พลิกปูมประวัติศาสตร์การเมืองไทย “วันเสียงปืนแตก” เมื่อ 7 สิงหาคม 2508 ไม่ใช่วันที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ปะทะ กับกองกำลังของรัฐบาลเป็นครั้งแรก

ทำไม 7 สิงหาคม พ.ศ. 2508 จึงเป็นวันเสียงปืนแตกของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ทั้ง ๆ ที่ครั้งแรกกองกำลังติดอาวุธของพคท.ปะทะกับเจ้าหน้าที่บ้านเมืองนั้นเป็นวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2508

7 สิงหาคม ของทุกปีจะมีการกล่าวถึง วันเสียงปืนแตก เมื่อ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2508 ของพคท. (ซึ่งไม่มีวันที่จะกลับไปเหมือน 56 ปีก่อน เพราะพคท.ล่มสลายไปแล้ว จะเหลืออยู่แต่พวกที่มีอุดมการณ์ที่ส่วนใหญ่ฝังตัวอยู่อย่างเหนียวแน่นในวงการเมือง) โดยพคท. อ้างว่า เริ่มปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจของรัฐบาลไทยเป็นครั้งแรก ที่บ้านนาบัว ตำบลเรณูนคร จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2508 (นักวิชาการบางส่วนก็ว่าเป็นวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2508 หรือ 080808) ซึ่งต่อมาเรียกวันนี้ว่า "วันเสียงปืนแตก" นับเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ด้วยอาวุธของพรรคกับรัฐบาล

องค์บริหารส่วนตำบลโคกหินแฮ่ อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม ให้ข้อมูลถึงบ้านนาบัว ซึ่งพคท.ถือเป็นจุดเสียงปืนแตกว่า เป็นชุมชนตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2434 โดยชาวบ้าน 90% อพยพมารวมกันเพราะไม่มีที่ทำกิน ปีพ.ศ. 2445 ยกฐานะเป็นหมู่บ้าน ปีพ.ศ. 2500 เริ่มมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ปีพ.ศ. 2504 มีการจับกุมราษฎรในหมู่บ้านข้อหาอันธพาล นำไปขังลืมไว้ที่อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม และย้ายไปขังไว้ที่เรือนจำสันติบาล กรุงเทพฯ

พันตำรวจเอกสงัด โรจนภิรมย์ ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครพนม ได้รับบาดเจ็บสาหัสในวันเสียงปืนแตก ถูกยิง 3 นัด เข้าที่ขาขวาท่อนล่าง 1 นัด เหนือราวนมขวา 1 นัด หลังเท้าขวา 1 นัด และถูกนำตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ กรุงเทพฯ

ปีพ.ศ. 2507 แม้ราษฎรจะถูกปล่อยตัวกลับมาสู่ภูมิลำเนาของตัวเอง แต่รัฐบาลได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารและอาสาสมัคร มาเคลื่อนไหวปราบปรามราษฎรอย่างหนัก ราษฎรในพื้นที่ทยอยเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) มากขึ้น วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2508 ทางการได้ส่งตำรวจทหารปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างหนัก ในพื้นที่รอยต่อสามอำเภอ คือ อำเภอธาตุพนม อำเภอเมือง อำเภอนาแก พื้นที่ระหว่างบ้านนาบัว บ้านหนองฮี บ้านดงอินำ

วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2508 เกิดการปะทะขึ้นที่บ้านนาบัว ตำบลเรณูนคร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม เมื่อหน่วยติดอาวุธเคลื่อนที่ของพคท. จำนวน 8 คน ประกอบด้วย นายหนูลา จิตมาตย์, นายหนูทอง นามวุฒิ, นายคำทา จิตมาตย์, นายลำเงิน จิตมาตย์, นายกายน ดำบุดดา, นายสนไชย มูลเมือง, นายยวน จิตมาตย์ และนายกองสิน จิตมาตย์ ได้ปะทะ ยิงต่อสู้กับกำลังของตำรวจ “สหายเสถียร” หรือ “กองสิน จิตมาตย์” วัย 25 ปี ได้ยิงคุ้มกันเพื่อให้สหายถอยออกไปได้ แต่ตนเองตกอยู่ในที่ล้อม จนมุมอยู่คันนากลางทุ่ง และถูกยิงเสียชีวิต สำหรับหน่วยดังกล่าว อยู่ภายใต้ “ขุนรมย์ จิตมาตย์” ผู้ปฏิบัติงานของพคท. การปะทะนานประมาณ 45 นาที ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ สูญเสีย ส.ต.อ. ชัยรัตน์ สิงห์ด้วง ถูกกระสุนปืนเสียชีวิต ส.ต.ต. มนต์ชัย โพธิดอกไม้ บาดเจ็บถูกยิงขาทะลุ พ.ต.อ. สงัด โรจนภิรมย์ ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครพนม ได้รับบาดเจ็บสาหัส

