กระเป๋ามหาประลัย ที่กุมชะตาชีวิตของชาวโลก!! “Football & Cheget”

ประชากรกว่าเจ็ดพันล้านคนบนโลกใบนี้ ส่วนใหญ่แล้วไม่รู้ว่า ชะตากรรมของโลกขึ้นอยู่กับกระเป๋าเพียงสองใบ ใบแรกคือ “Football” อีกใบคือ “Cheget” ครั้งนี้จึงขอเล่าเรื่องราวของกระเป๋ามหาประลัยที่กุมชะตาชีวิตของชาวโลกทั้งสองใบนี้!!

“Football” (Nuclear Football) เป็นชื่อเรียก กระเป๋าฉุกเฉินติดตั้งปุ่มสั่งยิงอาวุธนิวเคลียร์ประจำตำแหน่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นกระเป๋าเอกสารซึ่งจะใช้โดยประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา เพื่ออนุญาตให้มีการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ในขณะที่อยู่ห่างจากศูนย์บัญชาการคงที่ เช่น ทำเนียบขาว ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางด้านอุปกรณ์เคลื่อนที่ในระบบการป้องกันทางยุทธศาสตร์ของประเทศสหรัฐอเมริกา ถูกนำพาและรักษาโดยนายทหารคนสนิทประจำตัวประธานาธิบดีฯ

จากข้อมูลของเว็บไซต์ businessinsider.com ได้อ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ Bill Gulley เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวที่เคยผ่านงานอารักขาและการรักษาความปลอดภัยในทำเนียบขาว ซึ่งเปิดเผยว่า กระเป๋าสีดำที่ทั่วโลกเฝ้าสงสัยใบนี้คือสิ่งสำคัญที่ส่งมอบให้ประธานาธิบดีคนแล้วคนเล่าเพื่อใช้มันในภาวะฉุกเฉินและประกอบด้วยของสำคัญ 4 อย่างคือ

1.) หนังสือปกสีดำจำนวน 75 หน้า ซึ่งบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับนิวเคลียร์ และเงื่อนไขสำหรับการตอบโต้ในกรณีฉุกเฉิน โดยรายละเอียดจะถูกพิมพ์ด้วยหมึกสีดำและแดง
2.) หนังสือสีดำอีกหนึ่งเล่มที่รวบรวมรายชื่อสถานที่หลบภัยที่มีการป้องกันระดับสูงสุดซึ่งเข้าได้เฉพาะประธานาธิบดีสหรัฐฯ เท่านั้น
3. เอกสารจำนวน 10 หน้า ที่อธิบายเกี่ยวกับการวางตัวของประธานาธิบดีเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งสิ่งที่ควรสื่อสารเมื่อทำการถ่ายทอดสดแบบฉุกเฉินด้วยตัวเอง
4. การ์ดสำหรับเข้าถึงข้อมูลรหัสระดับสูงของกระทรวงความมั่นคง (‘Biscuit’ การ์ดพลาสติกขนาด 3 คูณ 5 นิ้ว ซึ่งมีรหัสลับเพื่อยืนยันตัวตนประธานาธิบดี)

นอกจากนี้ยังมีกระเป๋าอีกแบบหนึ่งที่มีเสาอากาศยื่นออกมา ซึ่งมีคำกล่าวอ้างว่า กระเป๋าใบนั้นมีอุปกรณ์สื่อสารระดับสูงติดอยู่ และภายในมีคำสั่งยิงนิวเคลียร์ติดอยู่ด้วย และเพื่อความปลอดภัยสูงสุด กระเป๋าใบนี้จึงไม่ได้ถูกถืออยู่ในมือของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยตรง แต่จะมีนายทหารติดตามรับหน้าที่ดูแลกระเป๋าใบนั้นแทน และคนที่จะมารับตำแหน่งนี้ได้ ก็ต้องผ่านฝึกงานด้านอารักขามาโดยเฉพาะ และต้องมีทักษะพิเศษที่สามารถดำเนินการยิงนิวเคลียร์ภายใต้คำสั่งของประธานาธิบดีภายในเวลาไม่กี่นาทีเท่านั้น

