‘ก้าวไกล’ จี้รัฐใช้ ‘กองทุนฟื้นฟูฯ’ แก้โครงสร้างหนี้เกษตรกร พร้อมแนะ ‘นโยบายเกษตรวิถีก้าวไกล’ เป็นทางออกควบคู่

‘คำพอง’ จี้ ภาครัฐใส่ใจแก้ปัญหา ‘หนี้ชาวนา’ เผย กลไก ‘กองทุนฟื้นฟูฯ’ ช่วยปรับโครงสร้างหนี้ได้มาก แต่ต้องเร่งทำกว่านี้ ด้าน ‘เดชรัต’ สะท้อน เกษตรกรไทยยังขาดกลไกรองรับแบบใกล้ชิด แนะใช้ ‘นโยบายเกษตรวิถีก้าวไกล’ เป็นทางออก

ต่อกรณีที่ กลุ่มเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย (คนท.) เคลื่อนขบวนไปปักหลักชุมนุมบริเวณใกล้ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งรัดแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร โดยมีข้อเรียกร้องสำคัญ คือขอให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้ชะลอการฟ้องบังคับคดียึดทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สินของสมาชิก และเร่งดำเนินการโอนหนี้สินเข้าสู่กระบวนการการจัดการหนี้สินของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) พร้อมกับขยายเพดานวงเงินการซื้อหนี้ NPA จาก 2.5 ล้านบาท เป็น 5 ล้านบาทเพื่อออกเป็นมติ ครม. นั้น

นายคำพอง เทพาคำ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ขอให้กำลังใจพี่น้องเกษตรกรที่กำลังต่อสู้กับภาระหนี้สินทุกๆ คน หนี้สินเหล่านี้ต้องบอกว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างอันเนื่องมาจากการมีรัฐบาลที่ไม่เคยใส่ใจปัญหาของพี่น้องเกษตรกรมาอย่างยาวนาน ปล่อยละเลยให้ต้องเผชิญชะตากรรมและแบกรับผลกระทบจากนโยบายเกษตรแบบทิ้งๆ ขว้างๆ เรื่อยมา ตนเองเป็นเกษตรกรก่อนจะมาเป็นผู้แทนราษฎรจึงรู้สภาพปัญหาเหล่านี้ดี

“รัฐบาลบอกเสมอว่าลดต้นทุนการผลิตสิ แต่ไม่เคยช่วยอย่างจริงจังอะไรเลย ทุกวันนี้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นทุกอย่าง น้ำไม่มีต้องไปหา ค่าปุ๋ยไม่ต้องพูดถึงแพงมากโดยที่รัฐแทบไม่ได้ช่วย สวนทางกับราคาพืชผลการเกษตรที่มีแต่ต่ำลงๆ ภาพแบบนี้เกิดขึ้นวนเวียนจนเป็นวงจรหนี้ของเกษตรกรตามมาด้วยดอกเบี้ยสถาบันการเงิน ยิ่งถมทับมากขึ้นๆ ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายกลายเป็นมากกว่าเงินต้น แล้วแบบนี้พวกเขาจะลืมตาอ้าปากได้อย่างไร ยิ่งในสองปีที่ผ่านมา ยังต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้รายได้นอกภาคเกษตรลดลงอีก เมื่อก่อนยังมีเงินจากลูกหลานที่ออกไปทำงานในกรุงเทพฯ ส่งกลับมาจุนเจือได้ ตอนนี้ก็ลำบากเหมือนกัน บางคนต้องกลับมาบ้าน แต่งานใหม่ก็ยังไม่มี ผมจึงอยากให้รัฐบาลฟังเสียงเรียกร้องของเกษตรและชาวนาเพื่อตัดสินใจทางนโยบายที่เหมาะสมโดยเร็วด้วย 

