สหรัฐฯ งานงอก!! แรงงานขนส่งขาดแคลนหนัก ดันราคา 'สินค้า-พลังงาน' พุ่งจนฉุดไม่อยู่

ในเวลานี้ รัฐบาลไบเดนกำลังเผชิญปัญหาหนัก นอกเหนือจากความพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤติ Covid-19 ตามคำสัญญาของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ที่จะ "Make America Normal Again" - ทำให้อเมริกากลับมาเป็นปกติอีกครั้ง

แต่ล่าสุด รัฐบาลไบเดน กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายระลอกใหม่จากพิษของ Covid-19 ก็คือ ปัญหาจากระบบขนส่งกระจายสินค้า

ปัญหานี้ เกิดตั้งแต่แถบชายฝั่งตะวันตกที่ท่าเรือลอสแอนเจลิส จนลามไปทั่วประเทศ ที่ตอนนี้มีตู้คอนเทนเนอร์สินค้า รอส่งต่อไปยังปลายทางอยู่เป็นจำนวนมาก ระบายไม่ทัน แต่ในขณะเดียวกัน ภาคแรงงานยังไม่ฟื้นตัวทันปริมาณงานขนส่งที่เพิ่มขึ้นอย่างมากหลังการเปิดเมือง 

ด้วยปัญหาด้านการขนส่งที่ล่าช้า เลยทำให้สินค้าอุปโภค/บริโภค และน้ำมันเชื้อเพลิงมีราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ โดยเฉพาะอาหารสด เนื้อสัตว์ และน้ำมัน ที่เริ่มขาดแคลนแล้วในหลายพื้นที่ จึงทำให้ตอนนี้ชาวอเมริกันพากันออกไปซื้อสินค้ามากักตุนไว้เป็นจำนวนมาก เลยยิ่งทำให้ระบบขนส่งรวนหนัก เพราะยอดออเดอร์พุ่งสูงขึ้นเกินกว่าที่สินค้าจะระบายได้ทัน 

ปัญหาสารพันเหล่านี้ เกิดเพราะ Covid-19 เป็นเหตุ สังเกตได้ 

หลังจากที่ภาคอุตสาหกรรม การบริโภคหดตัวอย่างรุนแรงในช่วงที่ล็อกดาวน์เมือง พอกลับมาเปิดเมืองอีกครั้ง ความต้องการสินค้าก็เข้ามาทันควัน หลังจากที่อั้นมานาน แต่ระบบขนส่งเพิ่งกลับมาเดินเครื่อง ยังไม่ได้เต็ม 100% เหมือนก่อนช่วง Covid-19 จึงทำให้ระบบจัดการ รับส่งสินค้า ปั่นป่วนไปหมด 

แต่นอกเหนือจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์มองว่า ปัญหาภาคแรงงานในสหรัฐอเมริกาต่างหาก ที่เป็นสาเหตุของการ Disrupt ครั้งใหญ่ในกระบวนการขนส่ง เพราะตั้งแต่เกิดการระบาดของ Covid-19 มีคนทำงานหายไปจากระบบเป็นจำนวนมาก

และจากตัวเลขแรงงานในสหรัฐอเมริกาในเดือนสิงหาคม 2021 ที่ผ่านมาพบว่า มีคนทำงานลาออกจากงานมากกว่า 4.3 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติ Covid-19 ที่ในสหรัฐฯ ในปี 2020 เป็นต้นมา 

โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ วิทยา มานี คณะบริหารธุรกิจ แห่งมหาวิทยาเวอร์จิเนีย ให้ความเห็นว่า จาก Covid-19 ทำให้ภาคแรงงานเกิดการเปลี่ยนแปลงสับเปลี่ยนตำแหน่งกันอย่างขนานใหญ่ บางคนย้ายไปทำงานในสายงานที่ได้รับค่าตอบแทนสูงกว่า และบางคนก็ยังไม่ตัดสินใจกลับเข้ามาในระบบแรงงาน 

ซึ่งแรงงานในส่วนของขนส่ง และคลังสินค้า นับเป็นกลุ่มคนทำงานที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำมากที่สุด ที่ตอนนี้ขาดแคลนแรงงานมากกว่า 4.9 แสนตำแหน่ง จากข้อมูลของกระทรวงแรงงาน

จึงทำให้บริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ทั้ง Amazon Walmart Target ต้องหันมาทุ่มทุน ขึ้นค่าแรงและสวัสดิการเพื่อแย่งตัวคนงานกลับมาทำงานให้ทันก่อนเข้าช่วงคริสต์มาส 