Football มาจากรหัสปฏิบัติการสงครามนิวเคลียร์ ‘Operation Dropkick’ เพราะการ Dropkick ต้องใช้ Football เป็นอาวุธ กระเป๋าหนังใบนี้จะอยู่กับทหารองครักษ์ของประธานาธิบดี ซึ่งต้องเดินเป็นเงาตามตัวตลอดเวลาเมื่อออกนอกสถานที่ ทั้งในเครื่องบินประจำตำแหน่งประธานาธิบดี Air Force One, เฮลิคอปเตอร์ประจำตำแหน่งประธานาธิบดี Marine One และการเดินทางด้วยพาหนะอื่น ๆ โดยนายทหารติดตามนี้จะเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติตามกำหนดครบถ้วน

Nuclear Football เริ่มมีใช้ตั้งแต่สมัย ประธานาธิบดี John F. Kennedy ในช่วงวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา Football รุ่นปัจจุบันเป็นกระเป๋าโลหะ Zero-Halliburton หนัก 20 กิโลกรัม หุ้มด้วยหนังสีดำ กระเป๋านี้เปลี่ยนมาหลายใบแล้ว Nuclear Football ที่ปลดระวางแล้วจะนำไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ Smithsonian’s National Museum of American History ในวอชิงตัน เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นถึงอำนาจและความรับผิดชอบของประธานาธิบดี 

ประธานาธิบดี George W. Bush และ Donald H. Rumsfeld รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในขณะนั้นเดินออกศูนย์บัญชาการทหารแห่งชาติ (National Military Command Center) ณ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เมื่อ 23 มีนาคม พ.ศ. 2546

มีข้อมูลระบุอีกว่า จริง ๆ แล้ว Nuclear Football มีทั้งหมดสามใบ หนึ่งอยู่ที่ประธานาธิบดี ใบที่สองอยู่กับรองประธานาธิบดี และสามอยู่ที่ทำเนียบขาว เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน เมื่อมีเหตุฉุกเฉินที่จำเป็นต้องใช้มาตรการตอบโต้การโจมตีด้วยขีปนาวุธนิวเคลียร์ ประธานาธิบดีซึ่งเป็นผู้บัญชาการสูงสุดจะออกคำสั่งและส่งรหัสบนการ์ด Biscuit ไปยังศูนย์บัญชาการทหารแห่งชาติ (National Military Command Center) ณ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (อาคาร Pentagon) โดยมีหน้าที่เฝ้าระวังภัยคุกคามนิวเคลียร์จากทั่วโลก

จากนั้นรหัสนี้จะส่งไปยังกระทรวงกลาโหม (สามารถทำการตัดสินใจแทนได้ในกรณีที่ประธานาธิบดีถูกลอบสังหาร) ตามด้วยศูนย์บัญชาการฐานทัพอากาศในมลรัฐ Nebraska และตามกฎ Two-man rule ของสหรัฐฯ ผู้ดำเนินการยิงขีปนาวุธต้องยืนยันรหัสว่า รหัสที่ประธานาธิบดีส่งมาตรงกับรหัสที่เก็บรักษาไว้ โดยการยิงขีปนาวุธนี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สามารถสั่งให้ยิงไปยังเป้าหมายศัตรูทั้งหมด หรือเลือกยิงเป็นบางเมืองได้ เช่น กรุงเปียงยาง กรุงปักกิ่ง และกรุงมอสโคว์

เหล่าบรรดานายทหารที่ทำหน้าที่ถือกระเป๋า ล้วนแต่ถูกฝึกมาให้สามารถเปิดคำสั่งยิงอาวุธนิวเคลียร์ได้ภายในระยะเวลา 2-3 นาทีเท่านั้น!!! Robert Patterson อดีตนายทหารระดับสูงที่เคยถือกระเป๋าฟุตบอลให้กับประธานาธิบดี Bill Clinton ได้ให้สัมภาษณ์กับทาง Associated Press ว่า “คุณจะเหมือนว่ามีความกังวลอยู่ตลอด บางครั้งผมก็เปิดมันขึ้นมาเพื่อดูว่ามันมีอะไรอยู่ภายใน เพื่อความแน่ใจ และเป็นการ Refresh ตัวเองเท่านั้น ที่สำคัญราวกับเป็นการเตรียมตัวและฝึกซ้อม เมื่อถึงสถานการณ์ฉุกเฉินที่ท่านประธานาธิบดีต้องตัดสินใจบางเรื่องสำคัญ คุณสามารถทำมันได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ” เพราะฉะนั้นกระเป๋าฟุตบอลนี้จะอยู่ติดตัวกับท่านประธานาธิบดีตลอด บนเครื่องบินลำเดียวกัน รถคันเดียวกัน และพออยู่ในทำเนียบขาว ก็จะอยู่ในตู้ลับปลอดภัยที่เก็บล็อกเอาไว้อย่างแน่นหนา!!! ตามคำบอกเล่าของ Patterson เขาเคยต้องถือกระเป๋านี้วิ่งไปรอบ ๆ ทำเนียบขาว เพราะประธานาธิบดี Clinton มักจะวิ่งออกกำลังกายรอบ ๆ ทำเนียบขาว เป็นภาพที่ทุลักทุเลพอสมควรเลยทีเดียว