“สหายเสถียร” หรือ “กองสิน จิตมาตย์” ซึ่งถูกยิงสียชีวิตในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2508

หลังจากนั้นทางราชการยิ่งปราบปรามมากยิ่งขึ้น ผู้ใหญ่บ้านพร้อมกับราษฎรหลายคนในหมู่บ้าน ถูกจับในข้อหากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ ทางการยิ่งเร่งการปราบปรามมากยิ่งขึ้นไปอีก สั่งให้ราษฎรทำรั้วรอบหมู่บ้านอย่างแน่นหนา สั่งให้ชาวบ้านไปรายงานตัวก่อนออกไปทำไร่ทำนา และช่วงกลับมาบ้านอย่างเคร่งครัด ถ้าคนไหนฝ่าฝืนจะถูกลงโทษอย่างหนัก เช่น เตะ ตี และนำไปคุมขังที่ค่ายทหารบ้านหนองฮี และส่งไปที่ค่ายทหารกองทัพภาคที่ 2 อำเภอมุกดาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ในขณะนั้น

เมื่อทางราชการเร่งมือปราบปราม ราษฎรก็ยิ่งหลั่งไหลเข้าร่วมต่อสู้กับ พคท.มากยิ่งขึ้น จนเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2508 พคท.เปิดการประชุมคณะกรรมการกรมการเมืองขึ้นที่ภูพาน มีมติ ให้ประกาศการต่อสู้ด้วยอาวุธในเขตชนบทอย่างเป็นทางการ หลังจากตระเตรียมการสร้างฐานที่มั่นในเขตป่าเขา มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2506 และให้วันที่ 7 สิงหาคม เป็น “วันเสียงปืนแตก” และถือเป็นวันเริ่มต้นของสงครามประชาชนในประเทศไทย

พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) (Communist Party of Thailand - CPT) เดิมเรียก พรรคคอมมิวนิสต์สยาม เริ่มก่อตั้งโดย โฮจิมินห์ ชาวเวียดนาม ใช้นามแฝงว่า สหายซุง โดยประชุมครั้งแรกแบบลับ ๆ ที่ โรงแรมตุ้นกี่ หน้าสถานีรถไฟหัวลำโพง เมื่อ 20 เมษายน พ.ศ.  2473 โดยแต่งตั้งหลี หรือ โงจิ๊งก๊วก เป็นเลขาธิการพรรคคนแรก และมีตัวแทนสองคนคือ ตัง หรือ เจิ่นวันเจิ๋น และ เหล่าโหงว หรือ อู่จื้อจือ จนก่อตั้งเป็นรูปร่างเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2485

หลังการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1 ที่กรุงเทพมหานคร โดยมีสมาชิกก่อตั้ง 57 คน พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเป็นพรรคแนวอุดมการณ์ ยึดมั่นในลัทธิมาร์กซิส-เลนิน และลัทธิเหมา โดยมีความมุ่งหมายเพื่อสร้างความเสมอภาคทางชนชั้น ชี้นำสังคมโดยพรรคคอมมิวนิสต์ และต่อสู้เอาชนะระบบทุนนิยมด้วยวิธี "ป่าล้อมเมือง" แต่มิได้จดทะเบียนจัดตั้งตามกฎหมายอย่างเป็นทางการ ในอดีตยังมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย ซึ่งเป็นสมาชิกของ พคท. อีกด้วย 

พรรคคอมมิวนิสต์สยาม ประชุมครั้งแรกแบบลับ ๆ ที่ โรงแรมตุ้นกี่ หน้าสถานีรถไฟหัวลำโพง เมื่อ 20 เมษายน พ.ศ. 2473

แต่ภายหลังการรัฐประหารเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่ฝ่ายทหารได้ทำรัฐประหารล้มล้างรัฐบาล นายปรีดี พนมยงค์ สมาชิกพรรคจำนวนมาก เนื่องจากเป็นพรรคพวกของนายปรีดีด้วยเคยร่วมงานในขบวนการเสรีไทยถูกจับ ทำให้พรรคต้องยุติการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผย แล้วมุ่งสู่ชนบทเพื่อหาแนวร่วมจากประชาชนระดับล่าง ในที่สุดจึงต้องจับอาวุธขึ้นสู้กับฝ่ายรัฐบาล

เหตุที่ พคท.จึงไม่ยอมรับให้วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2508 เป็นวันเสียงปืนแตกของ พคท. (และเป็นวันกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย) และไม่ยอมรับวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 ซึ่งเป็นวันที่มวลชนพลพรรค พคท. ในเขตงานจังหวัดอุบลราชธานี ประกาศเป็น "วันกองทัพ" ของ พคท. แต่กลับยอมรับเอาวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2508 เป็นวันเสียงปืนแตกครั้งแรก และยังให้ถือเป็นวันกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) มีความเป็นมาดังนี้ 

พื้นที่ป่า ตำบลโพนทอง อำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ

เขตงานปฏิบัติการในพื้นที่ จังหวัดอุบลราชธานี อยู่ภายใต้อำนาจการบังคับบัญชาของสหาย "เพียร" (ครูเพียร) ซึ่งตั้งฐานที่มั่นอยู่ ณ ป่าภูเกษตร ตำบลโพนทอง อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี (ซึ่งปัจจุบันเป็น ตำบลโพนทอง อำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ) วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2508 สหายเพียร ได้นำกองกำลังพลพรรค พคท.ดักซุ่มโจมตีรถตำรวจบนเส้นทางระหว่างบ้านป่าเตยกับบ้านคำไหล เขตงาน อำเภอเลิงนกทา จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันเป็น อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร) โดยการปฏิบัติการในครั้งแรกนี้ถือว่า กองกำลัง พคท.ประสพความสำเร็จสูงสุด

เนื่องจากสามารถทำลายรถตำรวจลงได้ มีตำรวจเสียชีวิต 3 นาย พร้อมทั้งได้ยึดอาวุธบุทโธปกรณ์อื่น ๆ อีกหลายรายการ โดยที่กองกำลัง พคท.ไม่สูญเสียอะไรเลย ถือได้ว่าในการปะทะในครั้งนี้ พคท.ชนะอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หลังจากปฏิบัติการเสียงปืนแตกเป็นวันแรก และได้รับชัยชนะโดยสมบูรณ์แบบ ต่อมามีการประชุมคณะกรรมการเขตงานพิเศษ สหายเพียรได้รายงานรายละเอียดให้ที่ประชุมทราบ จึงได้รับการตอบรับจาก สหาย สวน (วิรัช อังคถาวร ) และกล่าวคำชื่นชมว่า "เป็นความกล้าหาญและฉลาดมาก" แต่แล้วทำไม พคท. จึงปฏิเสธการรับเอาวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2508 ให้เป็นวันเสียงปืนแตกครั้งแรก

สหายเพียร ซึ่งได้รวบรวมมวลชน พคท.จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธขึ้น ณ ฐานที่มั่นป่าภูเกษตร ซึ่งในเวลานั้นเรียกกองกำลังติดอาวุธกลุ่มนี้ว่า "พลพรรคประชาชนต่อต้านอเมริกาแห่งประเทศไทย (พล.ปตอ.) โดยมีเป้าหมายคือ ปฏิบัติการ "ต่อต้านอเมริกา" และประกาศวันก่อตั้ง "กองทัพ" เป็นทางการในวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 โดยมี สหายเพียร เป็นประธานในพิธี แต่ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "กองทัพปลดแอกของประชาชนแห่งประเทศไทย" (ทปท.) ด้วยเหตุผลว่า เมื่อ ทปท. มีเป้าหมายขับไล่อเมริกาแล้ว ก็ต้องขับไล่รัฐบาล "เผด็จการ" ด้วย เพราะรัฐบาลเผด็จการในเวลานั้นอยู่ในภายใต้อำนาจของจักรวรรดินิยมอเมริกา

