‘เพื่อไทย’ ซัด 8 ปี รัฐบาลประยุทธ์ล้มเหลว ทำการเมืองพัง - ศก.เหลว - ไร้คำตอบส่วนต่างวัคซีน

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย อภิปรายถึงปัญหาการบริหารราชการแผ่นดินและการปฏิรูปประเทศว่า 8 ปีที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์บริหารประเทศล้มเหลว สร้างวิกฤตการเมือง นำพาแต่หายนะทางเศรษฐกิจ จนประชาชนเดือดร้อนกันถ้วนหน้า พร้อมตั้งคำถาม ‘ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่พลเอกประยุทธ์จะลาออก-ยุบสภาคืนอำนาจให้แก่ประชาชน?’

>> เศรษฐกิจพัง ประชาธิปไตยหาย: ขโมยอำนาจไป แต่บริหารบ้านเมืองไม่เป็น 
จากการที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาบริหารบ้านเมืองด้วยอำนาจจากปลายกระบอกปืน ก่อนจะประกอบร่างสร้างอำนาจตนเองด้วยการออกแบบรัฐธรรมนูญ 2560 จนนำมาสู่การสั่งสมอำนาจ ผ่านสมาชิกวุฒิสภาและองค์กรอิสระได้สำเร็จนั้น สะท้อนได้ว่ารัฐธรรมนูญไทยปัจจุบันนั้นกำลังขัดแย้งกับประชาธิปไตยสากลอย่างชัดเจน 

นั่นจึงหมายความว่า ประชาชนคนไทยต้องทุกข์ทนกับวิกฤตการเมืองมาตลอดตั้งแต่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาบริหารประเทศบ้านเมือง โดยประเสริฐระบุว่า “ในยุครัฐธรรมนูญ 2560 ของพลเอกประยุทธ์ถือเป็นครั้งแรกที่พรรคการเมืองทำสัญญากับประชาชนผ่านนโยบายหาเสียง แต่เมื่อได้อำนาจแล้วกลับไม่ทำตามสัญญา ไม่ว่าจะเป็น สัญญาให้ค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาท, เด็กจบใหม่ ป.ตรี ขั้นต่ำ 20,000 บาท อาชีวะ ขั้นต่ำ 18,000 บาท หรือ ลดภาษีให้กับบุคคลธรรมดา 10%” 

8 ปีที่ผ่านมา การบริหารเศรษฐกิจของประเทศก็มีแต่ตกต่ำและถดถอยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะช่วงวิกฤตโควิด-19 ขณะที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์มุ่งทำคือ มีแต่ก่อหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อหนี้สาธารณะสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ยอดหนี้สาธารณะก็ใกล้ชนกับเพดานที่กำหนดไว้ ดังนั้น วิธีแก้ของพลเอกประยุทธ์จึงเป็นการขยายสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีให้สูงขึ้นแทน ซึ่งผลที่ตามมาคือ หนี้ครัวเรือนและหนี้ต่อหัวของประชากรสูงขึ้นตามไปด้วย 

โดยเฉพาะสัดส่วนความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน โดยตัวเลขจากกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ระบุว่า ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งสูงที่สุดในโลก กล่าวคือคนรวยเพียง 10% ถือครองทรัพย์สินมากถึง 77% 

“ตั้งแต่ที่ท่านเข้ามาบริหารประเทศเศรษฐกิจของประเทศก็ทรุดต่ำลงเรื่อยๆ ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนคนรวยสูงขึ้นโดยลำดับ กลุ่มทุนขนาดใหญ่นับวันจะรวยขึ้น แต่ประชาชนระดับฐานรากกลับจนลงทุกวัน เมื่อมาเจอปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็ยิ่งทำให้เศรษฐกิจดิ่งเหวลงไปอีก ท่านไม่มีมาตรการหรือวิธีการใด ที่จะกอบกู้ระบบเศรษฐกิจให้กลับคืนมาได้เลย เพราะต้นตอของปัญหาของเรื่องนี้คือ การเอาผู้นำทหารที่ไม่มีความรู้ในเรื่องเศรษฐกิจมาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” ประเสริฐกล่าว

