เมื่อแม่น้ำ “อุมโงท” เสน่ห์วารีแห่งแดนภารตะ​ (รัฐเมฆาลัย)​ อาจสูญสลาย!! เพราะ​ 'เขื่อน'​

แม้ว่าจะย้ายกลับมาอยู่ประเทศไทยหลายปีแล้ว แต่ผมก็ยังคงติดตามข่าวสารเกี่ยวกับอินเดียอยู่เสมอด้วยความสนใจ หรืออาจจะเป็นเพราะหลงมนต์เสน่ห์แดนภารตะเข้าไปแล้วอย่างจังก็เป็นได้ 

โดยล่าสุดผมเพิ่งได้อ่านข่าวจากนิตยสาร Northeast Today ฉบับประจำเดือนพฤษภาคม 2564 ก็เลยได้ทราบว่ารัฐบาลแห่งรัฐเมฆาลัยมีโครงการที่จะสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำอุมโงท (Umngot River) เพื่อจะผลิตกระแสไฟฟ้าระดับ 210 เมกกะวัตต์ เพื่อให้รัฐเมฆาลัยมีกระแสไฟฟ้าเพียงพอ อ่านข่าวแล้วก็รู้สึกตกใจเพราะแม่น้ำสายนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งรายได้สำคัญของประชาชนในหมู่บ้านต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ เนื่องจากน้ำในแม่น้ำสายนี้มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนแม่น้ำไหน ๆ นั่นคือมีความใสสะอาดเหมือนแก้วเจียระไน บางคนก็บอกว่าใสเหมือนคริสตัล สามารถมองทะลุเห็นพื้นด้านล่างของแม่น้ำเลย ยิ่งถ้ามองมาจากริมฝั่งหรือที่สูงก็จะเห็นเรือในแม่น้ำที่เหมือนลอยอยู่ในอากาศเลยทีเดียว

แต่เท่าที่ทราบตอนนี้มีชาวบ้านจาก 12 หมู่บ้านที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำในแถบเทือกเขาเจนเทียตะวันออก (East Jaintia Hills) ก็ออกมาประท้วงขอให้รัฐบาลแห่งรัฐเมฆาลัยยกเลิกโครงการก่อสร้างเขื่อนเพราะชาวบ้านเชื่อว่าถ้าหากสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำนี้แล้วจะทำให้แม่น้ำอุมโงท (Umngot) แสนสวย และมีชื่อเสียงโด่งดังนี้ถูกทำลาย และในที่สุดก็จะไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวอีกต่อไป และท้ายที่สุดรายได้จากการท่องเที่ยวที่ชาวบ้านเหล่านี้เคยได้รับและเป็นแหล่งรายได้สำคัญก็จะหายไปด้วย และคนที่เดือดร้อนที่สุดก็คือ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณริมแม่น้ำนั่นเอง

ที่ชาวบ้านต้องออกมาโวยวายและต่อต้านก็เพราะพวกเขามองว่ารัฐบาลแห่งรัฐไม่เคยมารับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน แถมสื่อกระแสหลักในประเทศอินเดียก็ไม่ได้ให้ความสนใจที่จะลงข่าวหรือช่วยเป็นกระบอกเสียงให้ชาวบ้านเลย ตอนนี้ที่ทำได้ก็แค่ออกมารวมตัวประท้วงรัฐบาลแห่งรัฐกันเท่านั้นเอง ในขณะที่ Meghalaya Energy Corporation Limited (MeECL) เจ้าของโครงการก็ออกมาชี้แจงว่าโครงการสร้างเขื่อนนี้ก็เพื่อที่จะลดช่องว่างระหว่างดีมานด์กับซัพพลายของกระแสไฟฟ้าในรัฐ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ต้องการทำให้ความต้องการกระแสไฟฟ้ากับปริมาณกระแสไฟฟ้าไม่มีช่องว่างมากเกินไปหรือมีสมดุลมากขึ้น 

นอกจากนี้ก็ยังมีเป้าหมายที่จะทำให้สัดส่วนระหว่างปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ได้จากพลังน้ำมีความสมดุลกับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ได้มาจากพลังงานความร้อนและถ่านหิน แถมยังบอกอีกว่าชาวบ้านจะได้รับประโยชน์ทางอ้อมอย่างมากจากโครงการนี้ซึ่งจะเป็นการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ ด้วยการมอบเงินชดเชยให้และมีแผนในการย้ายถิ่นที่อยู่พร้อมแผนฟื้นฟูคุณภาพชีวิตให้กับชาวบ้านด้วย

แต่ถ้ามาฟังทางฝั่งชาวบ้านแล้วก็น่าเห็นใจ เพราะแน่นอนว่าแหล่งท่องเที่ยวที่มหัศจรรย์นี้จะต้องสูญหายไปพร้อมกับรายได้หลักที่ได้จากการท่องเที่ยว แต่ที่ชาวบ้านหวั่นวิตกกังวลมากกว่าก็คือจะมีพื้นที่ที่เป็นที่อยู่อาศัยและพื้นที่เพาะปลูกบางส่วนจมอยู่ใต้น้ำจากโครงการสร้างเขื่อนนี้ และที่สำคัญก็คือ ชาวบ้านรู้สึกว่าภาครัฐไม่เคยให้ความสำคัญที่จะรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของชาวบ้าน รวมทั้งไม่เคยเหลียวแล และไม่เคยใยดีกับผลกระทบเชิงลบต่อวิถีชีวิตประจำวันของชาวบ้านที่จะเกิดขึ้น 

