'อภัยภูเบศร' เจ๋ง!! ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี หนุนหน่วยผู้ป่วยแยกโรค รองรับผู้ป่วยโควิด

โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ปรับกลยุทธ์รับมือโควิด กับ โครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ดิจิทัลในหน่วยผู้ป่วยแยกโรคเพื่อรองรับผู้ป่วย COVID-19 และผู้ป่วยโรคติดเชื้อ (SMART ISOLATION UNIT) ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พัฒนาการให้บริการรองรับผู้ป่วยในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ดิจิทัลในหน่วยผู้ป่วยแยกโรคเพื่อรองรับผู้ป่วย COVID-19 และผู้ป่วยโรคติดเชื้อ (SMART ISOLATION UNIT) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยโควิด ลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วย ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ และบุคลากรการแพทย์สามารถทำงานได้อย่างปลอดภัย

โครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ดิจิทัลในหน่วยผู้ป่วยแยกโรคเพื่อรองรับผู้ป่วย COVID-19 และผู้ป่วยโรคติดเชื้อ (SMART ISOLATION UNIT) ของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 

โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นโรงพยาบาลศูนย์ประจำจังหวัด ระดับ A ขนาด 500 เตียง ดูแลรับผิดชอบประชากรกว่า 80,000 คน/ปี และเป็นศูนย์รับต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลในเครือข่ายกว่า 7 แห่ง มีผู้ป่วยนอก (OPD) เฉลี่ยกว่า 1,000 รายต่อวัน และในสถานการณ์โควิดที่มียอดผู้ป่วยติดเชื้อในจังหวัดปราจีนบุรีที่เพิ่มมากขึ้น โรงพยาบาลจึงต้องเร่งพัฒนาและปฏิรูปการให้บริการและรักษาผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพและสามารถรองรับสถานการณ์แพร่ระบาดระลอกใหม่ได้อย่างทันท่วงที 

จากงบประมาณสนับสนุนของกองทุนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โรงพยาบาลได้นำมาพัฒนาปรับปรุงหน่วยผู้ป่วยแยกโรคเพื่อรองรับผู้ป่วย COVID-19 และผู้ป่วยโรคติดเชื้อ (SMART ISOLATION UNIT) โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ดิจิทัลในการพัฒนาระบบ Smart Isolation Unit ขนาด 30 เตียง ที่จะสามารถรองรับผู้ป่วยได้ถึง 9,000 คน/ปี ที่ประกอบไปด้วย 4 ระบบย่อย คือ…

1.) ระบบการระบุตัวและตำแหน่ง (Identification System) ด้วยการใช้เทคโนโลยี RFID และ IoT ในการระบุตำแหน่งผู้ป่วย บุคลากร และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อลดความผิดพลาดในการรักษาผิดคน และติดตามการเคลื่อนไหวและตำแหน่งทำให้ควบคุมการแพร่ระบาดได้ รวมถึงสามารถจัดการบริหารอุปกรณ์ ทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2.) ระบบเฝ้าติดตามการทำงานของหัวใจและสัญญาณชีพผู้ป่วยแบบรวมศูนย์ (Remote Patient Monitoring) อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถแสดงสัญญาณชีพแบบเรียลไทม์ที่ห้องพยาบาล พร้อมมีระบบประเมินอาการผู้ป่วย กรณีที่ผู้ป่วยมีแนวโน้มมีอาการแย่ลงสามารถส่งสัญญาณเตือนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันเวลา

3.) ระบบ Electronic medical record (EMR) แบบ Paperless นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการทำงานด้วยการบันทึกข้อมูลทางการแพทย์ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยสามารถบันทึกเวลาที่ผู้ป่วยเกิดอาการได้ตลอดเวลา และช่วยลดการใช้ทรัพยากรกระดาษ (Paperless) เชื่อมโยงข้อมูลกับระบบ Hospital Information System

4.) ระบบกระสวยส่งยาและสิ่งส่งตรวจทางการแพทย์ (Pneumatic Tube System) เป็นระบบการขนส่งยาและตัวอย่างทางห้องปฏิบัติการโดยการลำเลียงผ่านท่อลม ช่วยให้ประหยัดเวลาในการดูแลผู้ป่วยและช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อ

ผลลัพธ์จากการพัฒนาหน่วยผู้ป่วยแยกโรคเพื่อรองรับผู้ป่วย COVID-19 และผู้ป่วยโรคติดเชื้อ (SMART ISOLATION UNIT) ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิดต่ำกว่า 2% ผู้ป่วยโควิดได้รับการรักษาตามมาตรฐานถึง 80% อัตราการครองเตียงของผู้ป่วยโควิดเฉลี่ยน้อยกว่าค่าเฉลี่ยประเทศ อัตราการติดเชื้อของบุคลากรการแพทย์ เท่ากับ 0% ถือเป็นต้นแบบในการพัฒนาหน่วยผู้ป่วยแยกโรคที่มีประสิทธิภาพ เป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยพัฒนางานด้านการบริการสาธารณสุขในช่วงสถานการณ์โควิดได้อย่างแท้จริง ช่วยลดอัตราการเสียชีวิต อัตราการติดเชื้อ ลดการใช้ทรัพยากรทางการแพทย์ ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนงบประมาณที่มีคุณค่าจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนที่ช่วยให้คนไทยก้าวพ้นวิกฤตโควิด-19 ได้อย่างยั่งยืน


ที่มา: https://siamrath.co.th/n/294153