“ผมคิดว่าหลังสถานการณ์โควิด ข้อเรียกร้องการพักหนี้ ชะลอหนี้ หรือการเยียวยาเป็นสิ่งที่รับฟังได้ พี่น้องเกษตรกรได้รับผลกระทบไม่แตกต่างๆ จากกลุ่มอื่น พวกเขาควรได้รับความเห็นใจจากรัฐบาลในการเจรจาหรือช่วยพยุงสถานทางเศรษฐกิจไม่ให้ทรัพย์สินของเขาถูกยึด ขณะเดียวกัน การปรับโครงสร้างหนี้ด้วยการซื้อหนี้จากสถาบันการเงินไปให้กองทุนฟื้นฯ ดูแลต่อ เพื่อให้พวกเขาจ่ายหนี้ได้ยาวขึ้น ดอกเบี้ยต่ำลง ทรัพย์สินไม่สูญหาย พอจ่ายได้จนครบก็ได้รับที่ดินกลับคืน นี่เป็นแนวทางที่แก้ปัญหาได้จริง แต่เท่าที่ทราบ ที่ผ่านมากองทุนฟื้นฟูได้รับงบประมาณน้อย ไม่มีเงินไปซื้อหนี้ได้มากนัก จนทำให้คิวยาว พอมากเข้าเป็นล็อตใหญ่ก็อาจสร้างความกังวลให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้ เมื่อภาครัฐเห็นปัญหาแบบนี้ก็ควรต้องเร่งเข้ามาช่วยเหลือช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อทำให้การโอนหนี้ไปให้กองทุนฟื้นฟูฯ ทำได้คล่องตัว หลังจากนั้นจะต้องมีการบริหารจัดการที่ดีเพื่อทำให้กองทุนเป็นกลไกปกติที่เกษตรกรสามารถพึ่งพาได้เหมือนการรีไฟแนนซ์ในธุรกิจอื่น” คำพอง ระบุ 

ด้าน เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต พรรคก้าวไกล (Think Forward Center : TFC)  กล่าวว่า ที่ผ่านมา กองทุนฟื้นฟูฯ มีข้อจำกัด คือการได้รับจัดสรรทรัพยากรในการชำระหนี้แทนเกษตรกรน้อย ปี 2560-2563 กองทุนฯ สามารถชำระหนี้แทนเกษตรกรได้เฉลี่ยปีละ 320 ราย คิดเป็นวงเงินโดยเฉลี่ย 105 ล้านบาท/ปี เท่านั้น ซึ่งหากรัฐบาลสามารถจัดสรรงบประมาณเพื่อการชำระหนี้แทนเกษตรกรได้ เกษตรกรก็จะสามารถปรับโครงสร้างหนี้ และเข้าสู่แผนฟื้นฟูของกองทุนฯ ได้มากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ เดชรัต ยังกล่าวด้วยว่า จากสถานการณ์โควิด สถานการณ์หนี้สินเกษตรกรยิ่งน่าเป็นห่วงขึ้น โดยหนี้สินเกษตรปี 2564 เมื่อเทียบกับ ปี 2562 พบว่า เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 22 ขณะที่รายได้เกษตรลดลงถึงร้อยละ 27 เป็นภาวะที่สวนทางกันคือรายได้ลดแต่หนี้เพิ่มขึ้น และหากดูที่ศักยภาพของลูกหนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) จะพบว่า มีลูกหนี้ที่มีศักยภาพในการใช้หนี้ต่ำมากถึงร้อยละ 41 คือราว 2 ล้านคน ปัญหาหนี้สินเกษตรกรจึงเป็นปัญหาที่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญและเร่งจัดการ

สำหรับแนวทางออก เดชรัต กล่าวว่า จำเป็นต้องใช้หลายมาตรการ โดย TFC มีข้อเสนอเรื่อง ‘นโยบายเกษตรกรวิถีก้าวไกล’ ที่จะต้องทำ 3 ปลดล็อก, 3 เปิดตลาดท้องถิ่น, 3 ยกระดับมาตรฐาน, 3 ส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และ 3 กำกับดูแล 

“3 ปลดล็อก คือ การปรับโครงสร้างหนี้ คือเข้าไปบริหารจัดการหนี้ไม่ให้เป็นหนี้เสีย ทำให้เขาสามารถชำระหนี้ได้ระยะยาว ต่อมา เรื่องการรับซื้อหนี้ ก็คือแบบเดียวกันกับที่กลุ่มเครือข่ายหนี้สินชาวนาเรียกร้อง ทางเราก็เสนอเช่นกัน ที่ผ่านมาถือว่าทำได้ดีระดับหนึ่ง อัตราที่เกิดหนี้เสียเป็นศูนย์ เพียงแต่อาจจะต้องมีหน่วยงานอื่นร่วมดำเนินการด้วย เช่น ธปท. เข้ามาตั้งกองทุนเพื่อบริหารหนี้ที่ด้อยคุณภาพหรือมีแนวโน้มเป็นหนี้เสีย โดยเราเสนอให้รับซื้อหนี้เหล่านี้มาบริหาร โดยเฉพาะหนี้ของกลุ่มเกษตรผู้สูงอายุ ซึ่งมีถึง 1.4 ล้านราย ในส่วนการฟื้นฟูต้องปลดล็อกเรื่องแรกคือ ที่ดิน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีกติกาในการยึดทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรม อีกเรื่องคือ แหล่งน้ำ จะต้องมีกองทุนช่วยเกษตรกร เพราะตามแผนชลประทานที่มี ต่อให้รอถึงปี ปี 2580 ระบบน้ำก็ยังครอบคลุมแค่ร้อยละ 40 เท่านั้น ทั้งที่น้ำเป็นต้นทุนสำคัญของการเกษตร” 

