สยบดราม่า!! เปิดคุณสมบัติผู้บริจาคเลือด ห้ามใครบริจาคบ้าง หลังบิวตี้บล็อกเกอร์ชื่อดัง เพจ ‘Madampam Makeup by Winlaphat’ โพสต์เสียความรู้สึก อ้างสภากาชาดไทย ไม่รับเลือดจากรักร่วมเพศ”

จากการที่ “บิวตี้บล็อกเกอร์ชื่อดัง” เพจ ‘Madampam Makeup by Winlaphat’ ออกมาโพสต์ตำหนิสภากาชาดไทยที่ได้ปฏิเสธรับบริจาคเลือดของตนว่า ช่วงนี้ สภากาชาดขาดเลือด ผมกับเมียตั้งใจไปบริจาคเลือด แล้วทำคลิปช่วยประชาสัมพันธ์แล้วถึงได้รู้ว่า LGBT อย่าได้ริอาจไปบริจาคเลือดเชียว เพราะสภากาชาด ยังมีนโยบาย "ไม่รับเลือดจากรักร่วมเพศ" เพราะมองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง เป็นพาหนะนำโรค นี่มันโลกยุคไหนแล้วครับ 

โคตรเสียความรู้สึกเลยครับ ขอบใจมาก ผมจะไม่ขอยุ่งเกี่ยวกับสภากาชาดตลอดไป งานอะไรก็ไม่ต้องมาให้ช่วยโปรโมท ถ้าในอนาคตผมต้องการเลือด ผมก็จะหาซื้อเอง 

ไม่อยากเชื่อ ว่าองค์กรที่ต้องการเลือดเพื่อช่วยคน ดันทำลายคนบริจาคเลือดด้วยการ เหยียดเพศ 

เมียผมน้องเดินร้องไห้กลับบ้านทั้งๆ ที่อยู่หน้าห้องบริจาค เพราะอะไร เพราะความผิดที่ไม่ได้ก่อเหรอ ผมไม่เข้าใจ การรับเลือดของเพศเดียวกันมันคือตราบาปอะไร

ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่สภากาชาดยังเคยขอให้เมียผมช่วยโปรโมทโครงการบริจาคเลือดอยู่เลย ย้อนแย้งสุดๆ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าไปดูระเบียบของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ได้ระบุคุณสมบัติผู้บริจาคเลือด ทั้งหมด 31 ข้อดังนี้
1.) อายุ 17 ปีบริบูรณ์ - 70 ปี

2.) น้ำหนัก 45 กิโลกรัมขึ้นไป

3.) รู้สึกสบายดี สุขภาพแข็งแรง พร้อมที่จะบริจาคโลหิต ไม่มีอาการผิดปกติต่างๆ เช่น อาการอ่อนเพลียจากการอดนอน อาการมึนเมาจากการดื่มแอลกอฮอล์หรือสารอื่นๆ

4.) นอนหลับพักผ่อนเพียงพอ อย่างน้อย 5 ชั่วโมง

5.) หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ภายใน 6 ชั่วโมง

6.) หากมีโรคประจำตัวต่างๆ ที่พบบ่อยในผู้บริจาคโลหิต

7.) กรณีรับประทานยาต่างๆ

8.) งดดื่มแอลกอฮอล์ก่อนมาบริจาคโลหิต 24 ชั่วโมง

9.) อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตรต้องงดบริจาคโลหิตชั่วคราว

10.) คลอดบุตร หรือแท้งบุตร เว้น 6 เดือนเพื่อให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดงให้กลับเป็นปกติก่อน

11.) มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ
(1.) ท่านหรือคู่ของท่านเคยมีเพศสัมพันธ์กับ : ผู้ที่ไม่ใช่คู่ของตนเอง / ผู้ทำงานบริการทางเพศ / ผู้เสพยาเสพติด / ผู้ที่อาจติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ หากผู้บริจาคโลหิตและคู่ มีพฤติกรรมเสี่ยงดังกล่าว ย่อมมีผลกระทบต่อผู้ป่วยที่ได้รับโลหิตเช่นเดียวกัน จึงเป็นข้อกำหนดให้งดบริจาคโลหิตอย่างไม่มีกำหนด
(2.) ท่านเป็นเพศชาย ที่เคยมีเพศสัมพันธ์กับเพศชาย ซึ่งอัตราการติดเชื้อเอชไอวี ของกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายสูงกว่าประชากรทั่วไปมาก และโอกาสที่จะมีผู้ที่อยู่ในระยะ window period ของการติดเชื้อ เอชไอวี ในกลุ่มนี้สูงกว่าประชากรทั่วไป (window period คือ ระยะเวลาที่เพิ่งเริ่มติดเชื้อ ในร่างกายยังมีเชื้อจำนวนน้อย ไม่สามารถตรวจพบร่องรอยการติดเชื้อได้ด้วยวิธีทางห้องปฏิบัติการแต่สามารถถ่ายทอดไปยังผู้รับโลหิตได้) ข้อนี้จึงยังเป็นข้อกำหนดไม่รับบริจาคโลหิตอย่างถาวร

