Thursday, 25 April 2024
รัสเซียยูเครน

ส่องท่าทีจีน​ ภายใต้วิกฤติ​ 'รัสเซีย-ยูเครน'​ กับความนิ่งสงบที่สยบทุกการเคลื่อนไหว

หลังจากที่รัสเซียได้ปล่อยระเบิดการเมืองโลกลูกโตด้วยการประกาศรับรองเอกราชให้กับ ​'แคว้นโดเนตสก์'​ และ 'ลูฮันสก์'​ เพื่อแยกตัวออกจากยูเครน พร้อมทั้งอนุมัติให้ส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้าไปในแคว้นดังกล่าว ก็เรียกได้ว่าสร้างความโกลาหลไปทั่วทั้งโลก​ ​จนต่างเริ่มกังวลว่าสงครามครั้งใหญ่อาจเกิดขึ้นในไม่ช้าจริงๆ

แรงกระเพื่อมนี้แรงจนทำให้องค์กรระดับโลก ทั้งองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) สหภาพยุโรป (EU) และสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติออกมาเคลื่อนไหวโดยพร้อมเพรียงกันในวันนี้ เพื่อสกัดการรุกรานของรัสเซียในดินแดนยูเครน

ด้านนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการแห่งองค์การสหประชาชาติเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยึดหลักตามข้อตกลง Minsk Agreements (2015) ที่ได้รับการรับรองโดยสมัชชาความมั่นคง ในการรักษาความสงบตลอดแนวชายแดนยูเครนตะวันออกที่มีข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลยูเครน และกลุ่มแบ่งแยกดินแดนโดเนตสก์และลูฮันสก์ 

ส่วนสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปเตรียมยกระดับมาตรการคว่ำบาตรสูงสุดต่อรัสเซียเพื่อเป็นการตอบโต้ความพยายามที่จะยึดครองดินแดนยูเครนผ่านการรับรองเอกราชของ 2 แคว้นในดินแดนยูเครนแล้ว 

อย่างไรเสีย​ ท่ามกลางความวุ่นวายนี้ หลายฝ่ายก็ได้จับจ้องไปที่ท่าทีของ​ 'จีน'​ ประเทศมหาอำนาจแห่งเอเชียและเป็นพันธมิตรอันแน่นแฟ้นกับรัสเซียว่าจะแสดงจุดยืนเช่นใดในวิกฤตินี้

โดยทางรัฐบาลจีนก็มิได้นิ่งเฉย ล่าสุดมีการพูดคุยทางโทรศัพท์ระหว่าง หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน และ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ เกี่ยวกับสถานการณ์ในยูเครน โดยทางจีนกล่าวว่าจะเคารพหลักการตามที่ประชุมองค์การสหประชาชาติ 

แต่ทั้งนี้ นาย จาง จุน เอกอัครราชทูตจีนประจำองค์การสหประชาชาติ ไม่ได้แสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อการตัดสินใจของรัสเซีย เมื่อเทียบกับพันธมิตรชาติตะวันตกอื่นๆ โดยได้แสดงความเห็นให้ทุกฝ่ายหาหนทางพูดคุยเพื่อหาทางออกที่เหมาะสม​ ด้วยการยึดหลักสันติวิธีจะดีกว่า เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งนี้มีสาเหตุจากหลายปัจจัยที่มีความซับซ้อนมาก และจีนพร้อมแสดงจุดยืนในทางออกที่เป็นผลดีกับทุกฝ่าย

‘รัสเซีย’ เดินหน้าปฏิบัติการทางทหาร ส่วน ‘ยูเครน’ ประกาศ กฎอัยการศึก!