สหาย “ลุงคำตัน” พ.ท.พโยม จุลานนท์ (บิดาของพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรีคนปัจจุบัน)

เหตุผล พคท.ปฏิเสธไม่ยอมรับวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2508 หรือวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508  เป็นวันวันกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย โดยวันทั้งสองนี้เกิดจากผลของ "ปฏิบัติการ" และผลจากการ "ก่อตั้ง" ของสหายเพียร ผู้มีอดีตเป็นครูบ้านนอก เป็นนักต่อสู้กับผู้มีอิทธพลท้องถิ่นชนิดตาต่อตา เข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อปี พ.ศ. 2492 เดินทางไปรับการอบรมลัทธิมาร์ค เลนิน ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เป็นรุ่นแรก เมื่อปี พ.ศ. 2495 (รุ่นเดียวกับ ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร, วิรัช  อังคถาวร, พ.ท.พโยม จุลานนท์ (บิดาของพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรีคนปัจจุบัน), ผิน บัวอ่อน, ธง แจ่มศรี, รวม วงษ์พันธ์ และคนอื่น ๆ รวม 20 คน)

เมื่อสำเร็จการอบรมแล้วได้เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2499 และ พคท.แต่งตั้งให้ ครูเพียร เป็น "ผู้อำนวยการสถาบันอบรมลัทธิมาร์ค - เลนิน" ซึ่งเปิดดำเนินการลับ ๆ ในจังหวัดพระนคร รับผู้ฝึกอบรมได้ประมาณ 4 - 5 รุ่น ต้องปิดตัวลงเมื่อมีเค้าลางว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์จะทำการรัฐประหาร หลังจากสถาบันฯ ปิดตัวลง พคท.ได้ส่งตัวสหายเพียรไปช่วยงานเป็นครูสอนภาษาไทยให้กับพลพรรคคอมมิวนิสต์ "มาลายา" (พคม.) หลังจากปฏิบัติงานเป็นครูสามารถสอนภาษาไทยให้นักเรียนที่เป็นพลพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาแล้ว จึงเดินทางกลับประเทศไทย แล้วถูก พคท. กำหนดให้เป็นผู้จัดหา "ฐานที่มั่น" และเตรียมจัดตั้งกำลังรบให้ พลพรรค พคท.ในเขตพื้น จังหวัดตรังเชื่อมโยงกับ จังหวัดพัทลุง ในเขตพื้นที่ จังหวัดนครศรีธรรมราชเชื่อมโยงกับ จังหวัดสุราษฎร์ฯ

ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร

ธง แจ่มศรี อดีตเลขาธิการ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)

จากนั้นปี พ.ศ. 2505 พคท. ส่งสหายเพียรไป "ขยายมวลชน" ในจังหวัดนครพนม โดยได้สร้างฐานที่มั่นขึ้นในป่า ตำบลดงหลวง อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม โดยปฏิบัติการอบรมจนขยายมวลชนได้อย่างกว้างขวางเป็นที่พอใจของ พคท. ในปี พ.ศ. 2506 จึงเดินทางไปปฏิบัติงานในเขตงาน อำเภอเลิงนกทา จังหวัดอุบลราชธานี โดยประจำอยู่ที่ฐานที่มั่นในป่า "โคกกลาง" ตำบลบ้านด่าน ปฏิบัติงานอยู่ในเขตพื้นที่แห่งนี้เป็นเวลา 6 เดือน แล้วจึงเดินทางเข้าเขตงาน อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี และตั้งฐานที่มั่นในป่าภูเกษตร ตำบลโพนทอง ตามที่ได้กล่าวแล้ว

