'ไชยันต์' ย้อนปมปริศนาเอนทรานซ์ปี 47 เปิดคะแนน 'อุ๊งอิ๊ง' พุ่งสูงมหัศจรรย์

'ไชยันต์' ย้อนปมปริศนาข้อสอบเอนทรานซ์ปี 47 รั่ว เปิดคะแนนสูงมหัศจรรย์ลูกสาวอดีตนายกฯ สร้างรอยด่างวงการศึกษาไทยครั้งใหญ่

ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า…

ปมปริศนาความไม่เสมอภาคและความอยุติธรรมทางการศึกษาในปี พ.ศ. 2547 กรณีข้อสอบ Entrance ปี 47 รั่ว

แพทองธาร คะแนนสูงมหัศจรรย์ เมื่อคะแนน Ent ครั้งนั้นออก ผลการสอบของลูกสาวนายกฯ เทียบกับครั้งแรกตะลึง ภาษาไทย จาก 52 เพิ่มเป็น 72, สังคม จาก 41.25 เพิ่มเป็น 67.5, ภาษาอังกฤษจาก 64 เพิ่มเป็น 84, คณิตศาสตร์ 2 จาก 27 เพิ่มเป็น 63

ศ.ร.ต.อ.วรเดช จันทรศร เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เปิดซองต้นฉบับการ์ดข้อสอบ วิชาภาษาไทยและวิชาสังคมศึกษา ก่อนส่งให้คณะอนุกรรมการพิมพ์ข้อสอบ

ผลสรุปเอ็นทรานซ์รั่ว “ทักษิณ-อดิศัย” ต้องรับผิดชอบ (14 มิ.ย. 47) กรณีข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยเอ็นทรานซ์รั่วที่ปรากฏขึ้นในรัฐบาลชุดนั้นถือเป็นรอยด่างให้กับวงการศึกษาไทยครั้งใหญ่ ทำให้ความเชื่อมั่นศรัทธาต่อระบบการสอบเอ็นทรานซ์ที่เคยได้รับความเชื่อถือศรัทธามานานนับสิบปีต้องสั่นคลอนอย่างหนัก ทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายอดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ต่างยืนยันว่า “ข้อสอบไม่รั่ว” รวมทั้งแสดงพฤติกรรมปกป้องคนผิดมาตลอด

เมื่อคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุด นายสุเมธ ตันติเวชกุล เป็นประธาน มีข้อสรุปว่า “ข้อสอบรั่ว” ศูนย์วิจัยฯ พรรคประชาธิปัตย์ ขณะนั้น เห็นว่าเมื่อผลสรุปออกมาแบบนี้ ทั้งนายกฯ ทักษิณ และ รมต.อดิศัย ต้องแสดงรับผิดชอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผลสรุปคณะกรรมการสอบสวนฯ ตบหน้า “ทักษิณ-อดิศัย”

ก่อนหน้านี้เมื่อเกิดเหตุการณ์อื้อฉาว สังคมตั้งข้อสงสัยเรื่องข้อสอบเอ็นทรานซ์รั่ว เพราะมีการเปิดเผยพฤติกรรมของข้าราชการระดับสูงบางคน โดยเฉพาะ ร.ต.อ.วรเดช จันทรศร อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (ก.อ.) ว่าไม่โปร่งใส มีการเปิดดูข้อสอบหรือนำข้อสอบไปเก็บไว้ในห้องทำงาน ในครั้งนั้นบรรดานักเรียน ผู้ปกครองรวมทั้งประชาชนทั่วไปเกิดความสงสัยและเรียกร้องให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้นมาโดยเร็ว