สำหรับ 3 เปิดตลาดท้องถิ่น คือ เปิดทั้งตลาดกายภาพ ตลาดดิจิทัล และตลาดแบบสถาบันต่างๆ เช่น โรงเรียนหรือโรงพยาบาลในท้องถิ่น อย่างงบอาหารกลางวันของโรงเรียน เดิมอยู่ที่ 21 บาท ท้องถิ่นอาจจะเพิ่มไปอีก 4 บาท ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องจัดหาวัตถุดิบท้องถิ่นเพื่อเป็นการกระตุ้นการผลิต 

ต่อมาคือ 3 ยกระดับมาตรฐาน ด้วยการทำให้สินค้ามีคุณภาพมากขึ้น ได้แก่ ยกระดับความปลอดภัย เช่น การตรวจ GAP หรือ GMP ต้องฟรี ยกระดับคุณค่าทางโภชนาการเพื่อให้ได้ราคาสูงขึ้น สุดท้ายคือ ยกระดับมาตรฐานทางประสาทสัมผัส หรือการนำวิทยาศาสตร์มาช่วย

3 ส่งเสริมเกษตรกรรุ่นใหม่ ต้องมีกองทุนเอสเอ็มอีให้เข้าถึงแหล่งทุนได้ซึ่งอาจทำได้ผ่านกลไก อบจ. สนับสนุนการเปิดตลาดต่างประเทศ เช่น การทูตวัฒนธรรม รวมถึงการเปิดตลาดเชิงสังคมเพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น หนุนทำงานกับเยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และการเพิ่มพื้นที่สีเขียว

สุดท้ายคือ 3 กำกับดูแล จะต้องดูแลเรื่องกลไกราคาให้สมดุลระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภค และเมื่อมีความผิดปกติทางราคาเกิดขึ้นจะต้องแทรกแซงได้ทันที, กำกับความปลอดภัย และสุดท้ายคือกำกับการนำเข้า เพราะสินค้าเกษตรบางอย่างเมื่อนำเข้ามาจะทำให้ราคาสินค้าภายในตกลง ดังที่เกิดขึ้นแล้ว เช่น นำเข้าข้าวสาลีมากขึ้น ราคาข้าวโพดก็ตกลง ผักผลไม้อย่างหอมกระเทียม รวมถึงมะพร้าว ก็เป็นเช่นนั้น

“หนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ปัญหาของพี่น้องเกษตรกรไม่ได้รับการแก้ไข คือการที่พวกเขาไม่มีคนใกล้ตัวทำหน้าที่แก้ปัญหา งบประมาณเพื่อการพัฒนาไปอยู่ที่ส่วนกลางเป็นส่วนใหญ่ อย่างงบโคกหนองนา มีที่ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ท้องถิ่นไม่มีงบแบบนี้ แทนที่จะตั้งชื่อเป็นการเฉพาะ ควรตั้งกว้างๆ ดีกว่า เช่น งบกองทุนพัฒนาแหล่งน้ำ แล้วกระจายให้ท้องถิ่นแต่ละที่ไปทำเอง เชื่อว่าจะประหยัดงบไปได้อีกมาก และไม่ติดขัดขั้นตอนระเบียบราชการ หรืออย่างปัญหาสุกรที่เพิ่งเกิดขึ้น ปศุสัตว์อำเภอมีคนน้อย ถ้าให้งบท้องถิ่นไปดูแล มีการบริการสัตวแพทย์ สัตวบาล ปัญหาฟาร์มหมูอาจจะน้อยลง หรือในเรื่องการส่งเสริมตลาดผ่านงบอาหารในโรงเรียน โรงพยาบาล อย่างที่ยกตัวอย่างไปก็สามารถทำได้ แต่พอเราไม่มีกลไกใกล้ตัวเกษตรกรแบบนี้ เงินส่วนใหญ่จึงถูกเอาไปใช้แก้ปัญหาเชิงรับ อย่างการประกันรายได้ แน่นอนว่าช่วยได้จริงแต่มันก็มีวิธีการช่วยแบบอื่นด้วย เฉพาะปีที่แล้วแค่ประกันราคาข้าวอย่างเดียวก็ 90,000 ล้านบาท ซึ่งงบก้อนเดียวกันนี้ ถ้ากระจายผ่านท้องถิ่นจะไปทำโครงการต่างๆ ก็น่าจะดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาพืชผลการเกษตรอย่างยั่งยืนได้มากกว่านี้” ผู้อำนวยการ TFC ระบุ