สุดยอด! ‘7 อาหารบำรุงหัวใจ’ ให้แข็งแรง ในเดือนแห่งความรัก!! 

เดือนกุมภาพันธ์ถือเป็นเดือนแห่งความรัก มองไปทางไหนก็เห็นแต่ผู้คนยิ้มแย้มมีความสุข เมื่อเราตกหลุมรักใครสักคน สารแห่งความสุข (โดปามีน) จะถูกหลั่งออกมา ทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปทั่วร่างกาย ส่งผลให้รู้สึกกระชุ่มกระชวย ผิวพรรณเปล่งปลั่ง แก้มมีสีชมพู 

ในขณะเดียวกัน หัวใจเป็นอวัยวะที่ไม่มีช่วงเวลาหยุดพัก แม้แต่ขณะนอนหลับ หัวใจยังคงทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายตลอดเวลา ดังนั้นควรดูแลหัวใจให้แข็งแรงและทำงานอย่างปกติ ด้วยการรับประทานสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อหัวใจ ดังนี้ 

1.) ปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรล เป็นแหล่งของโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นกรดไขมัน ไม่อิ่มตัวมีส่วนช่วยในการทำงานของหัวใจ ช่วยลดระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ ลดความดันโลหิต ลดการ จับตัวของลิ่มเลือด จึงช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง โดยสมาคมโรคหัวใจแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาให้คำแนะนำว่าควรรับประทานปลาสัปดาห์ละ 2 ครั้ง

2.) ผัก 5 สี ประกอบด้วยกากใยอาหาร วิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์หลากหลายชนิด เช่น วิตามินเค ลูทีน เบตาแคโรทีน โฟเลท เป็นต้น ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ อีกทั้งทำให้ร่างกายแข็งแรง ผิวพรรณสดใส ชะลอความแก่ชรา 
-  ผักที่มีสีเขียว เช่น กะหล่ำปลี, บรอกโคลี, คะน้า, หน่อไม้ฝรั่ง, ผักโขม, ถั่วลันเตา
-  ผักที่มีสีแดง เช่น มะเขือเทศ, พริกแดง, หอมแดง
-  ผักที่มีสีม่วง เช่น มะเขือม่วง, กะหล่ำปลีสีม่วง
-  ผักที่มีสีเหลืองและสีส้ม เช่น แคร์รอต, ฟักทอง, มันเทศ, มันฝรั่งหวาน, พริกเหลือง
-  ผักที่มีสีขาว เช่น ขิง, กระเทียม, ผักกาดขาว, หัวไชเท้า, ดอกกะหล่ำ, ดอกแค, เห็ด

3.) ผลไม้ตระกูลเบอร์รี เช่น บลูเบอร์รี, ราสป์เบอร์รี, แบล็คเคอร์แรนท์, แบล็กเบอร์รี, แครนเบอร์รี, มัลเบอร์รี, สตรอว์เบอร์รีหรือกูสเบอร์รี อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เบตาแคโรทีน ลูทีน วิตามินซี โฟเลท และใยอาหาร ถ้าได้รับประทานผลไม้ตระกูลเบอร์รีเป็นประจำสามารถช่วยลดความดันโลหิต และลดความเสี่ยงอาการหัวใจวาย 32 %

4.) ถั่วเปลือกแข็งชนิดต่าง ๆ เช่น ถั่วลิสง, อัลมอนด์, วอลนัต, ถั่วพิสตาชิโอ, เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ประกอบด้วยไขมันไม่อิ่มตัวและสารอาหารอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยสมาคมโรคหัวใจแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาให้คำแนะนำว่าควรรับประทานถั่วปริมาณ 1 กำมือ สัปดาห์ละ 4 ครั้ง โดยหลีกเลี่ยงการทอดด้วยน้ำมันและไม่โรยเกลือ จะมีส่วนช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่อาจนำไปสู่ภาวะหัวใจขาดเลือดจนเป็นอันตรายถึงชีวิต

5.) ชาเขียว อุดมไปด้วยสารโพลีฟีนอล ช่วยลดการอักเสบ, คอเลสเตอรอล, ไขมันชนิดไม่ดี, ไตรกลีเซอไรด์และระดับน้ำตาลในเลือด โดยมีการศึกษาพบว่าผู้ที่ดื่มชาเขียวชนิดไม่เติมน้ำตาล 1-2 แก้วต่อวัน ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจขาดเลือด

6.) ธัญพืชต่าง ๆ เช่น ลูกเดือย, งาดำ, ควินัว, เมล็ดแฟลกซ์, เมล็ดเจีย, เมล็ดทานตะวัน, เมล็ดฟักทอง อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหารสูง มีทั้งวิตามิน แร่ธาตุ ไฟโตนิวเตรียนท์ เส้นใยอาหาร สารต้านอนุมูลอิสระ และมีไขมันดี ช่วยลดคอเลสเตอรอลในร่างกาย ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดแข็งตัว ทำให้หัวใจแข็งแรงขึ้นอีกด้วย

7.) ดาร์กช็อกโกแลต อุดมไปด้วยโพลีฟีนอลซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดความดันโลหิต ลดการแข็งตัวของเลือด รวมถึงช่วยลดอาการหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมองผู้ที่มีความเสี่ยงสูงได้ ทั้งนี้แนะนำให้เป็นดาร์กช็อกโกแลตที่ผลิตจากโกโก้ 60-70% จึงจะได้ประโยชน์สูงสุด

จะเห็นได้ว่าอาหารมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ แต่ต้องรู้จักเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลายในปริมาณที่เหมาะสม นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีปริมาณไขมันอิ่มตัวหรือไขมันทรานส์สูง, งดอาหารที่มีรสหวานหรือเค็มจัด, งดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์, ออกกำลังกายเป็นประจำ, เรียนรู้เรื่องการจัดการความเครียด, ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมและหมั่นตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำทุกปีเพราะนอกจากจะช่วยให้หัวใจแข็งแรงแล้ว สุขภาพร่างกายโดยรวมก็จะดีขึ้นด้วย


เอกสารอ้างอิง
- World Health Organization.Global atlas on cardiovascular disease prevention and control. Geneva: 2015.
- อังคณา ศุภกิจวณิชโชค. กินดื่มต้านคอเลสเตอรอล ความดัน โรคหัวใจ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์ Cuisine.
- ณัฏฐพัชร ชัยปกรณ์วงศ์. กินเป็น บำบัดโรค The Nutrition Talk. กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดบุ๊ค


ติดตามผลงานอื่นๆ ของ THE STATES TIMES ได้ที่
TikTok > https://www.tiktok.com/@thestatestimes