สำรวจ !! โอกาสในวิกฤต กับความร่วมมือของทุกภาคส่วน ในภาวะโคโรน่า 2019

วิกฤตไวรัสโคโรน่า 2019 นั้น จัดได้ว่าเป็นวิกฤตที่ทำลายธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคนทางกายภาพเป็นส่วนใหญ่ การติดต่อผ่านทางละอองฝอย และการเปื้อนเชื้อบนพื้นผิว ทำให้ต้องใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ตรวจค้นโรค กักตัว รักษาผู้ป่วย ซึ่งเป็นมาตรการระยะสั้นทั้งสิ้น มาตรการทางระยะยาวขึ้นอยู่กับการมีวัคซีน การปลอดเชื้อ และการป้องกันเชื้ออย่างถาวร ในอดีตผู้รู้หลายท่านเปรียบเปรยว่า การป้องกันโรคอย่างถาวรของไวรัสโคโรน่า 2019 นั้น ต้องทำให้คล้ายกับถุงยางอนามัยที่ป้องกันการติดเชื้อเฮชไอวี แต่กระนั้น การป้องกันเชื้ออย่างถาวรกรณีไวรัสโคโรน่า 2019 ที่เป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ทำได้ไม่ง่ายนักเพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมไม่สอดคล้องกับเกราะป้องกันเชื้อเท่าไรนัก การป้องกันเชื้ออย่างถาวรจึงขึ้นอยู่กับการปฏิบัติวิถีใหม่ และความสอดคล้องกับการใช้ชีวิตของคน เทคโนโลยี และการมีภูมิคุ้มกันหมู่เป็นสำคัญ

ผมถือโอกาสนี้ในการพูดถึงโอกาสสี่เรื่องในวิกฤตไวรัสโคโรน่า 2019 เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยผ่านทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวในการบริหารจัดการในวิกฤตนี้ และเรากำลังเผชิญกับภูเขาน้ำแข็งก้อนโตที่ด้านล่างโตกว่าสิ่งที่เห็นเสียอีก โอกาสที่ผมพูดถึงนี้ จะช่วยแก้ปัญหาได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว หากผู้มีอำนาจนำไปปรับใช้อย่างถูกวิธี

โอกาสที่หนึ่ง โอกาสของการแพทย์แผนไทย และห่วงโซ่อุปทานของสมุนไพร

เป็นที่ทราบกันดีว่า การรักษาโรคติดเชื้อโคโรน่า 2019 นั้น เป็นการรักษาตามอาการ และมีวิธีและทิศทางในการรักษาที่มีหลากหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยอาการหนักต้องพึ่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เครื่องช่วยหายใจ รวมถึงห้องปลอดเชื้อความดันลบ และกระบวนการที่ป้องกันบุคลากรทางการแพทย์เมื่อทำการรักษาโรคอื่นที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงติดเชื้อโคโรน่า 2019 แต่ในผู้ป่วยติดเชื้อที่มีอาการไม่หนัก ไม่มีอาการ การรักษาโดยการแพทย์แผนไทยเป็นทางเลือกที่เข้าถึงได้ของประชาชน เหมาะสำหรับผู้ป่วยรอการรักษา รอเตียง กักตัว หรือทำการกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) การแพทย์แผนไทยและสมุนไพรนั้น ไม่จำกัดแต่เพียง “ฟ้าทะลายโจร” แต่ยังรวมถึงสมุนไพรอื่น ๆ เช่น รากทั้งห้า สัตตโกฐ ยาเขียว และยาอื่น ๆ ที่ขึ้นทะเบียนตำรับยา หรือภูมิปัญญาพื้นบ้าน แบบยาสุม การรมสมุนไพร เป็นต้น การรักษาทางเลือกในระหว่างรอเตียงหรือกักตัวนั้น หากทำอย่างถูกวิธี นอกจากจะทำให้ต้นทุนในการรักษาโรคที่มาจากไวรัสโคโรน่า 2019 อยู่ในระดับที่เข้าถึงได้แล้ว ยังเสริมภูมิคุ้มกันในกรณีของผู้สัมผัสกลุ่มเสี่ยงอีกด้วย โดยอาจใช้แนวทางทานอาหารเป็นยา ตามข้อมูลเผยแพร่ของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศ และอีกหลายสถานพยาบาล เป็นต้น 

