‘อัษฎางค์’ เบิกเนตร! กลุ่มป่วนบ้านเมือง ลืมวิชาพื้นฐาน จนถูกแหกตา ทำหมดอนาคต

15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 นายอัษฎางค์ ยมนาค นักประวัติศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก “เอ็ดดี้ อัษฎางค์ ยมนาค” มีเนื้อหาดังนี้...

ปฏิรูป ไม่เท่ากับ ล้มล้าง

กบฏ คือ ผู้ที่พยายามล้มล้างการปกครอง

แต่ทำไม่สำเร็จ เพราะถูกจับได้เสียก่อน

นักเรียนนิสิตนักศึกษาของไทยที่ผ่านการศึกษา แต่ทำตัวเหมือนคนไร้การศึกษา เพราะฉะนั้นกลับมาศึกษาเรื่องที่ศึกษากันมาตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาอีกครั้ง

ปฏิวัติ (Revolution)

หมายถึงการยึดอำนาจโดยวิธีการที่ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ เป็นการใช้ความรุนแรงทางการเมืองเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างเบ็ดเสร็จ โดยมีวัตถุประสงค์อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครอง อุดมการณ์ทางการเมือง วัฒนธรรม วิถีชีวิต ระบบเศรษฐกิจ ความเชื่อทางศาสนา และระบบสังคมโดยรวม

รัฐประหาร (coup d’état)

หมายถึง การยึดอำนาจโดยวิธีการที่ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ เป็นการใช้ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันด่วน

โดยมีวัตถุประสงค์อยู่ที่ “การเปลี่ยนตัวหัวหน้ารัฐบาล หรือผู้ปกครองประเทศ” แล้วจัดตั้งคณะรัฐบาล ชุดใหม่ที่อยู่ภายใต้ผู้ก่อการรัฐประหารขึ้นมา “โดยที่รูปแบบการปกครองไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด” มีแต่ตัวผู้นำและคณะผู้นำเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงไป

คณะรัฐประหารไม่ใช่เข้ามาเป็นผู้ปกครอง หรือเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพียงแต่เข้ามาทำงานในหน้าที่ผู้บริหารไม่ใช่เข้ามาเป็นผู้ปกครอง เป็นผู้บริหารบ้านเมืองในช่วงหนึ่งเพียงชั่วคราว ถ้ามีการจัดตั้งรัฐบาลก็เป็นรัฐบาลชั่วคราว หรือรัฐบาลเฉพาะกาล ในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น

กบฏหรือขบถ (Rebellion)

หมายถึง การที่กลุ่มคนพยายามทำการปฏิวัติ หรือ รัฐประหาร หรือกลุ่มบุคคลที่พยายามล้มล้างการปกครอง แต่กระทำไปไม่สำเร็จ จึงได้ชื่อว่าเป็นกบฏ

ความผิดฐานเป็นกบฏ ได้แก่

• 1.) ความผิดทางอาญาฐานกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร

• 2.) โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย

• 3.) เพื่อล้มล้าง หรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ หรือล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติอำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ

• 4.) หรือแบ่งแยกราชอาณาจักร

• 5.) หรือยึดอำนาจปกครองในส่วนใดส่วนหนึ่งแห่งราชอาณาจักร

“รัฏฐาธิปัตย์”

หมายถึงผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองแผ่นดิน จากฐานะที่เป็นใหญ่ที่สุดในแผ่นดิน อำนาจของรัฏฐาธิปัตย์นั้นต้องมีลักษณะสมบูรณ์ (absolute) มีอำนาจนั้นอยู่ในตนเอง เพราะรัฏฐาธิปัตย์คือผู้ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว

รัฏฐาธิปัตย์จะทำการสิ่งใดไม่จำเป็นต้องขอความยินยอมหรืออาศัยอ้างอิงว่าได้รับมอบอำนาจมาจากผู้ใดอีก ความสัมบูรณ์ของอำนาจนี้ส่งผลให้รัฏฐาธิปัตย์ออกคำสั่งใด ๆ เพื่อบังคับใช้แก่ไพร่ฟ้าในอาณาจักรของตนในโอกาสใดและเพื่อวัตถุประสงค์ใดก็ย่อมได้

คณะยึดอำนาจ ไม่ว่าคณะปฏิวัติหรือคณะรัฐประหาร จะสถาปนาตัวเองเป็น "รัฏฐาธิปัตย์" เพื่อแต่งตั้งผู้บริหารราชการแผ่นดิน