ปูตินประกาศสงครามกับยูเครน พร้องสั่งลุยยกกองทัพรัสเซียบุกยูเครนเมื่อช่วงเช้าวันนี้ (24 กุมภาพันธ์ 2022) โดยทันทีที่รัสเซียเริ่มต้นปฏิบัติการทางทหาร ก็มีรายงานเสียงระเบิด และปืนดังขึ้นหลายเมืองทางชายแดนยูเครน รวมถึงชานเมืองเคียฟ เมืองหลวงของยูเครนด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ปูติน ได้กล่าวผ่านโทรทัศน์รวมการของรัสเซียว่า เขาได้จัดกองกำลังเพื่อป้องกันดินแดนของสาธารณรัฐประชาชน ‘โดเนสตก์’ และ ‘ลูฮันสก์’ ที่รัสเซียเพิ่งประกาศรับรองเอกราชจากยูเครนอย่างเป็นทางการเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยปูตินเคยเน้นย้ำว่า นี่เป็นกองกำลังเพื่อสันติ เพื่อปกป้องประชาชนทั้ง 2 แคว้นนี้จากการรุกรานและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยรัฐบาลยูเครน

อย่างไรก็ตาม ปูติน ยังคงปฏิเสธว่า เขาไม่ได้ต้องการที่จะบุกยึดยูเครน หากแต่ต้องการให้ทุกฝ่ายวางอาวุธ เพื่อให้ไม่เกิดการสูญเสียเลือดเนื้อ 

เหตุปฏิบัติการทางทหารอย่างดุดันของรัสเซียในครั้งนี้ เชื่อกันว่ามีเป้าหมายที่สำคัญนอกเหนือจากการตัดกำลังของกองทัพยูเครนทางภาคตะวันออก นั่นก็คือ การเปลี่ยนถ่ายอำนาจในรัฐบาลยูเครนที่มีแนวคิดนิยมเสรีตะวันตก และบีบให้ โวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ ผู้นำยูเครนคนปัจจุบันลาออก 

วิเคราะห์ ‘จุดจบ’ วิกฤตระดับโลก ‘รัสเซีย-ยูเครน’! | Click on Clear THE TOPIC EP.158

📌จับตาวิกฤตระดับโลก ‘รัสเซีย-ยูเครน’!! ไปกับ ‘อ.ดร.กิตติธัช ชัยประสิทธิ์’ นักวิชาการอิสระและอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ​ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง!!
📌ใน Topic : วิเคราะห์ ‘จุดจบ’ วิกฤตระดับโลก ‘รัสเซีย-ยูเครน’!

ในรายการ Click on Clear THE TOPIC จับประเด็น เน้นความรู้

ดำเนินรายการโดย ปริม กุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา PROGRAM DIRECTOR THE STATES TIMES

.

.

‘รัสเซีย-ยูเครน’ วิกฤตสะเทือนเศรษฐกิจทั่วโลก! | Click on Clear THE TOPIC EP.159

📌จับตา ‘รัสเซีย-ยูเครน’ จุดเริ่มต้นวิกฤตเศรษฐกิจโลก !! ไปกับ ‘ปริญญ์ พานิชภักดิ์’ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ !!
📌ใน Topic : ‘รัสเซีย-ยูเครน’ วิกฤตสะเทือนเศรษฐกิจทั่วโลก!

ในรายการ Click on Clear THE TOPIC จับประเด็น เน้นความรู้

ดำเนินรายการโดย ปริม กุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา PROGRAM DIRECTOR THE STATES TIMES

.

.

สอนมวยรัฐบาล! ‘อดีต รมว. คลัง’ ชี้ ‘รัฐบาล’ แก้ปัญหาแบบ ‘ปะผุ’ พร้อมสอนรับมือผลกระทบ ‘รัสเซีย-ยูเครน’ 

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ช่องยูทูปสภาที่ 3 ถึงผลกระทบที่ประเทศไทยจะต้องประสบจากการสงครามระหว่างประเทศรัสเซีย-ยูเครน ว่า ประเทศไทยควรจะต้องการวางแผน ในแง่ของเศรษฐกิจระดับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ( SME ) และในระดับรากหญ้า ที่ผ่านมาผลกระทบจากโควิดทำให้เราไม่สามารถ ที่จะฟื้นธุรกิจการท่องเที่ยวได้ดีเท่าที่ควร ตรงนี้เป็นปัญหาซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข

อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า เท่าที่ตนมองไปจนถึงสิ้นปี 2565 และอาจจะปีหน้าบางส่วน นโยบายของประเทศจีนที่ใช้ COVID Zero คือไม่ยอมให้มีการแพร่ระบาดของโควิดได้เลย พยายามจะหาทางเบรกแต่พอเบรกแล้ว ถ้ามีการแพร่ระบาดอีกก็ล็อกดาวน์ใช้มาตรการแบบเข้ม ซึ่งจีนจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ เพราะจำนวนคนของจีนเยอะมาก แต่จำนวนห้องของโรงพยาบาลน้อย เขาก็รู้ว่าถ้าจำนวนคนติดโควิดแพร่กระจาย ต่อให้มีจำนวนคนอาการหนัก เป็นสัดส่วนเปอร์เซ็นต์น้อย แต่จำนวนประชากรของเขาเยอะ ก็จะทำให้โรงพยาบาลรองรับไม่ได้ 

เพราะฉะนั้นโอกาสที่ไทยจะฟื้นเรื่องท่องเที่ยว ที่จะทำให้เกิดขึ้นมาโดยเร็ว จากตลาดใหญ่ที่สุดของไทย คือตลาดจีนนั้นทำได้ยาก ขณะนี้จะพบว่าไทยมีปัญหาเรื่องการส่งสินค้าเกษตรไปประเทศจีน ปัญหาที่มีมากคือการส่งลำไยอบแห้ง ซึ่งเป็นที่นิยมของคนจีนที่สั่งซื้อเป็นประจำ จำนวนการส่งออกของลำไยอบแห้ง ที่ทำในประเทศไทยคือ 100% ส่งออกถึง 70% ของจำนวนที่ผลิต แต่เวลานี้ส่งออกไม่ได้ เพราะประเทศจีนยังมีมาตรการต่างๆที่ทำให้ลำไยจากไทยไม่ได้ส่งไป

อดีต รมว.คลัง กล่าวต่อว่า นอกจากนี้อีกไม่กี่เดือนจะมีทุเรียนออกมาจำนวนแสนๆตัน ถ้าหากว่ายังไม่สามารถที่จะไปเคลียร์ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดจากเหตุผลอะไรก็ตาม ก็จะทำให้เกษตรกรของไทยมีปัญหาใหญ่ คือขายสินค้าไม่ได้ ในปีนี้เกษตรกรอาจจะพบว่าราคาสินค้าดีขึ้น เช่น อาจจะดีใจว่าราคาข้าวขยับขึ้นหน่อย ส่วนราคาข้าวโพดเวลานี้ก็นิ่ง ราคาสินค้าเกษตรอื่นๆเช่นน้ำมันปาล์มก็สูงขึ้น 

แม้อาจจะดีใจแต่ปัญหาคือเกษตรกรของไทย หาซื้อปุ๋ยได้ยากมีเงินบางทีก็ซื้อไม่ได้ ราคาปุ๋ยก็จะแพงเพราะฉะนั้นต้นทุนในเรื่องของการซื้อปุ๋ย ,ยาฆ่าแมลง จะพุ่งสูงขึ้น ต่อให้มีความสามารถในการขายสินค้าราคาสูงขึ้น แต่ต้นทุนก็จะสูงขึ้นมากกว่า ตรงนี้จะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับเกษตรกร ซ้ำซ้อนกับปัญหาในเรื่องท่องเที่ยวซึ่งยังไม่ฟื้นเพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นปัญหาใหญ่สำหรับประเทศไทย

“ส่วนการเตรียมตัววางแผนของรัฐบาลปัจจุบัน กรณีสงครามรัสเซียยูเครน ออกมาคล้ายกับสิ่งที่รัฐบาลทำในสมัยแรกๆของวิกฤตโควิด แทนที่จะไปดักทางปัญหาล่วงหน้า 3-5 ก้าว โดยคิดล่วงหน้าว่าตรงนี้ในอนาคตอีก 3-6 เดือนจะเกิดอะไรขึ้น แต่ที่ผ่านมาเราจะพบว่าวิกฤตโควิดเฉพาะในช่วงแรก รัฐบาลเดินตามหลังโควิดประมาณ 1-2 ก้าวตลอดเวลา โดยรอให้ตรงนี้เกิดขึ้นมาแล้วตามไปแก้ในลักษณะแบบปะผุ” อดีตรมว.คลัง ระบุ