แต่ปรากฏว่า ได้รับการขัดขวางทุกวิถีทางทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะนายกฯ ทักษิณ และรมต.อดิศัยต่างออกมาปฏิเสธ และเห็นว่าไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแต่อย่างใด อีกทั้งในบางครั้งยังออกมาพูดในทำนองว่าเรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้นเป็นเกมการเมืองหรือมีบางกลุ่มต้องการสร้างกระแสเพื่อดิสเครดิตรัฐบาลเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อกระแสสังคมเริ่มกดดันขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้รัฐบาลทนฝืนกระแสต่อไปไม่ไหว ก็มีการย้าย ร.ต.อ.วรเดช ไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษา แทนที่จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงให้คลายความสงสัยกับสังคม หรือยังมีการตกรางวัลความดีความชอบตามระเบียบสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพิ่มให้อีก 2 ขั้น

ที่สุดแล้วเมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้จึงต้องยอมแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และมีข้อสรุปในเวลาต่อมาว่า “ข้อสอบรั่ว” รวมทั้งยังระบุว่า การกระทำของ ร.ต.อ.วรเดช เป็นการไม่ถือปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ. 2544 ข้อ 30 เพราะในรายงานการสอบสวนยังชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนอีกว่า ร.ต.อ.วรเดช เป็นผู้เปิดดูซองข้อสอบและเปลี่ยนแปลงสถานที่เก็บข้อสอบถึงสองครั้ง

พฤติกรรมดังกล่าวของ ร.ต.อ.วรเดช ทางคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงยังระบุว่า มีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย ฐานปฏิบัติราชการไม่เป็นไปตามระเบียบของทางราชการและมติคณะรัฐมนตรี ไม่ปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมของทางราชการตามมาตรา 85 และมาตรา 91 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 และมีมูลที่ควรกล่าวหาว่าประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ ดังนั้น เมื่อรายงานผลการสอบสวนออกมาตรงกันข้ามกับท่าทีและคำยืนยันของผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาล สังคมจึงต้องการรู้ว่า ทั้งสองคนดังกล่าวจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไรบ้าง

“อดิศัยท้าทายสังคม ‘ตัดตอน’ ผลสอบเอ็นทรานซ์รั่ว” หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า อะไรคือสาเหตุจูงใจให้ ร.ต.อ.วรเดช และ รมต.อดิศัย ถึงกล้าแสดงพฤติกรรมที่ท้าทายสังคมมาตลอด อย่างไรก็ดี ถ้าหากมองย้อนไปในอดีตแล้วก็สามารถเชื่อมโยงได้ทันทีจากคำพูดของนายกฯ ทักษิณ ที่เคยกล่าวว่า จะให้นายอดิศัยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีไปจนครบ 4 ปี ซึ่งถือว่าเป็นการประกันเก้าอี้กันไว้ล่วงหน้า ทำให้หลายฝ่ายเข้าใจนี่อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ รมต.อดิศัย ไม่สนใจต่อสังคมมากนัก

ประกอบกับเวลานี้สิ่งที่สังคมยังตั้งข้อสงสัยและไม่พอใจคือ ความพยายามในการบิดเบือนข้อสรุปของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงจาก นายอดิศัย โพธารามิก ที่เคยออกมาแถลงรายงานผลการสอบสวนเพียงบางส่วนโดยสรุปเหลือเพียง 2 หน้า จากจำนวนทั้งหมด 15 หน้า

การแถลงดังกล่าวของ นายอดิศัย ทำให้หลายฝ่ายรวมทั้ง นายสุเมธ ถึงกับแสดงความผิดหวังพร้อมทั้งระบุว่า นายอดิศัยพยายาม “ตัดตอน” ผลการสอบสวน พฤติกรรมการ “อุ้ม” พวกเดียวกันจากผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรณีที่ นายอดิศัย แต่งตั้ง นายวีระศักดิ์ วงศ์สมบัติ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ซึ่งเป็นคนของกระทรวงศึกษาธิการด้วยกันเป็นประธานการสอบสวนวินัย ร.ต.อ.วรเดช แทนที่จะให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เป็นผู้สอบสวนตามคำแนะนำของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงฯ

พฤติกรรมของ นายอดิศัย ดังกล่าว นอกจากบ่งบอกถึงความไม่ต้องการให้มีการแสวงหาความจริงกรณีข้อสอบรั่ว รวมทั้งมีท่าทีปกป้องผู้กระทำผิดอย่างชัดเจนดังกล่าวแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจในด้านการศึกษาและการบริหารทางการศึกษา ซึ่งกรณีนี้นักวิชาการด้านกฎหมายตั้งข้อสังเกตว่า กรณีที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงฯ ระบุว่า ร.ต.อ.วรเดชมีความผิดวินัยร้ายแรง แต่นายอดิศัยระบุว่า แค่มีความผิดวินัยเท่านั้น หรือกรณีการสอบวินัยร้ายแรงข้าราชการ ซี 11 นั้น โดยหลักการแล้วจะต้องพักราชการผู้ถูกสอบวินัยร้ายแรงเอาไว้ก่อน อีกทั้งผู้ที่ทำหน้าที่ดำเนินการสอบสวนนั้นต้องไม่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาหรือผู้มีส่วนได้เสียอีกด้วย

นักวิชาการจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เช่น นายอมรวิชช์ นาครทรรพ ถึงกับระบุอย่างตรง ๆ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ว่า สาเหตุที่นายอดิศัยไม่ยอมเปิดเผยรายงานผลการสอบสวนทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า มีเงื่อนงำและมีการบิดบังความจริงต่อสาธารณชนอย่างแน่นอน

“องค์กรภาคประชาชนไม่ปล่อยคนผิดลอยนวล” จากพฤติกรรมพยายามปิดบังซ่อนเร้นดังกล่าวของกระทรวงศึกษาธิการทำให้เกิดการรวมพลังเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์กรประชาชนหลายองค์กรที่กำลังเคลื่อนไหว 2 แนวทางตามขั้นตอนคือ แนวทางแรก ยื่นเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการเพื่อให้วินิจฉัยสั่งการให้ นายอดิศัยเปิดเผยรายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริงฯ ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ 

แนวทางที่สองนั้น จะใช้มาตรการทางสังคมโดยจะทำหนังสือถึงนายอดิศัย ขอให้ส่งรายงานผลการสืบสวนข้อเท็จจริงไปให้ ก.พ.เพื่อดำเนินการสอบสวนทางวินัยร้ายแรงกับ ร.ต.อ.วรเดช เนื่องจากเห็นว่า นายอดิศัยมีส่วนได้เสียจึงไม่มีสิทธิ์ที่ตั้งคณะกรรมการสอบสวน ร.ต.อ.วรเดช

นอกจากนี้ยังจะปรึกษาไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงได้หรือไม่ และหากถึงที่สุดแล้วยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ก็จะใช้มาตรการตั้งโต๊ะเพื่อล่ารายชื่อ ร.ต.อ.วรเดช ให้ออกจากราชการ และขับไล่ นายอดิศัย ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการต่อไป

สรุป ความเคลื่อนไหวของสังคมที่เกิดขึ้นเวลานั้นเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความไม่พอใจต่อพฤติกรรมที่ไม่ชอบมาพากลของรัฐบาลมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งกรณี “ข้อสอบเอ็นทรานซ์รั่ว” เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนั้น

ที่สำคัญการกระทำผิดและการปกป้องการกระทำในครั้งนี้ถูกจับได้ไล่ทัน ด้วยผลการสอบสวนของคณะกรรมการที่กระทรวงศึกษาธิการตั้งขึ้นมาเอง ฉะนั้น การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและนายกรัฐมนตรีขณะนั้น นิ่งเฉยไม่ยอมแสดงความรับผิดชอบใด ๆ เหมือนกับกรณีอื่น ๆ เป็นสิ่งที่สังคมรับไม่ได้


ที่มา: https://www.thaipost.net/news-update/14518/