ด้วยประธานาธิบดีสหรัฐฯ จำเป็นและต้องการอำนาจการสั่งยิงหัวรบอย่างรวดเร็ว และได้ยกเรื่องนี้ขึ้นในที่ประชุมของประเทศ กระเป๋าใบนี้ จึงเป็นสิ่งที่แสดงถึงแสนยานุภาพทางการทหาร และหัวรบนิวเคลียร์ ที่ติดตามประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจากรุ่นสู่รุ่นไปในทุก ๆ ที่ คนทั่วไปก็คงจะนึกว่าเป็นกระเป๋าเอกสาร หรือของใช้อะไรพวกนั้น ไม่คิดเลยว่า กระเป๋าใบนี้จะสำคัญขนาดนี้ ประมาทสิ่งของเล็ก ๆ ไม่ได้จริง ๆ ถึงจะเป็นของประจำตัวประธานาธิบดีสหรัฐฯ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะติดตามตัวไปในทุกที่ เพราะอย่างน้อยเมื่อเดินทางกลับบ้าน กระเป๋าใบนี้จะยังคงถูกเก็บไว้ในทำเนียบขาว และถูกคุ้มกันเป็นอย่างดี ที่สำคัญคือ ไม่เคยมีใครเปิดเผยว่า กระเป๋าใบนี้ถูกเก็บเอาไว้ที่ไหน?

Cheget (ชีเกท) หรือกระเป๋าใส่รหัสยิงอาวุธนิวเคลียร์ประจำตัวประธานาธิบดีรัสเซีย ครั้งหนึ่งในช่วงเวลาเช้าตรู่ของวันที่ 25 มกราคม ปี พ.ศ. 2538 เจ้าหน้าที่เรดาร์ของรัสเซียที่ Olenegorsk กับงานอันน่าเบื่อในการนั่งจ้องมองกับจอเรดาร์ทั้งวันทั้งคืน แต่ทว่าวันนี้แตกต่างจากวันอื่น ๆ ที่ผ่านมา เพราะสัญญาณเตือนบางอย่างแสดงขึ้นมาให้เห็นบนจอเรดาร์ว่า มีการตรวจพบวัตถุบางอย่างกำลังเคลื่อนที่เข้ามาด้วยความเร็วสูงในทะเล Barents และมันกำลังมุ่งหน้าตรงดิ่งเข้ามาทางภาคเหนือของรัสเซีย

เมื่อพบสัญญาแจ้งการมาของวัตถุบางอย่างบนจอเรดาร์ เจ้าหน้าที่เรดาร์ของรัสเซียที่เข้าเวรอยู่ในเวลานั้น ทำการวิเคราะห์ถึงลักษณะของวัตถุและที่มาของมัน ใช้เวลาไม่นานนัก พวกเขาก็ทราบว่า วัตถุลึกลับนั้นมันคือ Missile ไม่ทราบประเภทและขนาดของมัน ข้อสันนิษฐานแรกในวินาทีนั้นของรัสเซีย พวกเขาเชื่อว่า เจ้า Missile นี้มันน่าจะถูกยิงมาจากเรือดำน้ำของกองทัพเรืออเมริกัน ที่มักจะเข้ามาลาดตระเวนในบริเวณนั้นเป็นประจำ เพื่อสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวของกองเรือรบรัสเซีย และจากระยะทางที่มันถูกยิงออกมา มันจะเข้าถึงแผ่นดินใหญ่ของรัสเซียได้ภายในเวลา 10 นาที