อดีต รมว.คลัง กล่าวอีกว่า ลักษณะการทำงานแบบนี้ไม่ทันเหตุการณ์ ไม่ได้เตรียมตัวในการแก้ไขปัญหา แล้วปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับวิกฤต รัสเซีย-ยูเครน รัฐบาลไม่ได้วางกระบวนการคิดอ่านในการแก้ไขปัญหา ไว้ตั้งแต่เนิ่นๆตั้งแต่สงครามเริ่มต้น ก็จะช้าไปแล้ว แบบเดียวกับวัคซีนพอถึงเวลาตั้งใจว่าจะไปจองวัคซีน ก็ไม่ทันแล้วต้องไปต่อคิวตอนท้าย เพราะฉะนั้นในส่วนนี้ เห็นว่าในส่วนของรัฐบาลที่ผ่านมา การติดตามสถานการณ์ แล้วมาเล่าวิเคราะห์เน้นให้ประชาชน ผู้ประกอบการทั้งขนาดเล็กขนาดกลางขนาดใหญ่ ได้ตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มีน้อยมากเกินไป 

เปลี่ยนใจใน 9 ชั่วโมง! เปิดใจ ‘อาสามัครต่างชาติ’ เท ‘รบยูเครน’ หลัง ‘รัสเซีย’ ยิงขีปนาวุธถล่มฐานฝึก!

อาสาสมัครชาวต่างชาติที่เดินทางไปรบกับกองทัพรัสเซียหลายคนพากันหนีออกจากยูเครนหลังรัสเซียยิงขีปนาวุธถล่มฐานฝึกซ้อม เพราะไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจว่าจะเจอความเป็นจริงอันโหดร้ายของการทำสงครามกับกองทัพที่ทันสมัยของรัสเซีย

หลังจากประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประกาศรับสมัครอาสาสมัครต่างชาติมาช่วยรบกับรัสเซียก็มีช่าวต่างชาติจากกว่า 50 ประเทศ รวมทั้งสหรัฐ อังกฤษ และแคนาดาขันอาสากว่า 16,000 คน

ทว่าเมื่อวันที่ 13 มี.ค. รัสเซียยิงขีปนาวุธถล่มฐานฝึกซ้อมของอาสาสมัครเหล่านี้ในเมืองยาโวริฟใกล้กับชายแดนโปแลนด์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 35 รายส่วนใหญ่เป็นชาวยูเครน และบาดเจ็บอีก 134 รายตามตัวเลขของทางการยูเครน แต่รัสเซียอ้างว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่านี้

เหตุการณ์นี้ทำให้อาสาสมัครต่างชาติหลายคนที่ไม่พอใจเรื่องการจัดการที่ไม่ค่อยดี การขาดแคลนอาวุธและการฝึกซ้อม และการเซ็นสัญญาที่ไม่กำหนดเวลาสิ้นสุดที่ชัดเจนเป็นทุนเดิมกันอยู่แล้ว เริ่มเปลี่ยนใจกลับบ้านกันมากขึ้น

หนึ่งในนั้นคือ เจสเปอร์ โซเดอร์ (Jesper Söder) ชาวสวีเดนที่เล่าถึงการโจมตีเมื่อวันที่ 13 กับสำนักข่าว AP ว่า “นรกชัดๆ ทั้งเสียงยิง เสียงตะโกน ความหวาดกลัว ไหนจะระเบิดกับขีปนาวุธอีก”

หลังถูกโจมตีโซเดอร์และกลุ่มอาสาสมัครต่างชาติรวมทั้งชาวสแกนดิเนเวีย อังกฤษ และอเมริกันออกจากฐานฝึกซ้อมกลับไปยังชายแดนโปแลนด์

