ก้าวสู่สังคมไร้เงินสด!! ด้วย “CBDC” สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง

จากกระแสในโลกคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) หรือสกุลเงินดิจิทัล ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนและผู้ประกอบการในภาคธุรกิจอย่างแพร่หลาย และในขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบ โดย Disrupt ให้เกิดการปรับตัวอย่างรุนแรงทั้งภาคการเงิน การธนาคาร และการลงทุน โดยสกุลเงินดิจิทัลในปัจจุบันที่มีมากกว่า 1,500 ชนิด พบว่า 5 สกุลเงินที่มีมูลค่าตลาด (Market Cap) สูงสุด ประกอบด้วย Bitcoin , Ethereum , Ripple , Bitcoin Cash และ Litecoin 

แต่อย่างไรก็ตามในหลายประเทศทั่วโลกและในประเทศไทยสกุลเงินดิจิทัลดังกล่าวยังถูกจัดประเภทเป็นเพียงสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ต้องซื้อขายแลกเปลี่ยนผ่านหน่วยงานที่ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เท่านั้น เนื่องจากเป็นตลาดที่มีความอ่อนไหวสูง และราคามีความผันผวนสูงมาก 

ดังนั้น ธนาคารกลางทั่วโลกและในประเทศไทยโดยธนาคารแห่งประเทศไทย จึงทำการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่จัดประเภทเทียบเท่ากับเงินสด มีคุณสมบัติในการเป็นสื่อกลางเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการได้ตามกฎหมาย สามารถรักษามูลค่า และเป็นหน่วยวัดทางบัญชีได้ เพื่อยกระดับระบบโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินของเข้าสู่โลกดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ

Central Bank Digital Currency (CBDC) หรือสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง ถูกพัฒนาขึ้นด้วยเทคโนโลยีการประมวลผลแบบกระจายศูนย์ หรือบล็อกเชน (Blockchain) เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนมูลค่าที่จะเป็นตัวแทนของเงินได้จริง ๆ มีวัตถุประสงค์ ได้แก่ 
(1.) ป้องกันการผูกขาดและลดความเสี่ยงในระบบการชำระเงินจากภาคเอกชนภายใต้แนวโน้มของสังคมไร้เงินสดที่เพิ่มมากขึ้น 
(2.) ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพระบบการชำระเงิน 
(3.) เพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินให้กับภาคประชาชน ที่ธนาคารกลางสามารถกำหนดรูปแบบของ CBDC ได้อย่างเหมาะสม  

โดยปัจจุบัน CBDC ที่ออกใช้งานแล้วและเป็นนวัตกรรมของเงินตราอย่างเด่นชัด คือ หยวนดิจิทัล (e-CNY) ออกโดยธนาคารกลางของสาธารณรัฐประชาชนจีน (People's Bank of China: PBOC) มีการทดสอบการใช้งานจริงเมื่อเดือนเมษายน 2020 ใน 4 เมืองใหญ่ ได้แก่ Shenzhen, Suzhou, Chengdu, และ Xiong’an และขยายเพิ่มเติมในเดือนเมษายน 2021 ในอีก 6 เมือง และ 3 เขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศ

ในส่วนของประเทศไทย เมื่อปี 2017 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปิดตัวโครงการอินทนนท์ เพื่อทดสอบระบบ CBDC ประเภท wholesale สำหรับการทำธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน โดยใช้ CBDC จำลองร่วมกับธนาคารพาณิชย์ 8 แห่งในการโอนเงินระหว่างกันและการบริหารสภาพคล่อง และในระยะถัดมา ภายใต้โครงการ Inthanon-LionRock ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ทดลองการโอนเงินข้ามประเทศร่วมกับธนาคารกลางฮ่องกง (HKMA) ซึ่งมีผลการทดสอบเป็นไปด้วยดี โดยในระยะถัดไปธนาคารแห่งประเทศไทยได้ขยายความร่วมมือไปยังธนาคารกลางแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (CBUAE) และสถาบันศึกษาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (PBC DCI) โดยทำการพัฒนาต่อยอดเป็นโครงการใหม่ภายใต้ชื่อ Multiple Central Bank Digital Currency Bridge Project (mBridge) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการโอนเงินระหว่างประเทศ ภายใต้เงื่อนไขการทดสอบที่ครอบคลุมและสอดคล้องกับกฎเกณฑ์

ขณะเดียวกัน ทิศทางการพัฒนา Retail CBDC เพื่อการใช้งานในภาคประชาชนนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ในปี 2564-2565 เป็นช่วงของการศึกษาและพัฒนาระบบ โดยมีการทำความเข้าใจและรับฟังความเห็นจากสาธารณชนเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา และนำผลที่ได้พัฒนาระบบ Retail CBDC เพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างสะดวกและปลอดภัยขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในระบบการเงิน รวมถึงช่วยส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่จะทำให้เกิดบริการทางการเงินที่หลากหลายในอนาคต

ขอบคุณที่มาจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย : เว็บไซต์ https://www.bot.or.th/


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ Blockdit : THE STATES TIMES 
???? https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32