ประธานาธิบดี Boris Yeltsin กับ ประธานาธิบดี Putin

ข่าวการตรวจพบ Missile นี้ ถูกแจ้งไปยังกองบัญชาการกองทัพรัสเซียในกรุงมอสโกทันทีว่า รัสเซียกำลังถูกโจมตีจาก Missile ที่ถูกยิงออกมาจากเรือดำน้ำของอเมริกัน ข้อมูลทั้งหมดถูกรีบแจ้งไปยังประธานาธิบดี Boris Yeltsin (ประธานาธิบดีรัสเซียในขณะนั้น) ว่า พวกเขามีเวลาเพียง 10 นาทีเท่านั้น ที่ต้องรีบในการตัดสินใจทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ในวิกฤตินี้ 5 นาทีผ่านไป มีคำสั่งไปยังกองทัพเรือรัสเซีย ให้เรือดำน้ำรัสเซียทุกลำ รวมทั้งเรือดำน้ำที่ติดขีปนาวุธนิวเคลียร์ ที่ลอยลำอยู่ในน่านน้ำใกล้ ๆ กับแผ่นดินสหรัฐอเมริกา ให้เริ่มดำเนินการเตรียมยิงขีปนาวุธ และรอคำสั่งยิง เพื่อทำการโต้ตอบต่อแผ่นดินสหรัฐอเมริกา พร้อมกับเน้นย้ำไปยังเรือทุกลำว่า “นี่ไม่ใช่การซ้อมรบ” 4 นาทีผ่านไป ผู้บัญชาการกองทัพรัสเซีย ทุกเหล่าทัพรอฟังคำสั่งยิงจากประธานาธิบดี Yeltsin โดยมีการนำ Cheget หรือกระเป๋าใส่รหัสยิงอาวุธนิวเคลียร์ประจำตัวประธานาธิบดีรัสเซียมาเตรียมไว้ให้

ขีปนาวุธยิงจากเรือดำน้ำของรัสเซีย

เรือดำน้ำบรรทุกอาวุธนิวเคลียร์ดำเนินขั้นตอนการยิงจรวดพร้อมแล้ว เหลือแค่รอคำสั่งยิงเท่านั้น ความตึงเครียดก่อตัวไปทั่วห้องบัญชาการที่มอสโก นายทหารและเจ้าหน้าที่ทุกคน จับจ้องมาที่ตัวของประธานาธิบดี Yeltsin เพราะเขาคือผู้เดียวเท่านั้นในรัสเซียที่จะออกคำสั่งยิงได้ แต่ประธานาธิบดี Yeltsin เลือกที่จะยังไม่ออกคำสั่งใด ๆ เขากลับรอเวลาเพื่อดูท่าทีอีกครั้งหนึ่ง ท่ามกลางเสียงเร่งเร้าและเตือนของบรรดานายทหาร แต่หลังจาก 9 นาทีผ่านไป Missile ลึกลับนั้นก็ได้หายไปจากจอเรดาร์ สัญญาณสุดท้ายที่ตรวจพบ Missile ลูกนี้ คือบริเวณเหนือท้องทะเล

กองทัพรัสเซียรีบทำการตรวจสอบเมืองทุกเมืองในรัสเซีย หรือแม้กระทั่งหมู่บ้านที่ห่างไกลในทุก ๆ มุมของรัสเซีย ตั้งแต่ไครเมีย จนถึง ไซบีเรีย ว่ามีสถานที่แห่งใดในรัสเซียบ้างที่เสียหายจากการโจมตี หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีรายงานกลับมาว่า “ไม่มีเมือง หรือ พื้นที่ใด ๆ ในรัสเซีย เสียหายจากการโจมตีแต่อย่างใด” Missile ลูกนั้นมันมาไม่ถึงแผ่นดินรัสเซีย ทุกคนในห้องต่างโล่งอก เมื่อแน่ชัดว่า Missile นั้นหายไปแล้วประธานาธิบดี Yeltsin จึงออกคำสั่งไปยังกองทัพรัสเซีย ให้ยกเลิกคำสั่งยิงอาวุธนิวเคลียร์ และกองกำลังที่เตรียมพร้อมอยู่นั้น ให้ลดระดับการเตรียมพร้อมรบลงมาในระดับปกติ