ทหารผ่านศึกชาวอเมริกันที่ใช้ชื่อว่า ฮิว (Hieu) ที่รอดชีวิตจากการถูกรัสเซียโจมตีเผยกับ Task & Purpose ว่า “ผมรอดเพราะขีปนาวุธตกใส่โครงสร้างที่แข็งแรงแทนที่จะเป็นเต็นท์ที่ผมอยู่ ยูเครนเสนอจะพาคนที่ไม่ต้องการรบแล้วหลังถูกขีปนาวุธถล่มกลับไปยังชายแดน”

ฮิวซึ่งเป็นอดีตพลรถถัง M1 Abrams ที่เคยไปรบที่อัฟกานิสถานเมื่อปี 2012 เล่าว่า อาสาสมัครที่อยู่ในเต็นท์เดียวกับเขา 23 คน มีเพียง 7 คนที่ตัดสินใจอยู่ต่อ

ส่วนในชุมชนออนไลน์ยอดฮิตอย่าง Reddit ผู้ใช้คนหนึ่งซึ่งลบบัญชีไปแล้วโพสต์คลิปให้เห็นสภาพหลังการโจมตีลงในฟอรัม “อาสาสมัครเพื่อยูเครน” พร้อมกับเตือนว่า ให้คิดดีๆ ก่อนไปยูเครน เพราะสถานการณ์แย่มาก

“ไปร่วมกับกองกำลังต่างชาติเลยพวก ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม แต่ให้คิดให้ดีว่าเคียฟจะแย่แค่ไหน แล้วก็รู้ไว้ด้วยว่ารัสเซียมีเครื่องบินรบ และพวกนายแทบจะไม่มีอะไรเลย แล้วจงยอมรับว่ามีโอกาสตาย พวกเราที่ออกมา รวมทั้งกองกำลังพิเศษจากหลายๆ ประเทศแค่ต้องการลดความเสี่ยง ไม่มีใครอยากตายในการต่อสู้ที่ไม่เป็นธรรมหรอก และหลังจากโดนขีปนาวุธถล่มอย่างหนักวันนี้ ผมอยากให้พวกคุณคิดให้ดีก่อนจะไป”

เจ้าของบัญชีรายนี้ระบุอีกว่า “มีชาวต่างชาต 60 คนรวมทั้งผมออกมาหลังถูกโจมตี พวกเขาส่งคนที่ไม่เคยฝึกซ้อมไปแนวหน้าโดยมีกระสุนน้อยนิดกับอากาห่วยๆ แล้วคนพวกนี้ก็ถูกฆ่า...พวกที่ยังอยู่จะถูกส่งไปที่เคียฟและอีกหลายคนจะต้องตาย กองกำลังต่างชาติมีกำลังคนน้อยกว่า และมีผู้นำยูเครนบ้าๆ อีก 2-3 คนเท่านั้น”

เช่นเดียวกับ เจค ไพรเดย์ (Jake Priday) ครูจากเมืองคาร์ดิฟฟ์ของอังกฤษบอกกับ The Economist ว่า เขาออกมาจากยูเครนหลังไปเหยียบที่นั่นได้เพียง 9 ชั่วโมง หลังจากทราบว่าจะต้องเซ็นสัญญาที่ผูกกับกฎอัยการศึกซึ่งกำหนดให้พวกเขารบโดยไม่มีกำหนดตายตัว โดยไม่มีการอธิบายขยายความใดๆ จากยูเครน

“สำหรับผมมันคือการหลอกลวง” ครูวัย 25 ซึ่งผ่านการเป็นทหารมาแล้วเผย “พวกเขาขายฝันให้คุณ คุณสามารถช่วยชาวยูเครน! แล้วจากนั้นคุณกลับถูกส่งตัวไปยังที่ที่แย่ที่สุดในสมรภูมิ”