นอกจากนี้ รัฏฐาธิปัตย์ ยังหมายถึง อำนาจอธิปไตย ที่เป็นอำนาจปกครองสูงสุดของรัฐ
.
และ รัฏฐาธิปัตย์ ยังหมายถึง รัฐธรรมนูญ หรือ กฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ ซึ่งผู้ใดไม่อาจจะละเมิดได้ และกฎหมายอื่นไม่อาจจะขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้

ส่งผลให้คำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ไม่ว่าจะใช้ชื่อใดย่อมมีผลเป็น “กฎหมาย” แต่ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ”

ซึ่งมีผู้เข้าใจผิดว่า องค์รัฏฐาธิปัตย์คือพระมหากษัตริย์

โดยยกตัวอย่างว่าทุกครั้งที่มีการทำรัฐประหาร จะมีการขอเข้าเฝ้าเพื่อถวายรายงานพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเท่ากับการยอมรับในความเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์ของพระมหากษัตริย์ยังคงมีอยู่ไม่ขาดตอน องค์รัฏฐาธิปัตย์ไม่ใช่คณะรัฐประหาร ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

พระมหากษัตริย์คือผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชน ผ่านทางรัฐสภา รัฐบาล และศาล

แต่ผู้มีอำนาจอธิปไตยตัวจริงคือประชาชน มิใช่พระมหากษัตริย์

ในขณะที่คณะรัฐประหารหรือคณะปฏิวัติคือ ผู้ที่ทำการสิ่งใดไม่จำเป็นต้องขอความยินยอมหรืออาศัยอ้างอิงว่าได้รับมอบอำนาจมาจากผู้ใดอีกต่อไป เป็นความสัมบูรณ์ของอำนาจ ซึ่งหมายความว่า คณะรัฐประหารหรือคณะปฏิวัติ คือ รัฏฐาธิปัตย์ เป็นผู้ทรงสิทธิ์ในการประกาศใช้กฎหมาย ในการบังคับใช้ในรัฐนั้น ๆ อย่างสมบูรณ์แต่เพียงผู้เดียว

จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะมีรัฐสภาหรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยหรือในการปฏิวัติและการรัฐประหาร พระมหากษัตริย์ไม่ใช่ผู้มีอำนาจที่แท้จริง

สรุป

• 1.) ก่อน 2475 รัฏฐาธิปัตย์ คือ พระมหากษัตริย์

แต่หลังจาก 2475 เป็นต้นมา รัฏฐาธิปัตย์ คือคณะปฏิวัติหรือคณะรัฐประหาร

เพราะอำนาจของรัฏฐาธิปัตย์นั้นต้องมีลักษณะอำนาจที่สมบูรณ์อยู่ในตนเอง (absolute) ดังนั้นรัฏฐาธิปัตย์คือผู้ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว

• 2.) คณะรัฐประหาร คือการเปลี่ยนแปลงตัวผู้บริหาร หรือก็คือการล้มล้างรัฐบาล เท่านั้น

• 3.) คณะปฏิวัติ คือการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือล้มล้างการปกครอง

• 4.) ส่วนกบฏ คือ ผู้ที่พยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือล้มล้างการปกครอง แต่ทำไม่สำเร็จ เพราะถูกจับได้เสียก่อน

เรื่องที่เล่ามาทั้งหมด ไม่ใช่วิชาที่สอนในระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอก แต่เป็นวิชาพื้นฐานซึ่งบรรจุอยู่ในวิชาสังคมศาสตร์ ที่สอนกันมาตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษา และเรียนซ้ำ ๆ จนถึงมหาวิทยาลัยก็สอนอยู่ในหมวดวิชาพื้นฐานของเด็กปี 1 หรือปี 2 แต่กลับไม่มีภูมิความรู้เอาไว้ป้องกันตนที่จะโดนแหกตาปลุกปั่น สร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง จนถึงขั้นทำผิดกฎหมายต้องติดคุกติดตะราง หมดอนาคต

ดังนั้นเรื่องเร่งด่วนที่สุดที่ต้องทำในทันทีคือ การปฏิรูปการศึกษา

อัษฎางค์ ยมนาค


ที่มา : https://www.naewna.com/politic/615718
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=181098337563726&id=100566188950275