‘อัษฎางค์’ แนะ!! ดัน ‘กม.-จริยธรรมสังคมไทย’ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่จับต้องได้เสียที

นักวิชาการอิสระ ยกออสเตรเลียเข้มงวดกฎหมายและจริยธรรมทางสังคม ช่วยให้อุบัติเหตุทางถนนน้อย แนะไทยถึงเวลาต้องปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมายและจริยธรรมทางสังคมตั้งแต่บัดนี้

นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “ทางม้าลายและรถพยาบาลฉุกเฉิน” สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของออสเตรเลีย ระบุว่า เมืองไทยได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมาย แต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นล้วนเป็นสิ่งที่อยู่ธรรมชาติและพิสูจน์หาความจริงไม่ได้ แต่คนไทยให้ความเคารพเชื่อถือและไม่กล้าแตะต้องหรือกระทำผิดต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น ในขณะที่ออสเตรเลียและประเทศตะวันตกหรือประเทศชั้นนำของโลกมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่จับต้องได้ นั้นคือ กฎหมายและจริยธรรมทางสังคม

กฎหมายคือข้อบังคับ และจริยธรรมทางสังคมคือข้อควรปฏิบัติ เป็น 2 สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวตะวันตกและประเทศที่พัฒนาแล้ว ทางม้าลายและรถพยาบาลฉุกเฉิน คือตัวอย่างของสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดเพราะเห็นกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในเรื่องของกฎหมายและจริยธรรมทางสังคมในประเทศที่พัฒนาแล้ว

“ผมอยู่ออสเตรเลียมา 20 ปี ภาพที่เห็นแล้วประหลาดใจและประทับใจนับตั้งแต่วันแรกๆ ที่มาอยู่จนถึงปัจจุบัน คือรถ ทุกคนพร้อมใจกันหยุดรถทันทีเมื่อมีคนย่างเท้าลงบนทางม้าลาย และรถทุกคันพร้อมใจกันชิดซ้ายทันทีที่ได้ยินเสียงไซเรนของรถพยาบาลฉุกเฉิน ในออสเตรเลีย อาจแทบจะพูดได้ว่า คุณสามารถเดินหลับตาหรือก้มหน้าดูมือถือในขณะที่เดินข้ามถนนบนทางม้าลายได้เลย เพราะรถที่วิ่งมาจะหยุดแบบทันทีทันใดเมื่อมีคนก้าวเท้าลงบนทางม้าลาย ผมไม่ได้บอกว่า ไม่เคยมีข่าวรถชนคนบนทางม้าลาย หรือข่าวรถชนกับรถพยาบาลฉุกเฉินเลย แต่ตลอด 20 ปีผมได้ยินข่าวนั้นเพียง 1 หรือ 2 ครั้งเท่านั้น ซึ่งนั้นคืออุบัติเหตุจริงๆ ที่ไม่ได้เกิดจากการขับรถเร็ว เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอ”

ในออสเตรเลีย ถ้าเป็นถนนเล็กหรือเป็นถนนที่การจราจรไม่คับคั่ง จะมีทางม้าลายให้คนใช้ข้ามถนน ซึ่งประชาชนทุกคน ถูกปลูกฝังให้จอดรถทันทีเมื่อมีคนย่างเท้าลงบนทางม้าลาย ถ้าเป็นถนนใหญ่หรือถนนที่มีการจราจรหนาแน่นมากๆ จะมีไฟสัญญาณเขียว-แดงสำหรับบังคับรถให้จอดเวลามีคนข้ามถนน รถที่วิ่งในเมืองจะใช้ความเร็วได้เพียง 50 กม./ชม. ส่วนในเขตที่เป็นชุมชนหนาแน่น เช่น กลางใจเมืองหรือหน้าโรงเรียนในเวลานักเรียนมาโรงเรียนหรือเลิกเรียน จะวิ่งรถได้เพียง 40 กม./ชม. เท่านั้น ซึ่งเรื่องความเร็วรถนี้คือ ปัจจัยสำคัญสำหรับการป้องกันอุบัติเหตุรถในซิดนีย์วิ่งได้เพียง 40-50 กม./ชม. แต่รถกลับไม่ติดวินาศสันตะโรเหมือนในกรุงเทพ และไม่เกิดอุบัติเหตุอย่างรุนแรงอย่างสม่ำเสมออยู่ตลอดเวลา เพราะอะไร

คำตอบคือ ประชาชนถูกปลูกฝังในเรื่องความมีมารยาททางสังคม จริยธรรมทางสังคม การเคารพกฎจราจรอย่างเคร่งครัดและการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง พร้อมบทลงโทษรุนแรง ขอยกตัวอย่างหนึ่งในบทลงโทษที่รุนแรง จากเพื่อนของเพื่อนผม ซึ่งเมาแล้วขับ โดนจับปรับเป็นเงินหลักแสนบาท ยึดใบขับขี่ห้ามขับ 8 เดือน มีเพื่อนของเพื่อนอีกคนที่โดนคดีเมาแล้วขับ โดนยึดใบขับขี่แล้วออกไปขับรถอีกโดยไม่มีใบขับขี่ ทำให้ถูกจับเข้าคุกทันทีโดยไม่มีการอุทธรณ์ หนึ่งในปัญหาของเมืองไทยที่ต้องได้การปฏิรูปอย่างเร่งด่วน คือ ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องนักการเมืองและประชาชนต้องร่วมมือผลัดดันให้มันเกิดขึ้นให้เร็วที่สุด ไม่ใช่การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์หรือยกเลิก 112 ซึ่งไม่ได้มีผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเลย แต่มันกระทบต่ออำนาจและผลประโยชน์ทางการเมืองของนักการเมืองผู้สูญเสียอำนาจบางครั้งเท่านั้น

“ปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมายพร้อมบทลงโทษรุนแรง และปลูกฝังจริยธรรมทางสังคมกันตั้งแต่วันนี้ ทำให้มันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ก่อนที่ความสูญเสียที่ประเมินค่ามิได้จากเหตุร้าย จะเกิดขึ้นกับชีวิตคนในครอบครัวของคุณเองมาร่วมมือร่วมใจกันปกป้องชีวิตลูกหลานและคนในครอบครัว ด้วยการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมายและจริยธรรมทางสังคมตั้งแต่บัดนี้”


ที่มา: https://www.facebook.com/100566188950275/posts/225716453101914/
https://www.thaipost.net/general-news/71249/