ด้านสมาคมรถบรรทุกขนส่งสหรัฐ เปิดเผยว่าตั้งแต่ปี 2019 ก่อนสหรัฐฯ จะเจอปัญหา Covid-19 ก็ขาดแคลนคนขับรถบรรทุกอยู่ก่อนแล้วถึง 60,000 ตำแหน่ง พอมาปีนี้คาดว่า คนขับรถบรรทุกจะยิ่งขาดแคลนมากกว่านี้ เพราะคนทำงานเก่าเกษียณไป แต่คนขับรุ่นใหม่เข้ามาแทนไม่ทัน ติดปัญหาการฝึกอบรมเพื่อให้ได้ใบอนุญาต ที่ศูนย์ฝึกหลายแห่งปิดยาวช่วงล็อกดาวน์ เลยทำให้ขาดคนขับรถบรรทุกจำนวนมากทั่วประเทศอยู่ในขณะนี้ 

แต่ปัญหาหนักเรื่องการจัดการระบบขนส่งสินค้าในช่วงนี้ เกิดขึ้นหลายประเทศทั่วโลก ไม่แต่เฉพาะที่สหรัฐอเมริกาเท่านั้น บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชื่อดังอย่าง Moody's ได้วิเคราะห์ว่า ปัญหาเกิดจากความไม่สัมพันธ์กันระหว่างอุปสงค์ อุปทาน และภาคแรงงานด้านการขนส่ง ที่ส่งผลกระทบถึงกันหมดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ที่ตอนนี้กลายเป็นปัญหาระดับโลก สุดท้ายปัญหาจะค่อยๆ คลี่คลายได้เอง 

คำถามคือ ปัญหาจะคลี่คลายได้เองเมื่อไหร่?

จากความเห็นของ อาจารย์ นิค วียาส ผู้อำนวยการสถาบัน Kendrick Global Supply Chain Management แห่งมหาวิทยาลัยเซาธ์เทิร์น แคลิฟอร์เนีย มองว่าปัญหาเรื่องห่วงโซ่ระบบขนส่งมีโอกาสติดขัดนานกว่า 4-6 เดือน กว่าจะถึงจุดพีก ก่อนที่จะเริ่มฟื้นตัวขึ้น ซึ่งก็หมายความว่า ชาวอเมริกันอาจต้องเจอปัญหาขาดแคลนสินค้า อุปโภค/บริโภค รวมถึงน้ำมันตลอดช่วงเทศกาลวันหยุดสิ้นปี ซึ่งเป็นช่วงที่ธุรกิจร้านค้าในสหรัฐฯ จะมีโอกาสทำเงินได้มากที่สุดของปี

พีท บูทเทเจจ รัฐมนตรีคมนาคมสหรัฐฯ ออกมายอมรับว่า ปัญหาเรื่องระบบขนส่ง กระจายสินค้าทั่วประเทศ สร้างความปวดหัวหนักให้กับรัฐบาลไบเดนไม่น้อย และไม่สามารถแก้ไขได้ในทันที และอาจลากยาวจนถึงต้นปีหน้า สิ่งที่ทำให้คือต้องทยอยเคลียร์ตู้สินค้าที่กองล้นเต็มท่าเรือออกไปให้เร็วที่สุด ดังนั้นจึงสั่งให้เพิ่มกำลังคนลงไปช่วยระบายสินค้ากันตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน 

และก็ย้อนกลับมาที่ปัญหาเดิมๆ คือ จะไปหาแรงงานเพิ่มเติมได้ที่ไหน?

และปัญหานี้ก็ซ้ำเติมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ฟื้นคืนตัวยากขึ้นไปอีก จากเดิมที่โจ ไบเดน เคยคาดหวังว่า จะสามารถนำอเมริกาข้ามผ่าน Covid-19 กลับมาเป็นผู้นำโลกได้ดังเดิม ด้วยการระดมฉีดวัคซีน และเปิดประเทศ 

แต่ปรากฏว่า การระบาดระลอกใหม่จากสายพันธุ์เดลตา ทำวิกฤติ Covid-19 ลากยาวเกินกว่าที่รัฐบาลสหรัฐฯ ประเมินไว้มาก ซึ่งแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ 3.5 ล้านล้านดอลลาร์ของรัฐบาลไบเดน อาจไม่สามารถผลักดันเศรษฐกิจโดยรวมพุ่งทะยานได้ดังใจ เพราะมาติดปัญหาระบบขนส่งระบายสินค้าที่ป่วนอย่างหนักอยู่ในขณะนี้ 

และสิ่งที่รัฐบาลไบเดนกังวลยิ่งกว่านั้น คือ หากปีหน้าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงติดหล่มแบบนี้ ก็อาจส่งผลถึงคะแนนเสียงของพรรคในการเลือกตั้งครั้งต่อไป และเส้นทางสู่สมัยที่ 2 ของโจ ไบเดน ก็เป็นได้


ผู้เขียน: ยีนส์ อรุณรัตน์

อ้างอิง: ABC News / CNN