Black Brant XII จรวดสำรวจชั้นบรรยากาศ

หลังจากนั้น 1 ชั่วโมงต่อมา ทางการรัสเซียจึงได้ทราบข้อเท็จจริงว่า แท้จริงแล้ว Missile ลึกลับนั้นคือ Black Brant XII จรวดสำรวจชั้นบรรยากาศของทีมนักวิทยาศาสตร์นอร์เวย์และอเมริกัน เพื่อศึกษาปรากฏการณ์ การเกิดแสงออโรร่า (Aurora) ในชั้นบรรยากาศโลก เหตุการณ์ที่เกือบนำพาโลกเข้าสู่สงครามนิวเคลียร์นี้ ได้ทำให้ประธานาธิบดีของอเมริกาและรัสเซีย ต้องหันมาวางมาตรการการป้องกันการเกิดเรื่องเข้าใจผิด ที่เกือบจะเลยเถิดจนกลายเป็นสงครามในครั้งนี้

ประเทศไหนที่มี อาวุธนิวเคลียร์บ้าง ?
ปัจจุบันโลกมีหัวรบนิวเคลียร์ประมาณ 31,000 หัว ที่ยังคงบรรจุประจำการอยู่ใน 8 ประเทศ ไม่รวมเกาหลีเหนือ ได้แก่ สหรัฐฯ รัสเซีย จีน สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อินเดีย ปากีสถาน และอิสราเอล โดยส่วนหนึ่งถูกเก็บรักษาไว้ในคลังแสง และอีกส่วนหนึ่งได้เคลื่อนย้ายวางกำลังไว้ ณ ที่ตั้งหน่วยทหารที่เป็นหน่วยยิงประมาณ 13,000 หัว ซึ่งในจำนวนนี้อยู่ในสภาพพร้อมรบเต็มที่ High Alert ประมาณ 4,600 นัด พร้อมใช้งานในไม่กี่นาทีตลอดเวลา หัวรบนิวเคลียร์เหล่านี้มีอำนาจการทำลายคิดเป็นน้ำหนักระเบิด TNT (Trinitrotoluene : C6H2(NO2)3CH3) ประมาณ 5,000 Megaton คือประมาณ 20,000 เท่าของระเบิดนิวเคลียร์ที่ใช้ที่ฮิโรชิมา ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
(หมายเหตุ : อ้างอิงข้อมูลจาก Natural Resources Defense Council ของสหรัฐฯ)

สหราชอาณาจักร : กำลังรบนิวเคลียร์ของสหราชอาณาจักร หรืออังกฤษ มีแต่เพียงอาวุธปล่อยจากเรือดำน้ำ Trident II D5 จำนวน 16 ลำ รวม 48 ฐานยิง และถือครองหัวรบนิวเคลียร์อยู่ 185 หัว ๆ ละ 100 Kiloton คิดเป็นน้ำหนักระเบิดรวม 18.5 Megaton

จีน : กำลังรบนิวเคลียร์ของจีน ประกอบด้วย ขีปนาวุธที่ติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ข้ามทวีป (ICBMs) อาวุธปล่อยจากเรือดำน้ำนิวเคลียร์ (SLBMs) และเครื่องบินทิ้งระเบิด (Bombers) รวมทั้งสิ้น 275 ฐานยิง และคาดว่าถือครองหัวรบนิวเคลียร์อยู่ประมาณ 225 หัว เป็นประเทศที่ถือครองอาวุธนิวเคลียร์ ที่มีขีดความสามารถที่จะโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Attack) ได้ครอบคลุมทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย อาจเว้นก็แต่ทวีปอเมริกาใต้ เท่านั้น ด้วยขีปนาวุธ CSS-4 ระยะยิงสูงสุด 13,000 กิโลเมตร และขีปนาวุธ DF-31 ระยะยิงสูงสุด 8,000 กิโลเมตร

ฝรั่งเศส : กำลังรบนิวเคลียร์ของฝรั่งเศส ประกอบด้วย อาวุธปล่อยจากเรือดำน้ำนิวเคลียร์ SLBMs และเครื่องบินทิ้งระเบิด Bombers รวมทั้งสิ้น 133 ฐานยิง และถือครองหัวรบนิวเคลียร์ทั้งสิ้น 449 ลูก

