สู้ภัยโควิด!! หนาวนี้ มีสุขภาพดีได้อย่างไร?

ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าตั้งแต่ช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากมวลอากาศเย็นพัดผ่านลงมาทางทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้อากาศหนาวเย็นลง โดยจะหนาวเย็นมากที่สุดในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม ประกอบกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) อาจส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากภัยหนาว ร่างกายปรับตัวไม่ทันต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง 

ในทางการแพทย์ได้นิยามคำว่า “ภัยหนาว” ว่าเป็นภัยที่อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บจากอุณหภูมิ ในสิ่งแวดล้อมที่ลดลงต่ำกว่าปกติมากเป็นเวลานาน ๆ โดยอาจมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น ความเร็วลม ความชื้น การออกกำลังกายหนักเกินไป การใช้ยาเสพติด และการดื่มสุรา โดยเฉพาะความเจ็บป่วยอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอันตรายจากภัยหนาวเพิ่มมากขึ้น

โรคที่มากับภัยหนาว มีดังนี้

1.) โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ (เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดอักเสบ) 
ปัจจุบันพบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ในหลายจังหวัด หากเจ็บป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่อาจทำให้แยกอาการจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ได้ยาก เนื่องจากไข้หวัดใหญ่มีการแพร่ระบาดง่ายในฤดูนี้และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ ดังนั้น การเว้นระยะห่างทางสังคม การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่แออัด และไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น จะช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) และโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ ได้

2.) โรคติดต่อระบบทางเดินอาหารและน้ำ (โรคอุจจาระร่วง) 
มีอาการถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งขึ้นไปใน 1 วัน อาจมีไข้หรืออาเจียนร่วมด้วย เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่ไม่สะอาด มีการปนเปื้อนเชื้อโรค ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยการดูแลสุขอนามัย ดื่มน้ำสะอาด และรับประทานอาหารที่ปรุงสุกและสะอาด

3.) โรคหัด
โรคหัดติดต่อได้ทางลมหายใจ เกิดจากการหายใจเอาเชื้อไวรัสจากการไอจามของผู้ป่วย หรือพูดคุยกันในระยะใกล้ อาการคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา มีไข้สูง ตาแดงและตาแฉะ มีผื่นนูนแดงขึ้นติดกันเป็นปื้น ๆ โดยมักพบการระบาดในฤดูหนาว (เดือนพฤศจิกายน-มกราคม) มีระยะฟักตัวประมาณ 8-12 วัน ปัจจุบันไม่มียารักษา

4.) ภัยสุขภาพ (การเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว)
ส่วนใหญ่เกิดจากร่างกายปรับตัวไม่ทันต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ดังนั้นควรเตรียมเครื่องนุ่งห่มกันหนาว และงดการดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมทั้งดูแลร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์

5.) ปัญหาทางระบบผิวหนัง เช่น ผิวหนังแห้ง ผื่นผิวหนังอักเสบและคัน
ในฤดูหนาว อากาศแห้ง และมีความชื้นในอากาศน้อย หากอาบน้ำอุ่นจัดจะชะล้างไขมันที่ผิวหนังออกไป ส่งผลให้ผิวหนังแห้งและคันได้ ดังนั้นควรใส่เสื้อผ้าหนา ๆ ไม่อาบน้ำนาน ๆ ควรทาโลชันหรือน้ำมันทาผิวหลังอาบน้ำ และเช็ดตัวหมาด ๆ ทุกครั้งเพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นของผิวหนัง สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้ง่ายควรใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทที่ใช้กับผิวเด็กอ่อนและควรทาวันละหลายครั้ง เพราะสารเคลือบผิวจะหลุดออกได้เมื่อเวลาผ่านไป ในกรณีที่มีปัญหาริมฝีปากแตก ไม่ควรเลียริมฝีปาก แนะนำให้ทาด้วยลิปสติกมันบ่อย ๆ

6.) โรคทางระบบกระดูกและข้อ
โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาปวดข้อเรื้อรัง เมื่อมีอากาศหนาวเย็น อาจกระตุ้นให้เกิดโรคข้ออักเสบ เช่น โรคเกาต์ อาจมีอาการรุนแรงขึ้นได้ ดังนั้นการรักษาความอบอุ่นให้ร่างกายจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกำเริบของโรค

7.) โรคสุกใส
บางครั้งเรียกว่า “อีสุกอีใส” เป็นโรคติดต่อที่พบได้บ่อยในเด็กและกลุ่มคนที่ไม่เคยเป็นโรคนี้มาก่อน และมักจะมีอาการและภาวะแทรกซ้อนมากกว่าเด็ก โรคสุกใสเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ใช้เวลาฟักตัว 10-20 วัน พบการระบาดมากในช่วงปลายฤดูหนาว 

สิ่งที่ไม่ควรทำในช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น คือ 
1.) การดื่มแอลกอฮอล์คลายหนาว เนื่องจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้รู้สึกอบอุ่นขึ้นในระยะเวลาสั้น โดยการที่หลอดเลือดฝอยขยายตัว ทำให้ระบายความร้อนออกจากร่างกาย ทำให้อุณหภูมิในร่างกายยิ่งลดต่ำลงกว่าปกติ เมื่อร่างกายสัมผัสอากาศเย็นเป็นเวลานานในขณะนอนหลับ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตได้

2.) ไม่ควรนำเทียนไขหรือตะเกียงจุดในที่พักอาศัยขณะนอนหลับ นอกจากเสี่ยงเกิดเพลิงไหม้แล้ว ยังมีแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์และแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ เมื่อหายใจเข้าไปจะทำให้เซลล์ของอวัยวะต่าง ๆ ขาดออกซิเจนไปเลี้ยง เกิดอาการง่วงหลับโดยไม่รู้ตัวและเสียชีวิต

วิธีการปฏิบัติตัวให้ปลอดภัยจากภัยหนาวที่ดีที่สุด คือ การดูแลสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง ออกกำลังกายหรือขยับร่างกายอย่างสม่ำเสมอ ดื่มน้ำอุ่นวันละประมาณ 6-8 แก้ว พักผ่อนให้เพียงพอ เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์โดยเฉพาะสมุนไพรที่ช่วยเพิ่มความร้อน เช่น พริกไทยอ่อนหรือขิง เพื่อช่วยปรับสมดุลในร่างกาย และเป็นสมุนไพรใกล้ตัวที่หาได้ง่าย หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และยาเสพติด นอกจากนี้ควรสวมเสื้อผ้าหนา ๆ เช่น ถุงเท้า เสื้อกันหนาว เพื่อรักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ


แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
- กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
- สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
- นายแพทย์พิเชฐ บัญญัติ. (2563). คู่มือเอาตัวรอดจากไวรัส COVID-19. กรุงเทพฯ: เซเว่นดีบุ๊ค
ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์. (2562). Covid-19 โรคระบาดแห่งศตวรรษ. กรุงเทพฯ: มติชน