เปิดประวัติ ‘หมอกระต่าย’ หมอจักษุคนเก่ง คนคุณภาพที่ต้องจากไปก่อนวัยอันควร 

แม้วันนี้ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ ‘หมอกระต่าย’ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจักษุวิทยา ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะจากโลกนี้ไป จากกรณีถูก ส.ต.ต นรวิชญ์ บัวดก ผบ.หมู่ กองร้อยที่ 2 กองกำกับการ 1 กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (กก.1 บก.อคฝ.) ขี่บิ๊กไบค์ชนจนเสียชีวิต แต่เชื่อว่าวันนี้ชื่อของเธอน่าจะประทับอยู่ในหัวใจของคนไทยทั้งประเทศ ในฐานะบุคลากรคุณภาพที่ประเทศชาติไม่ควรเสียไปอีกนานเท่านาน

1.) พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย เกิดเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2531 เป็นจักษุแพทย์เช่นเดียวกับคุณพ่อ นายแพทย์อนิรุทธ์ สุภวัตรจริยากุล มีลูกสาว 2 คน เป็นจักษุแพทย์ตามรอยคุณพ่อทั้งหมด

2.) หลังจากเรียนจบชั้นประถม หมอกระต่ายได้เรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน และเรียนต่อที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี รุ่นที่ 42 ก่อนกลับไปใช้ทุนที่โรงพยาบาลสระบุรี

3.) หลังจากนั้นหมอกระต่าย ไปเรียนต่อเฉพาะทางจักษุวิทยา ที่ศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านจักษุวิทยา โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) ก่อนจะต่อยอดจักษุวิทยาภูมิคุ้มกันอักเสบ และศึกษาต่อเฉพาะทาง ต่อยอดจอตาและวุ้นตา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

4.) หมอกระต่าย กำลังจะเข้ารับราชการที่โรงพยาบาลตำรวจ แต่ต้องมาเสียชีวิตก่อนวันเกิดตัวเองด้วยอุบัติเหตุบนท้องถนน

ทั้งนี้ ด้าน เฟซบุ๊กแฟนเพจ รู้เรื่องตา-ตาปลอม โดย พ.ญ.อรวีณัฏฐ์ นิมิตรวงศ์สกุล จักษุแพทย์ สาขาศัลยกรรมตกแต่งเสริมสร้างเบ้าตาและอวัยวะรอบดวงตา ได้โพสต์เนื้อหาเกี่ยวกับการเรียนจักษุว่า...

“เรียนกันกี่ปีกว่าจะมาเป็นหมอตา อันนี้คือข้อมูลของประเทศไทยนะคะ บ้านเราจบ ม.6 แล้ว เข้ามหาวิทยาลัยต่อ
เรียนหมอ 6 ปี จบแล้วต้องไปทำงานใช้ทุนก่อน อย่างน้อย 3 ปีค่อยได้เข้ามาเรียนเฉพาะทาง หรือบางสาขา บางสถาบันให้ใช้ทุน 1 ปีก่อนมาเรียนเฉพาะทาง ใน 6 ปีนั้น เรียนแผนกตาแค่ 2-4 สัปดาห์ ขึ้นกับแต่ละสถาบัน จึงไม่น่าแปลกใจที่หมอที่จบ 6 ปีอาจไม่คุ้นชินกับการรักษาโรคทางตา

“เรียนจักษุวิทยา 3 ปี อันนี้ตอนเข้าแผนกใหม่ๆ กันงง อย่างกับอยู่คนละโลก เนื่องจาก ศัพท์ใหม่ๆ มากมาย ตัวย่ออย่างกับภาษามนุษย์ต่างดาวเต็มไปหมด ตรวจวัดความดันตาโดยเครื่องมือที่ติดเครื่องตรวจเอาไปแตะกระจกตาของคนไข้ ซึ่งเป็นภาพที่คนไข้มักจะกลัว และเราต้องแตะแบบไม่เหลือร่องรอยบาดเจ็บให้กระจกตา กว่าจะจบหมอตาได้ ผ่านการฝึกฝนกันมาอย่างหนัก

“เรียนเฉพาะทางสาขาย่อยทางจักษุ ซึ่งทางตาเรามีสาขาย่อย 10 สาขา แต่ละสาขาเรียนกันหลักสูตรในประเทศ สาขาละ 1-2 ปี และบางรายอาจจะไปเรียนต่อที่ต่างประเทศอีก 1-2 ปี

“จะเห็นได้ว่า กว่าจะผลิตหมอตาออกมาได้คนนึง โดยเฉพาะหมอตาที่เป็นสาขาเฉพาะทางใช้เวลาและความยากในการผลิตมากมาย

“กรณีน้องที่ถูกรถชนเสียชีวิตนี้ น้องเป็นหมอสาขาที่ขาดแคลน และเป็นหมอที่ตั้งใจเรียนสาขาย่อยถึง 2 สาขาในคนเดียวกัน ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยทางตาได้มาก ทั้งสาขาจอตา ที่ในประเทศมีประมาณร้อยคนเศษ และสาขาม่านตาอักเสบที่ในประเทศมีอยู่ไม่กี่สิบคน น่าจะไม่ถึง 50 คนทั้งประเทศด้วยซ้ำไป

“อุบัติเหตุในครั้งนี้ก่อให้เกิดความเสียหายกับวงการจักษุ และเป็นที่น่าเสียดายต่อคนไข้ที่ขาดหมอที่เก่งและดีมากๆ ไปอีกคน

“ขอให้มีกระบวนการแก้ไขอย่าให้มีการบาดเจ็บ เสียหาย เสียชีวิตเกิดขึ้นกับใครอีกเลย รณรงค์ให้มีกฎหมายและการแก้ไขป้องกันที่เข้มงวดมากกว่านี้ค่ะ ทางม้าลาย ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับคนข้ามถนน รถควรหยุดหรือชะลอเมื่อเห็นคนข้ามทางม้าลาย ผู้ที่ฝืนกฎควรได้รับโทษที่เหมาะสม”


ที่มา : https://thestudytimes.co/post/2022012404
https://www.facebook.com/DoctorOrnvenus/