สหรัฐฯ : กำลังรบนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ประกอบด้วย ขีปนาวุธที่ติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ข้ามทวีป ICBMs, อาวุธปล่อยจากเรือดำน้ำนิวเคลียร์ SLBMs และเครื่องบินทิ้งระเบิด Bombers รวมทั้งสิ้น 1,074 ฐานยิง ถือครองหัวรบนิวเคลียร์ประมาณ 5,170 หัว และรวมอำนาจการทำลายที่คิดเป็นน้ำหนักระเบิด TNT มากกว่า 1,560 Megaton สหรัฐฯ เป็นชาติมหาอำนาจที่ถือครองอาวุธนิวเคลียร์ที่มีศักยภาพสูงที่สุดในโลก มีระบบจัดส่ง เช่น ระบบอาวุธปล่อย ขีปนาวุธ อากาศยานทิ้งระเบิดระยะไกล หรือ ระบบทำการยิงจากใต้น้ำ ซึ่งสามารถนำพาหัวรบนิวเคลียร์ไปสู่เป้าหมายได้ทุกแห่งหนบนโลก ด้วยเทคโนโลยีที่สูงกว่า และไม่มีที่ใดในโลกนี้ที่หัวรบนิวเคลียร์สหรัฐฯ ไปไม่ถึง

สหรัฐฯ แสดงเจตจำนงมาโดยตลอด ที่จะถือครองอาวุธนิวเคลียร์ไว้ เพื่อเผชิญหน้ากับความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์แห่งชาติในระดับสูงสุด ที่กระทบต่อความอยู่รอดของชาติ (Survival Interest) กับใช้เพื่อการป้องปรามทางยุทธศาสตร์

รัสเซีย : กำลังรบนิวเคลียร์ของรัสเซีย ประกอบด้วย ขีปนาวุธที่ติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ข้ามทวีป ICBMs, อาวุธปล่อยจากเรือดำน้ำนิวเคลียร์ SLBMs และเครื่องบินทิ้งระเบิด (Bombers) รวมทั้งสิ้น 1,174 ฐานยิง ถือครองหัวรบนิวเคลียร์ประมาณ 5,972 หัว และรวมอำนาจการทำลายที่คิดเป็นน้ำหนักระเบิด TNT มากกว่า 2,800 Megaton รัสเซีย เป็นประเทศที่ถือครองอาวุธนิวเคลียร์ที่มีศักยภาพเป็นรองก็แต่เพียงสหรัฐฯ มีขีดความสามารถที่จะโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Attack) ได้ครอบคลุมทั่วโลก ด้วยขีปนาวุธที่ติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ข้ามทวีป (ICBMs) อาวุธปล่อยจากเรือดำน้ำนิวเคลียร์ (SLBMs) และเครื่องบินทิ้งระเบิด (Bombers) โดยมีจำนวนฐานยิง และจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ มากกว่าสหรัฐฯ

ยิ่งไปกว่านั้น ปฏิบัติการนิวเคลียร์ (Nuclear Operations) ต่อสหรัฐฯ จะใช้เส้นทางผ่านขั้วโลกเหนือเป็นหลัก กับการใช้เรือดำน้ำนิวเคลียร์ เล็ดลอดเข้าไปจ่อยิง เพื่อให้มีเวลาการป้องกันเหลือน้อยที่สุด เป็นที่คาดกันว่าหัวรบนิวเคลียร์ของรัสเซีย จะสามารถฝ่าข่ายการป้องกันของสหรัฐฯ ไปสู่เป้าหมายยุทธศาสตร์ได้จำนวนหนึ่ง ซึ่งจะทำให้พื้นที่ 1/3 ของสหรัฐฯ ถูกทำลายสิ้น ดังนั้น กำลังรบนิวเคลียร์ของรัสเซีย จึงถือเป็นภัยคุกคามอันดับ 1 ต่อสหรัฐฯ

อิสราเอล : มิได้ประกาศตนว่า เป็นชาติที่ถือครองอาวุธนิวเคลียร์ หากแต่บางแหล่งข่าวอ้างว่า อิสราเอล อาจถือครองหัวรบนิวเคลียร์ที่มีอำนาจการทำลายต่ำ (ประมาณ 1 กิโลตัน) อยู่ถึง 200 หัว แม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเฝ้าสังเกตนิวเคลียร์จะยังไม่เคยตรวจพบการทดลอง หรือการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ของอิสราเอลแต่อย่างไรก็ตาม แต่ตามข้อเท็จจริง อิสราเอล สามารถเข้าถึง รายละเอียดข้อมูลนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ และฝรั่งเศสได้