แต่ประเด็นขัดแย้งนี้คงยังไม่จบง่าย ๆ เพราะว่าในปัจจุบันนี้ เราคงยังหาจุดสมดุลระหว่าง “การพัฒนา” กับ “ความสำคัญของสิ่งแวดล้อม” ไม่ได้ลงตัว แต่โดยส่วนตัวในฐานะนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบอินเดียก็ไม่อยากให้ “การพัฒนา” ไปทำลาย “สิ่งแวดล้อม” ที่สวยงามและโดดเด่นอย่างแม่น้ำอุมโงทที่จะหาแม่น้ำอื่นใดในโลกนี้มาเทียบได้

ผมลุกขึ้นมาเขียนเรื่องนี้ด้วยความเป็นห่วงและเสียดายแม่น้ำแสนสวยสายนี้จริง ๆ เพราะจุดเริ่มต้นของความสนใจใน “รัฐเมฆาลัย” ของผมก็เริ่มมาจากที่ได้เห็นรูปแม่น้ำอุมโงทนี่แหละ แถมมาเห็นเอาเมื่อตอนย้ายกลับมาอยู่ประเทศไทยแล้วอีกต่างหาก ทำให้ต้องดั้นด้นเดินทางจากประเทศไทยไปเยือนแม่น้ำสายนี้และกว่าจะได้ชมโฉมก็ต้องไปถึงสองครั้งเพราะครั้งแรกผมเดินทางไปในช่วงปลายฤดูฝน โดยผู้นำทางบอกว่าฤดูฝนไม่เหมาะสำหรับการไปล่องเรือในแม่น้ำอุมโงท เพราะฝนจะชะดินจากริมฝั่งลงไปในแม่น้ำทำให้น้ำขุ่น เพราะฉะนั้นการเดินทางไปรอบแรกก็เลยไม่ได้ไปเยือนแม่น้ำสายนี้ ก็เลยต้องกลับไปอีกรอบหนึ่งในช่วงฤดูหนาวประมาณปลายปี ซึ่งนอกจากจะไม่มีฝนแล้วแถมอากาศยังเย็นสบายอีกด้วย และการเดินทางไปรอบที่สองก็สมใจ ได้ชื่นชมแม่น้ำแสนสวยสายนี้แบบเต็มอิ่มด้วยการใช้บริการเรือพายของชาวบ้านที่มีให้บริการอยู่ริมแม่น้ำ ได้เห็นน้ำที่ใสเหมือนแก้วด้วยตาตัวเองและได้สัมผัสด้วยมือตัวเองระหว่างที่อยู่บนเรือพายด้วย

สำหรับ “รัฐเมฆาลัย” เป็นรัฐหนึ่งในรัฐเจ็ดสาวน้อยและหนึ่งน้องชาย (Seven Sisters States and One Brother State) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย เขตแดนทางตะวันออกและทางเหนือมีอาณาเขตติดต่อกับรัฐอัสสัม และมีชายแดนติดต่อกับประเทศบังกลาเทศในทางทิศใต้และทิศตะวันตก โดยรัฐเมฆาลัยมีพื้นที่ทั้งหมด 22,429 ตารางกิโลเมตร โดยมีเทือกเขากาสีเป็นเทือกเขาแบ่งเขตแดนจากทางตอนกลางไปจนถึงทางตะวันออกของรัฐ ลาดเอียงสู่หุบเขาพรหมบุตรทางตอนเหนือ ส่วนทางตอนใต้เป็นที่ราบติดกับประเทศบังกลาเทศ ทั้งนี้ ความหมายของคำว่า “เมฆาลัย” ก็คือ “บ้านของเมฆ” นั่นเอง เพราะพื้นที่ของรัฐเมฆาลัยจะเป็นเขตพื้นที่ภูเขาสูงเกือบทั้งหมด

การเดินทางก็ไม่ลำบากเท่าไหร่ ปกติผมจะบินไปลงที่เมืองกอลกัตตา เมืองหลวงของรัฐเบงกอลตะวันตกใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วต่อเครื่องบินไปลงที่เมืองกูวาฮาติ เมืองหลวงของรัฐอัสสัม หลังจากนั้นก็นั่งรถต่อไปจนถึงเมืองชิลลอง เมืองหลวงของรัฐเมฆาลัย ใช้เวลานั่งรถประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่งก็ถึงแล้ว พักที่เมืองชิลลองหนึ่งคืนแล้วค่อยเดินทางต่อไปเมืองดอกี (Dawki) เพื่อไปเยี่ยมชมแม่น้ำอุมโงท ก็ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงเพราะสภาพถนนยังไม่ดีมากทำให้รถวิ่งได้ช้า แต่เมื่อถึงจุดหมายปลายทางและได้เห็นน้ำใส ๆ ในแม่น้ำอุมโงทแล้วก็หายเหนื่อย

ก็หวังว่าเมื่อหมดโควิด-19 แล้ว แม่น้ำอุมโงทแสนสวยจะยังคงอยู่รอให้นักท่องเที่ยวคนไทยได้มีโอกาสไปเยือนและชื่นชมความงดงามอยู่ตลอดไปนะครับ


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!
A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!! 
>> ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท
>> รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ
>> สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต
>> แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย
***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก????https://lin.ee/vfTXud9