ไพรเดย์ยังกังวลว่าหากถูกรัสเซียจับตัวไปจะเกิดอะไรขึ้น เพราะก่อนหน้านี้รัสเซียประกาศเตือนว่านักรบต่างชาติจะถูกดำเนินคดีในฐานะอาชญากร เจสัน เฮ (Jason Haigh) อดีตแพทย์ทหารที่เคยไปรบในอิรักเผยกับ The Sun เมื่อช่วงต้นเดือนว่า เขาออกมาจากยูเครนแล้วหลังจากเผชิญหน้ากับกองกำลังทหารและยุทโธปกรณ์ของรัสเซียระหว่างสู้รบที่เมืองอันโตนอฟในช่วงแรกๆ ของสงครามยูเครน

อดีตแพทย์ทหารวัย 34 ถูกฝูงเครื่องบินเจ็ตของรัสเซียยิงจรวดใส่ระหว่างร่วมกับกองทัพยูเครนมุ่งหน้าไปยังสนามบินฮอสโตเมลในกรุงเคียฟ ก่อนที่เฮลิคอปเตอร์โจมตีของรัสเซียอีกฝูงหนึ่งจะตามมาสมทบ

เขาเล่าว่า “ทันใดนั้นประตูนรกก็เปิดรอต้อนรับพวกเรา พวกเราเกือบถูกถล่ม ผมไม่เคยเจอการยิงที่มีอานุภาพขนาดนี้มาก่อน และไม่คิดว่าคนในยุคนี้เคยเห็นเหมือนกัน อิรักกับอัฟกานิสถานแตกต่างอย่างสิ้นเชิง กองทัพรัสเซียทันสมัยมาก”

เฮเล่าอีกว่าหลังการสู้รบ เขากับเพื่อนชาวอเมริกันอีก 1 คนถูกเจ้าหน้าที่ยูเครนคุมตัวและทุบตีจนสะบักสะบอมเพราะคิดว่าเป็นฝ่ายรัสเซียและถูกนำตัวไปสอบสวนที่ฐาน 3 ชั่วโมง แต่สุดท้ายก็ถูกปล่อยตัวออกมา เขาตัดสินใจขึ้นรถไฟหนีไปยังเมืองลวิวก่อนจะข้ามชายแดนเข้าโปแลนด์

‘ทรัมป์’ ชี้ ‘รบ.สหรัฐฯ’ ควรหยุดทุ่มงบให้ ‘สงครามที่ไม่รู้จบ’ ลั่น!! ถ้าชนะเลือกตั้ง จะยุติสงครามยูเครนภายในวันเดียว

(6 มี.ค. 66) อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ประกาศกลางที่ประชุมกลุ่มผู้สนับสนุนสายอนุรักษนิยมเมื่อวันเสาร์ (4 มี.ค.) ว่า…

‘สงครามโลกครั้งที่ 3’ จะไม่เกิดขึ้นแน่นอน หากตนได้เป็นผู้นำสหรัฐฯ อีกครั้งในปี 2024 พร้อมคุยว่า สามารถจบสงครามยูเครนได้ ‘ภายในวันเดียว’

ทรัมป์ ในวัย 76 ปี ให้คำมั่นสัญญาว่า เขาและผู้สนับสนุนจะไม่ปล่อยให้พรรครีพับลิกันถูกครอบงำโดย ‘พวกบ้าคลั่งและโง่เง่า’ ที่พาสหรัฐฯ เข้าไปพัวพันกับ ‘สงครามที่ไม่รู้จบในต่างประเทศ’

อดีตผู้นำสหรัฐฯ ระบุด้วยว่า วอชิงตันควรหยุดทุ่มงบประมาณนับพัน ๆ ล้านดอลลาร์ เพื่อปกป้องยูเครนได้แล้ว และหากเขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีก็จะทำให้สงครามยูเครน ‘จบลงภายในวันเดียว’ และจะเรียกร้องให้ชาติพันธมิตรองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ‘จ่ายต้นทุนของสงคราม’ ให้มากขึ้นด้วย