นอกจากนั้น อิสราเอล ยังถือครองขีปนาวุธ JERICHO I ระยะยิง 660 กิโลเมตร และ JERICHO II ระยะยิง 1,500 กิโลเมตรที่สามารถติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ได้ รวมทั้งจรวด SHAVIT ที่ใช้ในการปล่อยดาวเทียมของอิสราเอล ก็สามารถดัดแปรเพื่อนำส่งหัวรบนิวเคลียร์ข้ามทวีป ระยะยิง 7,800 กิโลเมตรได้เช่นกัน ทำให้อิสราเอล กลายเป็นชาติที่มีความพร้อมอย่างยิ่งในการถือครองอาวุธนิวเคลียร์

อินเดีย : กำลังรบนิวเคลียร์ของอินเดีย ประกอบด้วยขีปนาวุธ ปริวิ (PRITHVI) SS-250 ระยะยิง 200 กิโลเมตร และขีปนาวุธ อัคนี (AGNI) ระยะยิง 1,500-2,000 กิโลเมตร ติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ และเครื่องบินขับไล่โจมตี SU-30MK ที่ใช้ในการปฏิบัติการนิวเคลียร์ โดยถือครองหัวรบนิวเคลียร์อยู่ประมาณ 85 นัด

ทั้งนี้เชื่อว่าอินเดียอยู่ระหว่างการพัฒนาเรือดำน้ำที่สามารถติดตั้งอาวุธปล่อยนิวเคลียร์ได้อีกด้วย อินเดีย เป็นประเทศที่ถือครองอาวุธนิวเคลียร์ ที่มีขีดความสามารถที่จะโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Attack) ได้ครอบคลุม จีน ปากีสถาน อิหร่าน คาซัคสถาน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางส่วน ตลอดจน ยังมีการประเมินว่าอินเดีย มีขีดความสามารถที่จะโจมตีผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง ด้วยขีปนาวุธ AGNI ที่มีระยะยิงสูงสุด 2,000 กิโลเมตร

ปากีสถาน : กำลังรบนิวเคลียร์ของปากีสถาน ประกอบไปด้วยขีปนาวุธที่นำเข้าจากจีน ประมาณ 30 นัด รวมทั้งขีปนาวุธ HALF-3 ระยะยิง 600 กิโลเมตร และขีปนาวุธ GHAURI ระยะยิง 600 กิโลเมตร ที่พัฒนาผลิตขึ้นใช้เอง จำนวนหนึ่ง โดยคาดว่าถือครองหัวรบนิวเคลียร์อยู่ประมาณ 25 หัว ปากีสถาน เป็นประเทศที่ถือครองอาวุธนิวเคลียร์ ที่มีขีดความสามารถที่จะโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Attack) ได้ครอบคลุม อินเดีย ซาอุดีอาระเบีย เยเมน โอมาน คูเวต คาซัคสถาน และภาคตะวันตกของจีน ตลอดจน มีการประเมินว่าปากีสถาน มีขีดความสามารถที่จะโจมตีผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง เช่นเดียวกับอินเดีย ด้วยขีปนาวุธ CHAHEEN II ที่มีระยะยิงสูงสุด 2,000 กิโลเมตร

เกาหลีเหนือ : กำลังรบนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ จากข้อมูลข่าวสารการข่าวกรอง ยังไม่อาจยืนยันได้แน่นอนว่ามีศักยภาพในการปฏิบัติการนิวเคลียร์จริงหรือไม่ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเฝ้าสังเกตนิวเคลียร์ ตรวจพบการทดสอบนิวเคลียร์ เมื่อปี พ.ศ. 2549 และเกาหลีเหนือ อ้างว่าประสบความสำเร็จในการทดสอบ อย่างไรก็ตาม เกาหลีเหนือ มีศักยภาพในระบบจัดส่งที่เป็นขีปนาวุธหลายแบบ เช่น Taepo Dong II ซึ่งมีระยะยิงไกลถึง 6,000 กิโลเมตร

ทั้งนี้ มีผู้เชื่อว่า หากเกาหลีเหนือถือครองหัวรบนิวเคลียร์ไว้จริง ก็ไม่น่าเกิน 10 นัด และอำนาจการทำลายที่คิดเป็นน้ำหนักระเบิด TNT ของแต่ละหัวน่าจะน้อยกว่า 1 กิโลตัน ใกล้เคียงกับหัวรบนิวเคลียร์ที่เคยใช้โจมตีญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เกาหลีเหนือเป็นประเทศถือครองระบบส่งขีปนาวุธ และอาจมีหัวรบนิวเคลียร์ประมาณ 10 หัว อำนาจการทำลายหัวละประมาณ 1 กิโลตัน ขีดความสามารถของระบบจัดส่งที่เป็นขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ สามารถโจมตีเป้าหมายยุทธศาสตร์ครอบคลุม ญี่ปุ่น จีน รัสเซีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนสามารถโจมตีผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ได้ทุกเป้าหมาย