>> ‘ทุจริตถุงมือยาง’ - ‘ส่วนต่างวัคซีนโควิด’ ยังไร้คำตอบ 
นอกจากวิกฤตการเมืองพัง เศรษฐกิจไทยล้มเหลว การบริหารบ้านเมืองของพลเอกประยุทธ์ก็มีแต่การทุจริตกันอย่างกว้างขวาง จนประเสริฐกล่าวว่า “เป็นยุคที่คอร์รัปชันเบ่งบานมากที่สุดยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์” โดยเห็นได้ชัดจากการจัดอันดับความโปร่งใส Corruption Perception Index (CPI) ที่จัดทำขึ้นทุกปี พบว่าอันดับของไทยตั้งแต่ 2557 มีคะแนนตกลงเรื่อยๆ และในปี 2564 ที่ผ่านมา ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่อันดับที่ 110 จากทั้งหมด 180 ประเทศ 

สอดคล้องกับกลไกการทำงานตรวจสอบและปราบปรามการทุจริตที่ไม่มีความเป็นกลางและเต็มไปด้วยอคติ โดยประเสริฐได้ตั้งคำถามถึงกรณีการทุจริตถุงมือยางขององค์การคลังสินค้า กระทรวงพาณิชย์ ที่มีการเบิกเงินออกจากบัญชี 2,000 ล้านบาท แต่ยังหาผู้รับผิดชอบไม่ได้ ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์กลับกล่าวอ้างว่า ‘ตนมีหน้าที่เป็นเพียงบุรุษไปรษณีย์’ 

ยังไม่นับรวมกรณีการจัดซื้อซิโนแวคของกระทรวงสาธารณสุขที่ซื้อจริงราคาโดสละ 9 เหรียญสหรัฐ แต่ทำเรื่องอนุมัติต่อ ครม.จัดซื้อในราคาโดสละ 17 เหรียญสหรัฐ เงินส่วนต่างจำนวนมหาศาล เพราะท่านจัดซื้อวัคซีนนี้ไม่น้อยกว่า 30 ล้านโดส จึงเป็นที่ไปที่มาว่า ทำไมต้องฉีดวัคซีนเข็มแรกเป็นซิโนแวค

>> สิงหาคมนี้ ถึงเวลายุบสภา - คืนอำนาจแก่ประชาชน
สุดท้ายนี้ ประเสริฐตั้งคำถามต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่บริหารประเทศชาติล้มเหลวมาโดยตลอด ว่า ‘พลเอกประยุทธ์จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยอย่างไร’ ‘รัฐบาลจะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนอย่างไร’ และ ‘วิกฤตการเมือง ณ ขณะนี้ รัฐบาลจะสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนอย่างไร’ ซึ่งหากพลเอกประยุทธ์ยังไม่สามารถหาคำตอบและมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ 

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่นั่งบริหารประเทศชาติตั้งแต่ปี 2557 และจะครบวาระในสิงหาคมนี้ ก็ควรจะยุบสภาและลาออก คืนอำนาจให้แก่ประชาชนเสีย ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 ที่ระบุไว้ว่า ‘นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้ว เกิดแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่’ และ มาตรา 264 ‘ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ และให้นำความในมาตรา 263 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยโดยอนุโลม’

“เพราะหากดูจากสถานการณ์ในตอนนี้ ท่าน (พลเอกประยุทธ์) ควรยุบสภาเพื่อให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ น่าจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติมากกว่า ผมขอฝากคำถามและข้อเสนอแนะทั้งหมด เพื่อให้ท่านนายกรัฐมนตรีได้นำไปพิจารณาต่อไป” ประเสริฐ กล่าวทิ้งท้าย