ต่อมา สหายเพียร เป็น "แกนนำ" ในการคัดง้างกับ "ฝ่ายค้าน" อุดมการณ์พรรค" (ฝ่ายลัทธิแก้) ซึ่งมี "ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร" เป็นแกนนำ แต่ฝ่ายของประเสริฐ ทรัพย์สุนทร มีอำนาจในพรรคเหนือกว่า ฝ่ายสหายเพียรจึงสู้ไม่ได้ นอกจากความขัดแย้งในเรื่องอุดมการณ์แล้ว ฝ่ายของประเสริฐยังนำเอาเรื่องที่สหายเพียรผิดวินัยพรรคเมื่อครั้งเป็นผู้อำนวยการสถาบันอบมรมลัทธิมาร์คซิส - เลนิน มาโจมตีอย่างไม่หยุดหย่อน (ความผิดนั้นคือ สหายเพียร มีผู้หญิงคนใหม่ ในขณะที่สหายเพียรมีภรรยาและลูกอยู่แล้ว) ด้วยสาเหตุ 2 ประการนี้ สหายเพียรจึงถูกยึดทุกตำแหน่งในพรรคทั้งหมด จนเหลือเพียงแค่ตำแหน่งสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ต่อมาในปี พ.ศ. 2509 สหายเพียร จึงออกมอบตัวกับทางราชการ และกลายเป็นคน "ทรยศ" และเป็นคน "นอกพรรค" ไป

ด้วยเหตุนี้ พคท.จึงไม่ยอมรับผลงานที่สหายเพียรสร้างไว้ให้อยู่ปรากฏบนหน้าประวัติศาสตร์ของ พคท. จึงเป็นสาเหตุของการไม่ยอมรับว่า วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2508 เป็นวันเสียงปืนแตกของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 เป็นวันกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย 

ด้วยเหตุนี้เอง พคท.จึงถือเอาวันที่ 7 สิหาคม พ.ศ. 2508 เป็นวันเสียงปืนแตกครั้งแรก ซึ่งเป็นวันแรกที่พคท.สู้รบ และได้รับความ "พ่ายแพ้" ทั้งยังถือเป็นวันกองทัพปลดแอกของประชาชนแห่งประเทศไทยแทนวันทึ่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2508 อันเป็นวันเสียงปืนแตกวันแรก และกองกำลังติดอาวุธของพคท.สามารถทำการรบเอารบชนะเจ้าหน้าที่บ้านเมืองอย่างเด็ดขาด หรือวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 อันเป็นวันที่ สหายเพียร ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า เป็นวันกองทัพปลดแอกของประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) เมื่อก่อนหน้านี้แล้ว

หลังจาก “วันเสียงปืนแตก” เป็นต้นมา การต่อสู้ก็ดำเนินต่อเนื่องเรื่อยมา รัฐบาล จอมพล ถนอม กิตติขจร ใช้นโยบาย “การทหารนำการเมือง” มีการสู้รบกันอย่างรุนแรงทั่วทุกภาค ภายหลังเหตุการณ์ "6 ตุลา 19" นักศึกษา ปัญญาชนหลายพันคนได้ตัดสินใจเข้าป่าร่วมการต่อสู้กับ พคท. ส่งผลให้พรรคเข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกัน ภายในพรรคก็เกิดความแตกแยกทางความคิดอย่างรุนแรงระหว่างสมาชิกรุ่นเก่ากับสมาชิกรุ่นใหม่ รัฐบาลก็แก้เกมการเมืองได้อย่างทันท่วงที โดยหันไปสร้างความสัมพันธ์กับรัฐบาลจีน ผู้ให้การช่วยเหลือรายใหญ่ของพรรคในเวลานั้น จีนต้องยุติการช่วยเหลือแก่พรรค

คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 หรือคำสั่งที่ 66/23 เป็นคำสั่งรัฐบาลไทยที่กำหนดนโยบายสำคัญในการต่อสู้กับการก่อการกำเริบของคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในช่วงปลายสงครามเย็น คำสั่งดังกล่าวออกเมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2523 และลงนามโดยนายกรัฐมนตรี พลเอก เปรม ติณสูลานนท์

ต่อมารัฐบาลไทยหันมาใช้นโยบาย “การเมืองนำการทหาร” ด้วยการประกาศ "นโยบาย 66/2523" อันมีสาระสำคัญให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากันเพื่อพัฒนาชาติไทย ไม่เอาผิดกฎหมายกับคนที่เข้าป่าจับอาวุธสู้กับรัฐ มีโครงการแจกที่ดินทำกินให้แก่ชาวบ้านที่ออกมามอบตัว ส่งผลให้นักศึกษาและประชาชนออกมามอบตัวกันเกือบหมด ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยตกต่ำ และล่มสลายลงในเวลาอันรวดเร็วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 เป็นต้นมา

คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 หรือคำสั่งที่ 66/23 เป็นคำสั่งรัฐบาลไทยที่กำหนดนโยบายสำคัญในการต่อสู้กับการก่อการกำเริบของคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในช่วงปลายสงครามเย็น คำสั่งดังกล่าวออกเมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2523 และลงนามโดยนายกรัฐมนตรี พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ คำสั่งนี้ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายจากท่าทีทหารสายแข็งที่ดำเนินมาแต่รัฐบาลฝ่ายขวาในยุคที่นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี (พ.ศ. 2519 ถึง พ.ศ. 2520) มาสู่สายกลางมากขึ้น และให้ความสำคัญต่อมาตรการทางการเมืองเหนือการปฏิบัติทางทหารอย่างเป็นทางการ

คำสั่งนี้กำหนดให้มีการจัดการความอยุติธรรมทางสังคม และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองและกระบวนการประชาธิปไตย มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมสอดคล้องกับคำสั่งอนุญาตให้ผู้แปรพักตร์ผละขบวนการก่อการร้าย เมื่อประกอบกับการลดลงของการสนับสนุนจากต่างชาติ นำไปสู่การเสื่อมสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในปัจจุบันพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้สลายตัวแล้วอย่างสมบูรณ์ ในช่วงปี พ.ศ. 2523 และการจดทะเบียนพรรคการเมืองในชื่อ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ไม่สามารถกระทำได้ตามกฎหมายเนื่องจากขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายพรรคการเมือง เพราะพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเป็นรูปแบบการปกครองแบบหนึ่ง แม้ปัจจุบันมีผู้พยายามสืบทอดพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยให้คงอยู่ แต่ไม่ได้มีบทบาทอะไรทางการเมืองเช่นในอดีตแล้ว

ด้วยเหตุที่ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยถือเอา 7 สิหาคม พ.ศ. 2508 เป็นวันเสียงปืนแตกแห่งความพ่ายแพ้ การสู้รบของพคท. จึงพ่ายแพ้ พลพรรคยอมจำนนต่อทางการตามนโยบาย 66/23 ฤกษ์วันที่ 7 สิงหาคมของขบวนการผู้คิดร้ายต่อชาติบ้านเมืองจึงกลายเป็น ‘ฤกษ์แห่งความ "พ่ายแพ้" ตลอดกาล’ 

จะไม่มีเหตุการณ์เช่นวันเสียงปืนแตกเกิดขึ้นในบ้านเมืองนี้อีก และบรรดาผู้ที่คิดและมุ่งร้ายต่อบ้านนี้เมืองนี้ที่สุดย่อมได้รับผลจากการกระทำทั้ง กายกรรม มโนกรรม และวจีกรรม จากที่ได้ทำผิดคิดชั่วเช่นที่ปรากฏให้เห็นในมากมายหลายต่อหลายราย ด้วยราชอาณาจักรไทยอันเป็นที่รักของเราท่าน มีสรรพสิ่งศักดิ์สิทธิมากมาย คอยปกปักษ์รักษา คอยปกป้องคุ้มครอง ซึ่งจะทำให้สถาบันหลักทั้งสามดำรงคงอยู่เป็นหลักชัยของประชาชนชาวไทยตลอดไป

พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยยอมบิดเบือนข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ด้วยเพราะสหายเพียรกลับกลายเป็นฝ่ายตรงข้ามไป เรื่องราวของสหายเพียรจึงสืบค้นได้ยากมาก ๆ แต่ได้ความอนุเคราะห์ข้อมูลจากคุณพีระ ทองพิทักษ์ กัลยาณมิตรใน FB ได้กรุณาให้ข้อมูลเรื่องนี้มา ผู้เขียนจึงได้สอบทานกับผู้หลักผู้ใหญ่ในวงข่าวกรองก็ได้รับการบอกเล่าข้อมูลลักษณะเดียวกัน โดยกองกำลังติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเคยมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่บ้านเมืองก่อนวันที่ 7 สิหาคม พ.ศ. 2508 หลายครั้งแล้ว


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : คุณพีระ ทองพิทักษ์


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!
A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!! 
>> ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท
>> รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ
>> สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต
>> แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย
***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก????https://lin.ee/vfTXud9