การใช้สมุนไพร หรืออาหารเป็นยานั้น มีห่วงโซ่อุปทานที่ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ในช่วงที่พืชผักหรือธัญญาหารมีปัญหาด้านราคาผันผวน อันเนื่องมาจากความต้องการสินค้าเพื่อการบริโภคลดลง ในขณะที่ความต้องการยาหรือสมุนไพรมีเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะมาจากการป้องกัน การเก็งกำไร ก็ตาม สิ่งที่ภาครัฐต้องทำก็คือ 

(1) ทำอย่างไรให้ทุกคนในห่วงโซ่อุปทานนี้ได้รับการกระจายผลตอบแทนที่เป็นธรรม เพราะการที่ราคาของสมุนไพรฟ้าทะลายโจรทะยานขึ้นมาถึงกิโลกรัมละ 1 พันบาทนั้น ผู้ปลูกอาจไม่ได้ผลตอบแทนที่เป็นธรรมเท่าไรนัก 

(2) มีมาตรฐานของสมุนไพรที่ขึ้นทะเบียน และมีการตรวจสอบการปนเปื้อนโลหะหนักของสมุนไพรบรรจุขวด และ/หรือ แคปซูล เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่ต้องทำเพื่อผู้บริโภค เพราะนอกจากต้องจ่ายแพงในภาวะเช่นนี้แล้ว การรับประทานสมุนไพรปนเปื้อนจะส่งผลร้ายต่อผู้บริโภคมากกว่า

(3) ประกาศของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรื่องการปลูกสมุนไพรที่มีคุณภาพและการผลิตที่ปลอดภัย เพื่อให้ผู้ซื้อผู้ขายวัตถุดิบได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรม 

(4) การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการสกัดสารออกฤทธิ์สำคัญในพืชสมุนไพร หรือตำรับยารับรองในกรณีการปรุงยาแบบภูมิปัญญาท้องถิ่น 

(5) ส่งเสริมการวิจัยและการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรในลักษณะที่ชุมชนสามารถร่วมเป็นเจ้าของธุรกิจได้ ในกรณีนี้จะช่วยสร้างรายได้ของชุมชนและผู้เกี่ยวข้องกับการผลิต โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ในขณะเดียวกันก็ป้องกันการผูกขาดในธุรกิจสมุนไพร

(6) การขึ้นทะเบียน การจดลิขสิทธิ์ การจดความลับทางการค้า จะช่วยให้การดำเนินการพัฒนาสมุนไพรนั้น มีความยั่งยืนมากขึ้น และป้องกันการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา และ

(7) การสนับสนุนการวิจัยเชิงคลินิกของการใช้ตำรับยาแผนไทยในผู้ป่วยจริง

โอกาสที่สอง เสริมสร้างสถาบัน “บวร” 

บ้าน วัด โรงเรียน เป็นสามสถาบันที่เข้ามาเกี่ยวพันในภาวะวิกฤตโคโรน่า 2019 ในภาวะล็อกดาวน์นั้น หากบ้านไหนไม่มีผู้ติดเชื้อ ก็มีโอกาสอยู่ด้วยกันมากขึ้น แต่หากบ้านไหนมีผู้ติดเชื้อและไม่สะดวกในการกักตัวที่บ้านเนื่องจากความแออัด การใช้โรงเรียน สนามกีฬา ค่ายลูกเสือ ศูนย์ประชุม ห้องจัดเลี้ยง มาเป็นส่วนเสริมในการแยกผู้ติดเชื้อออกจากผู้ไม่ติดเชื้อจะทำให้การจัดการง่ายขึ้น เสริมกับ การให้คำปรึกษาและติดตามพัฒนาการทางไกล และระบบจัดส่งร่วม ทั้งเวชภัณฑ์ และอาหาร สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือ การล็อกดาวน์ในสภาวการณ์แออัดของที่อยู่อาศัย และการไม่ปลอดเชื้อในที่อยู่อาศัยนั้น กลับเป็นตัวเร่งในยอดผู้ติดเชื้อและทำลายระบบสาธารณสุข

