ฉะเชิงเทรา - เปิดบรรยากาศ Bubble and seal โรงพยาบาลสนามภายในโรงงานไทยแอร์โรว์

จากการที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฉะเชิงเทรามีนโยบายโครงการตำบลเข้มแข็ง เพื่อเอ็กซเรย์ทุกตำบล หากมีผู้ติดเชื้อต้องรีบรักษา และผู้เสี่ยงสูงต้องมีสถานที่กักตัว และตั้งคณะทำงาน ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชนในพื้นที่

ทั้งนี้ วันที่ 10 สิงหาคม 2564 นายไมตรี ไตรติลานันท์ ผวจ.ฉะเชิงเทรา ได้มอบหมายให้ นายไพโรจน์ ปลื้มจันทร์ ปลัดอำเภอบางคล้า พร้อมด้วย นายวันชัย เกาะสูงเนิน อุตสาหกรรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา ลงพื้นที่ดูโรงงานไทยแอร์โรว์ ซึ่งถูกสั่งปิดโรงงานเป็นเวลา 14 วัน หลังพบว่าพนักงงานติดเชื้อกว่า 700 คน  เมื่อปลายเดือน กค. ที่ผ่านมา และทางโรงงานฯ ได้ทำแผนเสนอขอเปิดโรงงานฯ เมื่อวันที่ 5 ส.ค 2564 เนื่องจากทางโรงงานฯ มีการทำ Bubble and seal พื้นที่เรียบร้อยแล้ว

โรงงานไทยแอร์โรว์เป็นโรงงานที่ตั้งอยู่ที่เขต อ.บางคล้า เป็นโรงงานที่ตั้งอยู่คู่แปดริ้ว มานานกว่า 30 ปี มีพนักงานประมาณ 4,200 คน ถือเป็นโรงงานขนาดใหญ่ เจ้าของโรงงานเป็นชาวญี่ปุ่น ภายในบริเวณโรงงานมีอาคารถึง 4 โรง ตามแผนที่โรงงานฯ เสนอต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อขอเปิดโรงงานนั้น ระบุว่าจะขอใช้พนักงานทำงานเพียง 1,050 คน ทางโรงงาน ได้ปรับพื้นที่ส่วนหนึ่งนำตู้คอนเทนเนอร์ มาจัดตั้งเป็นโรงพยาบาลสนามภายในโรงงาน มีเตียงสนามประมาณ 300 เตียง และกันพื้นที่เป็นอาคาร สำหรับผู้มีความเสี่ยงสูง กักตัว อย่างปลอดภัย และหากพบว่าครอบครัวติดเชื้อก็สามารถนำครอบครัวมาพักได้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังทีมแพทย์และพยาบาลประจำโรงงาน ให้คำแนะนำในการรักษาตลอด 24 ชม. อีกด้วย

น.ส ณัฐธิดา วาศโสภา พยาบาลประจำโรงงานกล่าวว่า มีแพทย์และพยาบาลเวร 15 คนเข้าเวรตลอด 24 ชม. เพื่อดูแลผู้ป่วย และให้คำแนะนำจนกว่าจะรักษาหายเป็นปกติ ทางด้าน นพ.ธนู นพโสภณ หัวหน้ากลุ่มงานอาชีวเวชกรรม โรงพยาบาลพุทธโสธร ได้กล่าวว่า โรงพยาบาลสนามแห่งนี้ได้มาตรฐานเป็นต้นแบบที่ดีให้โรงงานอื่น ได้อีกด้วย

ที่ผ่านมา โรงงานไทยแอร์โรว์ถูกสังคมมองด้วยความไม่มั่นใจ แต่เมื่อเข้ามาดูการจัดทำ Bubble and seal แล้ว ขอชื่นชม และน่าจะเป็นต้นแบบที่ดีให้โรงงานอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เมื่อพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แล้วต้องเตรียมความพร้อมในการจัดสร้างโรงพยาบาลสนาม และสถานที่กักตัวที่ได้มาตรฐานแบบไทยแอร์โรว์ วันนี้ชาวแปดริ้ว ทุกคนจับตามองคลัสเตอร์โรงงานต่าง ๆ เนื่องจากจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม และศูนย์อุตสาหกรรมถึง 4 แห่ง มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ประมาณ 2,000 แห่ง จำนวนผู้ติดเชื้อหลัก ๆ มาจากคลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรม

นโยบายของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้วางกรอบให้โรงงานอุตสาหกรรมจัดทำแผน 4 แผน คือ แผนคน คือให้ความรู้พนักงานในการป้องกันตัวเอง แผนองค์กร ปรับสภาพโรงงานให้เหมาะสม รักษาระยะห่าง มีเจล แอลกอฮอล์ และที่วัดอุณหภูมิ แผนการขนย้ายพนักงาน ต้องชัดเจนว่า ระหว่างที่ทำงานถึงบ้านพัก ต้องปลอดภัย และเมื่อพบผู้ติดเชื้อ ต้องมีแผนเผชิญเหตุ โดยเฉพาะการทำ Bubble and seal เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด และสร้างความมั่นใจให้ชุมชนใกล้เคียงอีกด้วย


ภาพ/ข่าว  ผู้สื่อข่าวภูมิภาคฉะเชิงเทรา