“คุณไม่สามารถทุ่มเงินเป็นแสน ๆ ล้านดอลลาร์ เพื่อปกป้องกลุ่มคนที่ก็ไม่ได้ชื่นชอบเราสักเท่าไหร่ และถ้าเป็นในทางธุรกิจ ถ้าคุณยอมจ่ายมากขนาดนั้น คุณต้องบอกพวกเขาเลยว่า ถ้าชนะ ประเทศคุณครึ่งหนึ่งต้องเป็นของเรา”

‘IMF-ยูเครน’ บรรลุข้อตกลง กู้ 1.56 หมื่นล้านดอลลาร์ ช่วยฟื้นประเทศ หลังตกอยู่ในภาวะสงครามกว่า 1 ปีเต็ม

(22 มี.ค. 66) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ (IMF) บรรลุข้อตกลงกับยูเครนแล้ว เรื่องสินเชื่อมูลค่า 15,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 538,566 ล้านบาท) เพื่อนำไปช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจยูเครนที่ตกอยูในภาวะสงครามมานานกว่า 1 ปี

นายแกวิน เกรย์ หัวหน้าทีมภารกิจยูเครนของไอเอ็มเอฟ แถลงว่า…

“นอกเหนือจากความสูญเสียด้านมนุษยธรรมอย่างน่ากลัวแล้ว การที่รัสเซียรุกรานยูเครนยังคงส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของยูเครน สินเชื่อระยะ 4 ปีนี้จะช่วยการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่กำลังดำเนินอยู่อย่างช้า ๆ และส่งเสริมการเติบโตระยะยาวในการบูรณะประเทศหลังสงคราม รวมถึงการที่ยูเครนกำลังเดินหน้าเข้าสู่การเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หรืออียู (EU) คณะกรรมการไอเอ็มเอฟจะพิจารณาอนุมัติสินเชื่อดังกล่าวในอีกไม่กี่สัปดาห์” นายเกรย์ กล่าว

นายเกรย์ระบุว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของยูเครนลดลงถึงร้อยละ 30 ในปี 2565 มีคนยากจนเพิ่มขึ้น และสูญเสียเงินทุนจำนวนมาก ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจยูเครนจะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ใน 2-3 ไตรมาสนี้ เนื่องจากมีการดำเนินกิจกรรมอีกครั้ง หลังจากโครงสร้างพื้นฐานสำคัญเสียหายหนัก แต่ความท้าทายฉับพลันด้านเศรษฐกิจมหภาคยังคงมีอยู่ เนื่องจากมียอดขาดดุลการคลังที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันและกินวงกว้าง


ที่มา : https://www.naewna.com/inter/719095

‘รัสเซีย’ ฉะ ‘UK’ กรณีส่งกระสุนยูเรเนียมให้ ‘ยูเครน’ ชี้ อาจส่งผลให้สงครามบานปลายและร้ายแรงกว่าเดิม

(24 มี.ค. 66) เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ในวันพฤหัสบดี (23 มี.ค.) ปฏิเสธเสียงคร่ำครวญของรัสเซีย เกี่ยวกับคำแถลงของสหราชอาณาจักร ที่บอกว่าจะส่งกระสุนที่มียูเรเนียมด้อยสมรรถนะเป็นส่วนประกอบให้แก่ยูเครน ยัน เป็นไปตามกฎระเบียบและกฎหมายระหว่างประเทศ

รัสเซียเมื่อวันพุธ (22 มี.ค.) ออกมาเตือนเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ลุกลามบานปลายอย่างร้ายแรงในวิกฤตยูเครน หากว่าลอนดอนมอบกระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะที่มีประสิทธิภาพเจาะเกราะให้แก่เคียฟ

เมื่อถูกถามเกี่ยวกับแผนของสหราชอาณาจักรและเสียงโวยวายจากรัสเซีย ทางสโตลเทนเบิร์ก ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี ว่า “บรรดาพันธมิตรนาโต้กำลังปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และกฎหมายระหว่างประเทศในทุก ๆ อย่างที่พวกเขาทำในการสนับสนุนยูเครน”

