‘ปณิธาน’ แฉ!! เวทีประชาธิปไตย แค่เกมการเมืองสหรัฐฯ ฟากความมั่นคงชี้!! ไทยหลุดโผ สะท้อนไม่ใช่ลิ่วล้อมะกัน

สำนักข่าวอิศรา ได้เผยถึงกรณีที่ไทยถูกเมินและไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมเวทีการประชุมสุดยอดด้านประชาธิปไตยของสหรัฐฯ ผ่านมุมมอง รศ.ดร. ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์พิเศษประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า…

การไม่มีชื่อไทยเข้าร่วมประชุมสุดยอดด้านประชาธิปไตยที่สหรัฐฯ ไม่ส่งผลกระทบอะไรต่อประเทศไทยเลย แต่อาจถูกด้อยค่าบ้างจากการเมืองภายในประเทศเท่านั้น

สำหรับการประชุมดังกล่าวนี้มีหัวข้อสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.) นิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือและอิหร่าน 2.) ปัญหา Climate Chang (การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) และ 3.) ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมตะวันตก ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ประกาศไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งก่อนเข้าดำรงตำแหน่ง

โดยเฉพาะประชาธิปไตยเสรีนิยมแบบตะวันตก ถือว่ามีความตกต่ำอย่างมากในระยะหลัง มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ระบุว่า ระบบการปกครองแบบนี้กำลังจะตาย เพราะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือสีผิวไม่ได้ จนถึงขั้นมีม็อบบุกอาคารรัฐสภาของสหรัฐฯ ขณะเดียวกันการบริหารงานของโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีคนก่อนหน้าโจ ไบเดน ก็ส่งผลต่อประชาธิปไตยอย่างมากเช่นกัน

นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าการเชิญผู้นำประเทศต่าง ๆ เข้าร่วม สหรัฐฯ จะเลือกเฉพาะประเทศที่เห็นพ้องกับตนและโน้มน้าวได้ รวมทั้งมีนโยบายไม่เอาด้วยกับจีน เช่น อินเดีย

ที่สำคัญอีกไม่นานจะใกล้ช่วงเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ซึ่งโจ ไบเดน กำลังฟื้นฟูคะแนนนิยมตัวเอง หลังจากที่ผ่านมาคะแนนค่อนข้างตกต่ำ

“เรื่องนี้หากทำสำเร็จ สหรัฐฯ ก็สามารถข่มจีนได้ รวมถึงประเทศที่สนับสนุนจีนก็จะหันกลับมายังสหรัฐฯ ความเป็นจริงมีอะไรซับซ้อนมากกว่านั้น” อาจารย์ปณิธาน ตั้งข้อสังเกต

ส่วนความกังวลเรื่องการขยายผลด้อยค่ารัฐบาลจากปัญหาการเมืองภายในประเทศ อาจารย์ปณิธาน มองว่า จากที่ฟังกลุ่มที่เห็นต่างกับรัฐบาลไทยที่พูดถึงเรื่องนี้ในคลับเฮาส์ พบว่ามีความเข้าใจมากขึ้นว่าเป็นเรื่องการเมืองของอเมริกันโดยแท้

@@ วางตัวง่ายกับจีน สะท้อนไม่ใช่ลิ่วล้อสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ความเห็นของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไทย มองประเด็นสหรัฐฯ ไม่เชิญไทยเข้าร่วมประชุมสุดยอดด้านประชาธิปไตยว่าเป็นเรื่องเกมการเมือง เพราะพรรคเดโมแครตของโจ ไบเดน คือ พรรคที่นำประชาธิปไตยมาใช้แทรกแซงการเมืองโลก และแบ่งแยกโลกมาช้านานแล้ว

ช่วงที่โจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้ง ฝ่ายความมั่นคงได้ประเมินเรื่องนี้ไว้เหมือนกันว่าจะมีการหยิบประเด็นประชาธิปไตยมาใช้กดดันรัฐบาลประเทศต่าง ๆ แน่ ซึ่งเป็นแนวทางที่แตกต่างจากยุคของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่แทรกแซงประเทศต่าง ๆ แบบหักดิบ ส่วนประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต จะทำผ่านกฎเกณฑ์และระเบียบที่พวกเขาตั้งขึ้นมาบังคับใช้กับโลก

เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงยังมองว่า การที่ไบเดนไม่เชิญไทย หากมองในแง่ดี ก็ทำให้ไทยวางตัวง่ายขึ้นกับจีน และแสดงให้เห็นว่าไทยไม่ใช่ลิ่วล้อของสหรัฐฯ


ที่มา : https://www.isranews.org/article/south-news/academic-arena/104493-panitanusa.html