‘โรม’ หวัง กม.ป้องกันซ้อมทรมานลุล่วง อย่าให้ซ้ำรอยรัฐทำป่าเถื่อนกับประชาชนอีก

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมา นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวเนื่องในวาระครบรอบ 17 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมของประชาชนหน้าสถานีตำรวจภูธร อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 85 คน สูญหาย 7 คน และบาดเจ็บมากกว่า 1,000 คน ว่า ครบรอบ 17 ปี เหตุการณ์ตากใบ โศกนาฏกรรมและความอัปยศของการทรมานและการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่จะต้องไม่เกิดขึ้นอีก

นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ผมได้เข้าประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายด้วยนั้น ก็บังเอิญว่าตรงกับวันครบรอบ 17 ปี เหตุการณ์สังหารหมู่ที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส พอดี กล่าวโดยสรุป เหตุการณ์ครั้งนั้นเริ่มต้นจากการที่ชาวบ้านชุมนุมประท้วงที่หน้าสถานีตำรวจ เนื่องจากตำรวจได้จับกุมชาวบ้านจำนวนหนึ่งไปสอบสวนเป็นเวลานานกว่าสัปดาห์โดยไม่ยอมปล่อยออกมา ปรากฏว่าตำรวจกลับโต้ตอบด้วยการสลายการชุมนุม ใช้ปืนและแก๊สน้ำตาจนมีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 7 คน

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ทั้งยังควบคุมตัวอีกนับพันคนขึ้นรถบรรทุกโดยให้นอนทับกัน อยู่ในสภาพหายใจแทบไม่ออก ปัสสาวะและอุจจาระราด นำตัวไปค่ายทหารที่ห่างออกไปกว่า 150 กิโลเมตร จนมีผู้เสียชีวิตระหว่างทางและที่โรงพยาบาลเพิ่มอีก 78 คน ซึ่งจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครต้องรับผิดชอบอะไรกับการที่มีคนจำนวนมากเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ

“เมื่อมองย้อนกลับไป เหตุการณ์ตากใบก็คือหนึ่งในการกระทำอันโหดร้ายที่เรากำลังพยายามขจัดมันให้สิ้นไปอยู่นี้เอง การที่เจ้าหน้าที่นำคนมานอนทับกันนานหลายชั่วโมงจนขาดอากาศหายใจเสียชีวิต กระทำกับเขาด้วยการเลือกปฏิบัติเพราะเห็นว่าเป็นคนที่เข้าข้างผู้ที่ตัวเองสงสัยว่าก่อความไม่สงบ ย่อมเป็นที่ชัดเจนว่าเข้าข่ายการทรมาน และแม้ว่าบางคนอาจรอดชีวิตมาโดยไม่ได้รับอันตรายร้ายแรงเหมือนคนอื่นๆ แต่การที่เขาต้องนอนดมกลิ่นของเสียจากร่างกายคนอื่น ถูกกระทำเหมือนเป็นสิ่งของถูกบรรทุกไว้ นี่ก็ย่อมเข้าข่ายการกระทำย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

“กรณีตากใบและอีกหลาย ๆ กรณีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเป็นตัวอย่างชัดเจนของการทรมานและย่ำยีศักดิ์ศรีที่มีมานานแล้ว และมีมาโดยตลอด ซึ่งสิ่งที่เกิดในพื้นที่ดังกล่าวก็มักถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างในการพิจารณาของ กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันปราบปรามการทรมาน-อุ้มหายอยู่เสมอ” นายรังสิมันต์กล่าว

นายรังสิมันต์ กล่าวว่า พื้นที่ชายแดนภาคใต้ คือ พื้นที่ที่รัฐใช้งบประมาณและกำลังจำนวนมากในการพยายามสร้างความสงบ ซึ่งนานแสนนานแล้วที่ไม่สำเร็จ มีแต่การสูญเสียที่เกิดขึ้นพร้อมกับกรณีการอุ้มหาย ซ้อมทรมานจำนวนมาก โดยที่ประชาชนได้แต่หวาดกลัวเมื่อตัวพวกเขาในฐานะเจ้าของประเทศต้องอยู่อย่างหวาดกลัวต่อการถูกมองเป็นศัตรูโดยผู้มีอำนาจรัฐ

“การสูญเสียที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งของผู้มีอำนาจรัฐและประชาชนครั้งแล้วครั้งเล่าล้วนสร้างวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด จนนำมาสู่การเกิดขึ้นของกรณีซ้อมทรมานและอุ้มหายมากมายต่อมา

“หากการผลักดันกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานเสร็จสิ้น การเริ่มกลไกป้องกันสิทธิมนุษยชนจากการกระทำของรัฐก็จะสามารถเริ่มขึ้นได้ และเราจะได้ไม่มีกรณีอันน่าเศร้าสลดที่รัฐไทยกระทำต่อประชาชนของตนเองอย่างป่าเถื่อนเช่นนี้ให้ต้องมารำลึกการสูญเสียกันอีก” นายรังสิมันต์ระบุ