“บิ๊กป้อม” เร่ง โครงการบำบัดน้ำเสียมีนบุรี สั่งหน่วยงานเกี่ยวข้องสำรวจแหล่งมลพิษ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการบริหาร พัฒนา อนุรักษ์และฟื้นฟูคลองแสนแสบ ครั้งที่ 1/65 ผ่านระบบวิดีโอ คอนเฟอร์เรนซ์ จากมูลนิธิป่ารอยต่อฯร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง

โดยที่ประชุมเห็นชอบหลักการ โครงการบำบัดนำ้เสียมีนบุรี ระยะที่ 2( กทม.)ที่สามารถบำบัดน้ำเสียได้ 42,000 ลบ.ม.ต่อวัน โดยขอให้นำเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติพิจารณาก่อน และให้วางแผนการก่อสร้างให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ เพื่อไม่ให้กระทบการก่อสร้างและระบายน้ำ

นอกจากนั้นที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการดำเนินร่วมกันของ 8 หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กรุงเทพมหานครฯ  องค์การจัดการน้ำเสีย กรมเจ้าท่า กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมชลประทาน และ จว.ฉะเชิงเทรา โดยมีงานที่สำคัญตามแผนหลัก 5 เป้าประสงค์ คือ  การแก้ไขปัญหามลภาวะและคุณภาพน้ำ  การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรน้ำ การปรับปรุงภูมิทัศน์ และการเสริมสร้างความปลอดภัยในการสัญจรทางน้ำของประชาชน ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการ 11 ปี (64 - 67) รวม 84 โครงการ

ภาพรวมคลองแสนแสบ ยาวรวม 72 กม.เชื่อมโยงลุ่มน้ำเจ้าพระยาและบางปะกงในพื้นที่ กทม.และ ฉะเชิงเทรา ปัญหาคุณภาพน้ำโดยรวม พบอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมมาก ปริมาณน้ำเสียที่ระบายลงคลอง 807,672 ลบ.ม.ต่อวัน โดยมีน้ำเสียที่ไม่มีการจัดการกว่าร้อยละ 50  และมีโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ ฉะเชิงเทรา 9 แห่ง อยู่ในข่ายเฝ้าระวังและตรวจสอบกำกับดูแล  มีแผนงานโครงการระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย ที่เตรียมการก่อสร้างรองรับใน 5 พื้นที่  สำหรับการเสริมสร้างความปลอดภัยในการสัญจรทางน้ำ ช่วงวัดศรีบุญเรือง - สำนักงานเขตมีนบุรี ส่วนต่อขยาย ระยะทาง 10.5 กม.คาดว่าจะเปิดให้บริการประชาชน ใน พ.ค.65 

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ขอให้กระทรวงมหาดไทย กทม. รวมทั้ง กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ เร่งสำรวจแหล่งกำเนิดมลพิษที่อยู่ริมคลองให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.พ.65 และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังควบคู่กันอย่างเร่งด่วน เพื่อหยุดต้นทางน้ำเสียที่ไหลลงคลองให้ได้ โดยเฉพาะหลายชุมชน ที่ยังไม่มีการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งต้องทำความเข้าใจและสร้างการมีส่วนร่วม โดยขอให้เยาวชนในสถานศึกษานำร่อง 8 แห่งเข้าร่วมกิจกรรม สร้างจิตสำนึกและการตระหนักรู้ไปพร้อมกัน

นอกจากนั้นให้ กทม.เร่งจัดหาเรือขุดตะกอน เพื่อจัดการกับตะกอนท้องคลอง และพิจารณาซ่อมสะพานข้ามคลองที่ชำรุดทรุดโทรม ให้ประชาชนสัญจรอย่างสะดวกและปลอดภัยเป็นการเร่งด่วน  และกำชับให้กรมเจ้าท่า เร่งปรับปรุงท่าเรือต้นแบบ ขยายผลไปยังท่าเรืออื่นๆโดยคำนึงถึงความสะดวกและปลอดภัย พร้อมทั้งให้เร่งนำเรือไฟฟ้ามาใช้แทนเรือเครื่องยนต์ดีเซลที่เป็นปัญหามลภาวะ

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่าการดำเนินโครงการฯในภาพรวม มีความต่อเนื่องถึง 11 ปี และใช้งบประมาณจำนวนมาก ต้องบูรณาการไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนและให้เกิดความโปร่งใส คุ้มค่า มีความสมดุลและยั่งยืน สอดคล้องวิถีชีวิต สภาพแวดล้อมและการท่องเที่ยว โดยต้องให้ชุมชนหรือประชาชนในแต่ละพื้นที่ มีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์ร่วมกัน  เพื่อยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนใน กทม.ให้ครอบคลุมในทุกมิติร่วมกัน