'ออสเตรเลีย'​ ไม่ยกเลิกใช้พลังงานถ่านหิน​ ในเวที COP26 อ้าง!! เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ

เส้นทางสู่โลกสวยไม่ใช่เรื่องง่าย​ 'ออสเตรเลีย'​ ไม่ยอมลงนามข้อตกลงเลิกการใช้พลังงานถ่านหิน หลังอ้างเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ

รัฐบาลออสเตรเลียตัดสินใจไม่ยอมลงนามความร่วมมือในการลดการใช้พลังงานถ่านหิน ที่เป็นหนึ่งในข้อตกลงร่วมในที่ประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาเพื่อปัญหาสภาพอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) ซึ่งถูกตั้งเป้าไว้สูงว่าจะต้องเลิกการใช้พลังงานถ่านหินอย่างถาวรให้ได้ภายในปี 2030 ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และปี 2040 สำหรับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

ขณะที่ประเทศผู้ผลิตถ่านหิน​ ก็จะต้องพยายามลด ละ เลิก การผลิตถ่านหินที่เป็นพลังงานไม่สะอาด และเป็นตัวการสำคัญในการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศตั้งแต่วันนี้

สำหรับการลงนามดังกล่าวมีมากกว่า 100 ประเทศที่ได้ลงนามลดการใช้พลังงานถ่านหินตามข้อตกลง COP26 

ทว่า ออสเตรเลีย ถือเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตถ่านหินเพื่อการส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก​ จึงยังไม่ขอร่วมลงนามด้วย รวมถึงประเทศที่พึ่งพาพลังงานถ่านหินเป็นหลักอย่าง​ จีน, อินเดีย และสหรัฐอเมริกา เช่นกัน จึงทำให้เป้าหมายที่ตั้งไว้ดูริบหรี่ขึ้นมาทันตา

อย่างไรด็ตาม​ ประเด็นร้อนแรง ดูจะตกมาที่​ ออสเตรเลีย เป็นหลัก​ นั่นก็เพราะออสเตรเลีย เคยเป็นประเทศหัวหอกรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้นมาโดยตลอด 

ส่วนเหตุผลที่รัฐบาลออสเตรเลียไม่ยอมลงนามข้อตกลงในการยุติการใช้พลังงานถ่านหิน ก็คือ​ ออสเตรเลียต้องการมุ่งเน้นในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงาน มากกว่าที่จะกวาดล้างอุตสาหกรรมในประเทศ 

นอกจากนี้ ในข้อตกลงปารีสปี 2015 ก็ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจะต้องยกเลิกการใช้พลังงานถ่านหิน เพียงแต่ระบุว่าต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศให้เหลือใกล้ศูนย์เพื่อรักษาอุณหภูมิโลก

ทั้งนี้​ ประเทศออสเตรเลียเป็นประเทศผู้ส่งออกถ่านหินรายใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก คิดเป็นมูลค่าการส่งออกต่อปีสูงถึง 3.27 หมื่นล้านเหรียญ คิดเป็น 39.5% ของปริมาณถ่านหินที่ส่งออกในโลกต่อปี และมีปริมาณมากกว่าอินโดนีเซีย ที่ตามมาเป็นอันดับ 2 ถึง 2 เท่า 

จากตรงนี้​ จึงน่าจะเป็นสาเหตุหลักที่​ 'สก็อต มอร์ริสัน'​ นายกรัฐออสเตรเลีย ตัดสินใจอุ้มผู้ประกอบการเหมืองถ่านหินที่เป็นเส้นเลือดหลักในระบบเศรษฐกิจออสเตรเลีย และนอกจากจะไม่ลดการใช้พลังงานถ่านหินแล้ว ยังมีแนวโน้มว่าอาจต้องเพิ่มกำลังการผลิตอีกด้วย

ด้าน​ แองกัส เทย์เลอร์ รัฐมนตรีด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า "ออสเตรเลียไม่ต้องการสร้างผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมถ่านหินในประเทศ แต่เราจะเน้นเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ชาวออสเตรเลียสามารถเข้าถึงได้ทุกครัวเรือน รวมถึงประชาชนชาวโลกด้วย และด้วยเทคโนโลยีของเราจะมีส่วนสำคัญในการลดก๊าซคาร์บอนบนโลกได้อย่างแน่นอน"

ถึงกระนั้น ทางรัฐบาลออสเตรเลียก็ไม่ได้ลงรายละเอียดถึงเทคโนโลยีที่ว่านี้คืออะไร และต้องใช้เวลานานแค่ไหนจึงพัฒนาสำเร็จ

ดังนั้นการตัดสินใจของออสเตรเลีย​ จึงสร้างความผิดหวังในวงประชุม COP26 ไม่น้อย เพราะแม้แต่อินโดนีเซีย ประเทศที่ส่งออกถ่านหินเป็นอันดับ 2 ของโลกยังลงนามในข้อตกลงการลดการพึ่งพาพลังงานจากถ่านหินในประเทศ 

ขณะที่ชาวออสเตรเลียจำนวนไม่น้อย​ ก็รู้สึกผิดหวังกับนโยบายของรัฐบาลเช่นกัน เพราะดูเหมือนออสเตรเลียกำลังพาตัวเองถอยหลังเข้าคลอง ทั้งๆ​ ที่ทั่วโลกต่างมุ่งหน้าสู่เป้าหมายในการเป็นประเทศปลอดคาร์บอนฯ แต่มีเพียงไม่กี่ประเทศ รวมถึงออสเตรเลียที่ลังเลที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย

จากประเทศที่เคยเป็นผู้นำด้านการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนผ่านการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกปี 2000 ที่เมืองซิดนีย์​ ด้วยคอนเซ็ปต์ "Green Olympic" อย่างยิ่งใหญ่และเป็นที่จดจำมาแล้ว 

แต่เมื่อถอนตัว​จากการลงนามข้อตกลงลดการใช้พลังงานถ่านหินของออสเตรเลียครั้งนี้ เชื่อว่าน่าจะทำให้ชาวโลกลืมทุกภาพจำจากปี​ 2000 ไปหมดสิ้นเลยก็ว่าได้


เรื่อง: ยีนส์​ อรุณรัตน์
อ้างอิง: The Guardian