อิหร่าน : เป็นประเทศที่ถือครองระบบส่งที่เป็นขีปนาวุธ แม้ยังไม่มีหัวรบนิวเคลียร์ แต่ความมุ่งมั่นในโครงการเพิ่มสมรรถนะยูเรเนียม (Uranium Enrichment) อาจทำให้อิหร่าน สามารถเตรียมสารยูเรเนียมเข้มข้น เพียงพอที่จะผลิตหัวรบนิวเคลียร์ได้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม ขีดความสามารถของระบบปล่อยขีปนาวุธที่อิหร่านมีอยู่ เช่น Taepo Dong II ระยะยิง 6,000 กิโลเมตร สามารถโจมตีเป้าหมายยุทธศาสตร์ครอบคลุม ทวีปยุโรป เอเชีย และแอฟริกา รวมทั้ง ผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ทุกเป้าหมายในพื้นที่เหล่านั้น

ข้อพิจารณาที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ
1.) จากการที่ประเทศต่าง ๆ อาทิ จีน รัสเซีย เกาหลีเหนือ รวมถึงอิหร่านได้มีการพัฒนาขีปนาวุธของตนอย่างต่อเนื่อง นับเป็นภัยอันตรายต่อสันติสุขของโลกอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ทำให้สหรัฐฯ ต้องเร่งพัฒนาระบบป้องกันขีปนาวุธแห่งชาติต่อไป โดยโครงการป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯ ได้ใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 92,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการพัฒนาระบบป้องกันขีปนาวุธที่ยังไม่สมบูรณ์ดีนัก แต่หากสหรัฐฯ ชะลอการพัฒนาระบบดังกล่าว ก็อาจเป็นเงื่อนไขให้ประเทศที่มีขีปนาวุธข้ามทวีปอยู่แล้ว หรือกำลังพัฒนาอยู่ในปัจจุบัน สามารถดำเนินการปรับปรุงขีปนาวุธของตน ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นจนสามารถเอาชนะข่ายการป้องกันขีปนาวุธแห่งชาติของสหรัฐฯ ได้

2.) การแข่งขันการพัฒนาอาวุธฯ ของแต่ละฝ่าย ย่อมจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของภูมิภาคโดยรวม ทั้งอาจเป็นแรงผลักดันให้เกิดการรวมขั้วของจีน รัสเซียและเกาหลีเหนืออย่างแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น สำหรับผลกระทบต่อไทยยังอยู่นอกเหนือวิสัยที่ไทยจะดำเนินการใด ๆ แม้ไทยจะมีความเป็นกลาง และมีความสัมพันธ์อันดีกับทุกฝ่าย แต่การอยู่ในรัศมีทำการของขีปนาวุธข้ามทวีปทั้งจากเกาหลีเหนือ และจีน ย่อมส่งผลกระทบในแง่จิตวิทยา และความไม่ปลอดภัยต่อภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไทยสามารถกระทำได้ คือ การแสดงออก และเรียกร้องให้เกิดการสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน เพื่อไม่ให้ปัญหาขัดแย้งขยายตัวเป็นภัยคุกคามต่อภูมิภาคมากยิ่งขึ้น

สำหรับราชอาณาจักรไทยมีการลงนามในสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Treaty on the Non-Proliferation of Nuclear Weapons หรือ Non-Proliferation Treaty (NPT)) อันเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการกระจายของอาวุธนิวเคลียร์และเทคโนโลยีอาวุธ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ และเพื่อผลักดันเป้าหมายการบรรลุการลดอาวุธนิวเคลียร์และการลดกำลังรบโดยทั่วไปและสมบูรณ์ ในฐานะผู้ลงนามสนธิสัญญาหรือสืบทอด โดยสนธิสัญญาฯ ฉบับนี้ลงนามเมื่อ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2511 ณ องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และมีผลเมื่อ 5 มีนาคม พ.ศ. 2513


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ Blockdit : THE STATES TIMES 
???? https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32