“นโยบายควบคุมสินสอด” เมื่อราคาแต่งงานสูงระฟ้า!! สะท้อนอะไรในสังคมจีน?

ระบบสินสอดควรถูกยกเลิก ? หรือยังควรมีต่อไป ? ควรมีมาตรการหรือข้อกฎหมายเกี่ยวกับการให้สินสอดหรือไม่ ? มีใครรู้จัก “นโยบายควบคุมสินสอด” ของประเทศจีนหรือเปล่า ?

ปัจจุบัน ความเท่าเทียมทางเพศกลายเป็นหนึ่งในประเด็นทางสังคมที่ถูกพูดถึงมากที่สุด โดยมีทั้งกลุ่มเฟมินิสต์ (faminist) และกลุ่ม LGBTQ+ เป็นหัวใจสำคัญในการเรียกร้องความยุติธรรม และต่อสู้กับวัฒนธรรมการกดขี่ทางเพศที่ยังคงฝังรากลึกอยู่ในสังคมโลก

การเรียกร้องในรูปแบบดังกล่าวทำให้ประเด็นสิทธิสตรี เสรีภาพในการแต่งตัว การสมรสเท่าเทียม ตลอดจนเรื่องการทำแท้งถูกกฎหมาย ทั้งนี้ อีกหนึ่งประเด็นที่หลายคนนำมาเป็นหัวในการถกเถียงคือเรื่องของการ “ยกเลิกสินสอด” หลังจากที่ดาราสาว ก้อย - อรัชพร โภคินภากร ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นว่าควรยกเลิกระบบสินสอด และแนวคิดการวัดค่าผู้หญิงด้วยเงิน

สำหรับความคิดเห็นของคนในสังคมก็มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย บ้างก็มองว่าเป็นเรื่องการตัดสินใจของคู่บ่าวสาว บ้างก็ยังเห็นว่าการให้สินสอดคือการแสดงความพร้อมและความตั้งใจของฝ่ายชายในการจะใช้ชีวิตคู่ร่วมกับฝ่ายหญิง

หากพูดถึงระบบสินสอดนั้น การจ่ายเงินค่าสินสอดมิเพียงแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมความไม่เท่าเทียมทางเพศ หากแต่ยังสะท้อนความแตกต่างทางฐานะ ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งเห็นได้จากหลายครั้งที่ชายหนุ่มไม่ได้รับความสนใจจากหญิงสาว

หากพูดถึงระบบสินสอดนั้น สินสอดเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่มีมายาวนานหลายศตวรรษในประเทศฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะประเทศจีน ที่ปัจจุบันนี้ ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจ และพลวัตทางสังคม ทำให้ตอนนี้ ประเด็นสินสอดกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ของฝ่ายเจ้าบ่าว เพราะเงินค่าสินสอดพุ่งสูงต่อเนื่อง จนอาจนำไปสู่ปัญหาชายจีนไร้คู่ครอง ปัญหาดังกล่าวทำให้ประเทศจีนกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการบังคับใช้ “นโยบายควบคุมสินสอด” พร้อมแนะนำไม่ให้จัดงานแต่งงานที่ใช้เงินทองสิ้นเปลืองจนเกินไป เพื่อช่วยสนับสนุนให้ประชาชนตัดสินใจแต่งงานกันง่ายขึ้น

ย้อนกลับไปในสมัยที่ประเทศจีนยังมีการบังคับใช้ "นโยบายลูกคนเดียว" ครอบครัวชาวจีนต่างพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อทำให้โอกาสในการมีลูกครั้งเดียวในชีวิตเป็นโอกาสที่คุ้มค่าที่สุด คือได้ลูกชายเพื่อมาสืบทอดเชื้อสายแซ่สกุล มีการทำแท้งเพื่อเลือกเพศบุตร มีการนำลูกสาวไปขายหรือทิ้ง ทั้งยังมีการขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ได้ลูกชาย ใช้มนตราอาคมเพื่อให้มีลูกชายอย่างสมหวัง ก่อนที่รัฐบาลจีนจะผ่อนปรนนโยบายลูกคนเดียวเมื่อปี 2016

ด้วยการบังคับใช้นโยบายดังกล่าว ส่งผลให้สัดส่วนประชากรชายมีมากกว่าประชากรหญิงถึง 30 ล้านคน เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ค่าสินสอดพุ่งสูง เนื่องจากจำนวนเพศชายที่มากกว่าหญิง ทำให้ฝ่ายชายต้องแข่งขันกันเพื่อให้ตัวเองได้มีคู่ครอง ในขณะเดียวกัน หญิงสาวชาวจีนกลับกลายเป็น “ผู้มีสิทธิ์เลือก” และมักจะเลือกใน “สิ่งที่ดีที่สุด”