12.) เคยใช้ยารักษาหรือป้องกันโรคเอชไอวีให้งดการบริจาคอย่างถาวร

13.) อุดฟัน ขูดหินปูน เว้น 3 วัน / ถอนฟัน รักษารากฟัน เว้น 7 วัน

14.) ท้องเสีย ท้องร่วง เว้น 7 วัน

15.) เจาะหู ผิวหนัง สัก ลบรอยสัก ฝังเข็ม เว้น 4 เดือน

16.) ผ่าตัดเล็ก เว้น 7 วัน / ผ่าตัดใหญ่ เว้น 6 เดือน

17.) เคยป่วยและได้รับโลหิต หรือส่วนประกอบโลหิต ภายใน 1 ปี ที่ผ่านมา

18.) เคยได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ หรือเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต (Stem Cells)

19.) เคยถูกเข็มที่เปื้อนเลือดตำ ในระยะ 1 ปีที่ผ่านมา

20.) เคยป่วยเป็นโรคตับอักเสบโดยทั่วไปการเป็นโรคตับอักเสบก่อนอายุ 11 ปี ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากไวรัสตับอักเสบ เอ เมื่อหายแล้วสามารถบริจาคโลหิตได้ แต่หากมีประวัติเป็นตับอักเสบหลังอายุ 11 ปี มักมีสาเหตุจากไวรัสตับอักเสบ บี หรือ ซี ต้องงดบริจาคโลหิตถาวร เพื่อลดความเสี่ยงจากการถ่ายทอดเชื้อให้ผู้ป่วยที่ได้รับโลหิต

21.) คู่ของท่าน หรือบุคคลในครอบครัว เป็นโรคตับอักเสบ ควรงดบริจาคในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา

22.) เคยตรวจพบว่าเป็นพาหะของโรคตับอักเสบให้งดบริจาคโลหิตถาวร แม้ว่าการตรวจในครั้งนี้จะไม่พบแล้วก็ตาม เพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อไปยังผู้ป่วยที่ได้รับโลหิต

23.) ท่านเคยป่วยเป็นโรคมาลาเรีย ต้องงดบริจาคโลหิตไป 3 ปีหลังจากรักษาหายแล้ว

24.) เคยเข้าไปในพื้นที่มีเชื้อมาลาเรียชุกชุม และพำนักอยู่ในระยะสั้น ๆ ได้แก่ ไปท่องเที่ยว หรือทำธุระในระยะสั้น ให้งดบริจาคโลหิตไป 1 ปี

25.) มีประวัติป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ / โรคไข้เลือดออก / โรคไข้ซิกา / โรคโควิด-19 หรือ โรคชิคุนกุนยา ในระยะ 1 เดือนที่ผ่านมา
โรคโควิด-19 (COVID-19) ปัจจุบันอ้างอิงจากประกาศศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ที่ 10/2563 เรื่อง มาตรการป้องกันการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ทางโลหิต ฉบับที่ 4 ลงวันที่ 7 เมษายน 2563 ให้งดบริจาคโลหิตเป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ ในกรณีดังต่อไปนี้
(1.) ท่านเดินทางมาจากต่างประเทศหรือพื้นที่ที่มีความเสี่ยง (สถานบันเทิง บ่อนการพนัน สถานที่แออัด)
(2.) อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย COVID-19
(3.) หลังจากหายป่วยจากโรค COVID-19
(ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวอาจมีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ของโรค COVID-19)

26.) ได้รับวัคซีนป้องโรควัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ป้องกันบาดทะยัก หลังฉีดวัคซีน 24 ชม. ไม่มีอาการข้างเคียง และบาดแผลหายดีแล้ว บริจาคโลหิตได้ 
วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ บี หลังได้รับวัคซีน 21 วัน บริจาคโลหิตได้
วัคซีนป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน อีสุกอีใส และงูสวัด หลังได้รับวัคซีน 4 สัปดาห์ ไม่มีอาการข้างเคียง บริจาคโลหิตได้
วัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ และวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ เอ หลังฉีดวัคซีน 24 ชม. ไม่มีอาการข้างเคียง บริจาคโลหิตได้

27.) มีประวัติเสพยาเสพติดแบบฉีดทุกชนิดเป็นเหตุให้ต้องงดบริจาคอย่างถาวร

28.) เคยถูกควบคุมตัวหรือจองจำในเรือนจำติดต่อกันเกิน 72 ชั่วโมง ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV HBV HCV เนื่องจากอยู่ในสถานที่แออัด สุขอนามัยไม่ดี และอาจมีการใช้ของมีคมร่วมกัน ให้งด 1 ปี นับจากวันที่ได้รับการปล่อยตัว

29.) เคยมีน้ำหนักลด มีไข้ มีต่อมน้ำเหลืองโต โดยไม่ทราบสาเหตุ ในระยะ 3 เดือนที่ผ่านมา หรือเคยตรวจพบว่าติดเชื้อเอชไอวีต้องงดบริจาคโลหิตถาวร

30.) ช่วงพ.ศ. 2523 - 2539 ท่านเคยพำนักอาศัยอยู่ในประเทศ สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ เป็นเวลาสะสมมากกว่า 3 เดือนให้งดบริจาคโลหิตถาวร เนื่องจากมีการระบาดของโรควัวบ้า

31.) ช่วงพ.ศ. 2523 - 2544 ท่านเคยพำนักอาศัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศส และไอร์แลนด์ เป็นระยะเวลาสะสมมากกว่า 5 ปี
ให้งดบริจาคโลหิตถาวร เนื่องจากมีการระบาดของโรควัวบ้า


ที่มา : https://www.facebook.com/MakeupByWinlaphat/posts/422897319205445
https://blooddonationthai.com/?page_id=745