“สิ่งอันตรายที่สุดคือสงคราม ซึ่งกำลังเข่นฆ่าหลายพันชีวิต” เขากล่าว ณ พิธีเปิดปฏิบัติการฝูงบินเครื่องเติมเชื้อเพลิงทางอากาศ กองบินใหม่ของนาโต้-อียู ที่ฐานทัพอากาศแห่งหนึ่งในเนเธอร์แลนด์ “สำหรับประธานาธิบดีปูติน การหยุดสงครามคือสิ่งสำคัญที่สุดที่สามารถทำได้เพื่อลดความเสี่ยงต่าง ๆ”

แอนนาเบล โกลดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมของสหราชอาณาจักร ยืนยันเมื่อวันจันทร์ (20 มี.ค.) ว่าสหราชอาณาจักรจะมอบกระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะแก่ยูเครน โลหะหนักที่จะช่วยให้กระสุนสามารถเจาะทะลวงเหล็กได้ง่ายกว่าเดิม

มาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุสปุตนิกในวันพุธ (22 มี.ค.) เน้นย้ำว่าถ้อยแถลงของลอนดอน คือสัญญาณแห่ง ‘การขาดความยั้งคิด ไร้ความรับผิดชอบ และลอยนวลพ้นผิด’ ของสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรในเรื่องของกิจการระหว่างประเทศต่าง ๆ

เธอเน้นย้ำว่า กระสุนที่มียูเรเนียมด้อยสมรรถนะเป็นส่วนประกอบไม่ใช่แค่ทรงพลานุภาพมากกว่าและศักยภาพในการเจาะทะลุทะลวงมากกว่า แต่มันยังก่อการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีในดิน สร้างความเสียหายระยะยาวแก่สิ่งแวดล้อม และส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวไปอีกหลายชั่วอายุคน

ส่วน เซียร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซีย กล่าวว่า การใช้กระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะ จะเป็นการก้าวสู่สถานการณ์ที่ลุกลามบานปลายอีกก้าวและเป็นย่างก้าวที่ร้ายแรง พร้อมระบุมันจะลดศักยภาพของยูเครนในการผลิตอาหารคุณภาพสูงที่ไร้การปนเปื้อน

‘อียู’ ให้คำมั่น พร้อมช่วยเหลือเด็กยูเครนนับหมื่นคน ให้ได้กลับบ้านเกิด หลังถูกรัสเซียลักพาตัวในภาวะสงคราม

(25 มี.ค. 66) สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า เมื่อวันที่ 24 มี.ค.66 นางอัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป แถลงว่า จะจัดการประชุมเพื่อรับประกันการส่งคืนเด็ก ๆ ชาวยูเครนที่ถูกรัสเซียลักพาตัวไปประเทศในระหว่างที่สงครามการรุกรานอธิปไตยยูเครนยังดำเนินอยู่

“สิ่งนี้เป็นเครื่องเตือนใจที่น่ากลัวถึงช่วงเวลามืดมนที่สุดในประวัติศาสตร์ของเรา เกิดอะไรขึ้นที่นั่นในการพาตัวเด็ก ๆ ไป นี่เป็นอาชญากรรมสงคราม” นางไลเอินกล่าวหลังการประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) 

ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นหลังจากศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ออกหมายจับ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย เมื่อวันที่ 17 มี.ค.66 ในข้อกล่าวหาก่ออาชญากรรมสงคราม จากกรณีส่งเด็กยูเครนมากกว่า 16,000 คน ออกนอกประเทศอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งทางการยูเครนระบุว่า มีเด็กจำนวนมากถูกส่งไปอยู่ในสถานสงเคราะห์และบ้านอุปถัมภ์

นางไลเอินกล่าวอีกว่า จะทำงานร่วมกับนายกรัฐมนตรีมาแตอุช ยากุป มอราวีแยตสกี ผู้นำโปแลนด์ เพื่อระดมความช่วยเหลือจากนานาชาติสำหรับพาเด็ก ๆ ชาวยูเครนกลับประเทศบ้านเกิด


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top