หากนึกภาพไม่ออก ก็ลองจินตนาการว่าเราอยู่ในห้องเรียนที่มีนักเรียน 30 คน แบ่งเป็นผู้ชาย 20 คน ผู้หญิง 10 คน ถ้าจับคู่ชายหญิงในห้องเรียนให้เป็นแฟนกันหมด อย่างน้อยที่สุดฝ่ายชาย 10 คนก็ต้องเป็นโสดไปอย่างไม่มีทางเลือก

และอะไรคือสิ่งที่การันตีว่าชายหนุ่มคนหนึ่งจะได้รับความรักจากหญิงสาวที่มีสิทธิ์เลือกล่ะ แน่นอนว่าจำนวนค่าสินสอดคือหนึ่งในนั้น บางคนอาจตั้งคำถามว่าเงินอาจจะไม่สามารถซื้อความรักจากผู้หญิงได้เสมอไปหรอก จริงครับ...เงินอาจจะซื้อเจ้าสาวไม่ได้ แต่ซื้อพ่อแม่ของเจ้าสาวชาวจีนได้อย่างแน่นอนครับ!!

จำนวนประชากรชายหญิงที่ไม่สมดุลนี้ นำมาสู่การเพิ่มขึ้นอย่างพุ่งทะยานของสินสอดและค่าจัดงานแต่งงาน โดยปัจจุบันค่าสินสอดเฉลี่ยของเจ้าสาวในแถบชนบทของจีนนั้น มากกว่ารายได้ตลอดทั้งปีของฝ่ายเจ้าบ่าว เท่านั้นยังไม่พอ ฝ่ายเจ้าสาวยังสามารถเรียกร้องทรัพย์สินอื่น ๆ สำหรับสินสอดอย่างเครื่องเพชร รถยนต์ หรือบ้านได้อีกด้วย

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้รัฐบาลจีนตัดสินใจออกมาตรการเพื่อยุติการแต่งงานราคาแพงเกินเหตุในประเทศ ครอบคลุมทั้งงานแต่งงานหรูหราและสินสอดราคาแพง โดยรัฐบาลใช้คำในการเรียกการรณรงค์ในครั้งนี้ว่า “การปฏิรูปการแต่งงาน” โดยใช้เหตุผลว่า….

งานแต่งงานควรสะท้อนค่านิยมและวัตถุประสงค์ที่งดงามอันเคยมีมาในประเทศ การเพิ่มขึ้นของความฟุ่มเฟือยในงานแต่งคือ การปลูกฝังให้คนในชาติมีหัวคิดแบบลัทธิทุนนิยมที่บูชาเงิน

เป้าหมายของการปฏิรูปงานแต่งงานครั้งนี้ มุ่งเป้าไปยังพื้นที่แถบชนบทของจีน จะมีการจำกัดเพดานค่าสินสอดของแต่ละพื้นที่ โดยดูจากความเหมาะสมตามรายได้เฉลี่ยของคนในแต่ละเมือง เช่น หมู่บ้านเกษตรกรรมแห่งหนึ่งมณฑลหูเป่ย ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่มีรายได้ประมาณ 20,000 หยวนต่อปี มีสินสอดเฉลี่ยของหญิงสาวในหมู่บ้านมากกว่า 200,000 หยวน มากกว่ารายได้เฉลี่ยถึง 10 เท่า ก่อนที่ทางรัฐบาลจะออกกฎห้ามสินสอดมากกว่า 20,000 หยวน

หากเรียกค่าสินสอดทะลุเพดานที่ทางการจีนกำหนด จะถือว่าเข้าข่ายการค้ามนุษย์ และจะต้องได้รับโทษตามกฎหมาย

มาตรการเช่นนี้ทำให้มีหญิงสาวจำนวนหนึ่งตัดสินใจเดินทางออกจากบ้านเกิดในชนบทไปหางานทำในเมืองใหญ่ เพื่อตามหาผู้ชายที่สามารถให้ใน “สิ่งที่ดีกว่า” กับพวกเธอได้ และทำให้ผู้ชายในชนบทกลายเป็นกลุ่มชนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังอย่างสิ้นหวังและไร้โอกาสที่จะมีภรรยาและบุตร

หากมองประเด็นสินสอดให้ดี จะพบว่าเป็นประเด็นที่ลึกซึ้งกว่าแค่ความไม่เท่าเทียมทางเพศ แต่เป็นปัญหาที่สะท้อนวัฒนธรรม และความเหลื่อมล้ำในสังคมจีน ซึ่งทางการจีนก็กำลังพยายามอย่างหนักในการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และกำจัดความยากจนออกไปจากประเทศ

แล้วประเทศไทยของพวกเราล่ะ ต้องมีนโยบายควบคุมสินสอดอย่างเขาหรือไม่ ?


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ Blockdit : THE STATES TIMES 
???? https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32