตกลง Minsk Agreements (2015) ที่ได้รับการรับรองโดยสมัชชาความมั่นคง ในการรักษาความสงบตลอดแนวชายแดนยูเครนตะวันออกที่มีข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลยูเครน และกลุ่มแบ่งแยกดินแดนโดเนตสก์และลูฮันสก์ 

ส่วนสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปเตรียมยกระดับมาตรการคว่ำบาตรสูงสุดต่อรัสเซียเพื่อเป็นการตอบโต้ความพยายามที่จะยึดครองดินแดนยูเครนผ่านการรับรองเอกราชของ 2 แคว้นในดินแดนยูเครนแล้ว 

อย่างไรเสีย​ ท่ามกลางความวุ่นวายนี้ หลายฝ่ายก็ได้จับจ้องไปที่ท่าทีของ​ 'จีน'​ ประเทศมหาอำนาจแห่งเอเชียและเป็นพันธมิตรอันแน่นแฟ้นกับรัสเซียว่าจะแสดงจุดยืนเช่นใดในวิกฤตินี้

โดยทางรัฐบาลจีนก็มิได้นิ่งเฉย ล่าสุดมีการพูดคุยทางโทรศัพท์ระหว่าง หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน และ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ เกี่ยวกับสถานการณ์ในยูเครน โดยทางจีนกล่าวว่าจะเคารพหลักการตามที่ประชุมองค์การสหประชาชาติ 

แต่ทั้งนี้ นาย จาง จุน เอกอัครราชทูตจีนประจำองค์การสหประชาชาติ ไม่ได้แสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อการตัดสินใจของรัสเซีย เมื่อเทียบกับพันธมิตรชาติตะวันตกอื่นๆ โดยได้แสดงความเห็นให้ทุกฝ่ายหาหนทางพูดคุยเพื่อหาทางออกที่เหมาะสม​ ด้วยการยึดหลักสันติวิธีจะดีกว่า เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งนี้มีสาเหตุจากหลายปัจจัยที่มีความซับซ้อนมาก และจีนพร้อมแสดงจุดยืนในทางออกที่เป็นผลดีกับทุกฝ่าย

เรียกว่าเป็นการตอบในเชิงการทูตที่นุ่มนวลผิดวิสัยของจีน แต่ก็แสดงให้เห็นว่าจีนจะไม่ร่วมขบวนคว่ำบาตรรัสเซียตามชาติตะวันตก และจะไม่ก้าวก่ายปัญหาความขัดแย้งภายในระหว่างรัสเซีย และ ยูเครน รวมถึงไม่กล่าวโทษว่าความขัดแย้งนี้เป็นความผิดของฝ่ายไหน 

เช่นเดียวกันกับประเด็นที่รัสเซียผนวกดินแดนไครเมียของยูเครนเมื่อปี 2014 ทางรัฐบาลจีนก็วางตัวเป็นกลาง และสนับสนุนให้แก้ปัญหาผ่านการเจรจาเป็นสำคัญ

แต่ทั้งนี้ การแสดงท่าทีเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ก็สามารถตีความได้กลายๆ​ ว่าเป็นการเลือกข้างอย่างชัดเจนของจีน ในการเลือกที่จะรักษาสัมพันธ์กับรัสเซียนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม​ ในฟากสื่อท้องถิ่นของจีน​ ก็ได้มีการแสดงความเห็นถึงความไม่น่าไว้ใจของพันธมิตร NATO ที่มักเสริมกำลังยุยงฝ่ายรัสเซียมาโดยตลอด และได้ยกตัวอย่างการแทรกแซงของกองกำลัง NATO ในสงครามยูโกสลาเวียในช่วงปี 1991 - 2001 จนทำให้ประเทศยูโกสลาเวียแตกออกเป็นหลายประเทศในปัจจุบัน ซึ่งช่วงเวลานั้นยังมีการโจมตีสถานทูตจีนในกรุงเบลเกรด เป็นเหตุให้นักข่าวจีนเสียชีวิตถึง 3 ราย

อีกทั้งสถานการณ์ที่รัสเซียกำลังเผชิญหน้าอยู่ แทบไม่ต่างกับทางฝ่ายจีน ซึ่งถูกกดดันจากสหรัฐอเมริกา และชาติพันธมิตรเช่นกัน ดังนั้นจุดยืนของจีนจะไม่ร่วมขบวนไปกับนโยบายของชาติตะวันตกอย่างแน่นอน

เป็นการใช้ความนิ่งสยบกระแสความเคลื่อนไหวสไตล์ปรัชญาจีน ที่ไม่ขอเต้นตามกระแสของใคร แต่ก็แสดงความหนักแน่นในจุดยืนอย่างชัดเจนทีเดียว


เรื่อง: ยีนส์​ อรุณรัตน์
อ้างอิง: Global Times / CNN