ดังนั้น การใช้โรงเรียน สนามกีฬา ค่ายลูกเสือ ศูนย์ประชุม ห้องจัดเลี้ยง และจ้างผู้ที่เกี่ยวข้อง/ผู้ที่ว่างงานจากการปิดกิจการมาดำเนินการ “การกักตัวแบบบริหารจัดการ” จะสามารถจ้างงานตรงเป้า บรรเทาการติดเชื้อ และชะลอความรุนแรงของระบบสาธารณสุขที่กำลังเปราะบาง

ในส่วนของ “วัด” ซึ่งเป็นที่พึ่งสุดท้ายของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 นั้น บางวัดดำเนินการเผาศพฟรี ก็จำเป็นที่ภาครัฐต้องจัดสรรงบประมาณลงไปช่วย เพราะหากที่เผาศพ มีปัญหา จะทำให้ความเดือดร้อนฝังรากลึกเกินเยียวยา และนโยบายเผาศพฟรีนั้น เป็นการช่วยครอบครัวผู้สูญเสียได้ตรงเป้าที่สุด และไม่รั่วไหล

โอกาสที่สาม ปรับแนวทางการบริหารจัดการแบบใช้ข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และสื่อสารอย่างถูกต้อง

ในวิกฤตครั้งนี้ หากติดตามข้อมูลเป็นระยะจะพบว่า มีการกักตุนหน้ากากอนามัยทั้งที่เป็นสินค้าควบคุม กักตุนแอลกอฮอล์ กักตุนชุด PPE กักตุนน้ำยาตรวจหาเชื้อ กักตุนชุดตรวจเชื้อ เก็งกำไรเครื่องวัดออกซิเจน เก็งกำไรสารฆ่าเชื้อ เก็งกำไรยาฟ้าทะลายโจร การอมวัคซีนเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน ฯลฯ สิ่งที่ผู้มีอำนาจควรทำก็คือ ดำเนินการบริหารจัดการอย่างโปร่งใสเพื่อลดปัญหาเหล่านี้ในอนาคต และมีกลยุทธ์ที่ชัดเจน มุ่งเป้า อาศัยข้อมูลผ่านทางนโยบายที่เกี่ยวข้อง และระบบเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินการโดยรัฐเปิดเผยและโปร่งใสมากที่สุด ในขณะเดียวกัน การบังคับใช้กฎหมายก็จำเป็นต้องดำเนินการเพื่อสร้างมาตรฐานทางสังคมและสร้างสังคมที่ไม่สนับสนุนและอดทนต่อการคอร์รัปชัน

หลังจากล็อกดาวน์ 14 วันในพื้นที่สีแดงเข้ม สิ่งที่ภาครัฐควรเร่งดำเนินการคือ 

(1) การเยียวยาทางเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรม โดยที่มุ่งเป้ากลุ่มเปราะบาง โดยอาศัยฐานข้อมูลที่หลากหลายเชื่อมต่อกัน 
(2) แนวทางที่ชัดเจนในการได้มาซึ่งวัคซีน ทั้งด้านการทูต ความช่วยเหลือ และการแลกเปลี่ยนทางธุรกิจที่เป็นธรรม 
(3) แนวทางเศรษฐกิจหลังจากโควิด-19 ที่เป็นรูปธรรม โดยอาศัยการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวแบบเดิม หาโอกาสสร้างการท่องเที่ยวแนวใหม่ ที่เน้นการลดการทำลายทรัพยากรและการกระจายรายได้สู่ชุมชนไปพร้อมกัน และ 
(4) ปรับรูปแบบการสื่อสารโดยเน้นความเข้าอกเข้าใจ การสร้างจิตสำนึกสาธารณะร่วมกัน และการสื่อสารแบบเอื้ออาทร

โอกาสที่สี่ เอาตัวรอดในภาวะ “หนี้”

วิกฤตนี้ยังมีผลกระทบอีกเรื่องที่ผมบอกว่าเป็นฐานของภูเขาน้ำแข็งซึ่งใหญ่กว่าที่เรามองเห็นยอดภูเขาน้ำแข็งมากนัก สิ่งนั้นคือ ภาวะ “หนี้” ซึ่งหน่วยงานรัฐและธนาคารแห่งประเทศไทยก็พยายามรับมือและแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นระบบ แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหา “หนี้” จะแก้ได้อย่างถาวรนั้น ผู้ก่อหนี้มีส่วนสำคัญมาก ๆ ในการทำให้ปัญหาเบาบางลง สำคัญที่สุดคือ ต้องเข้าใจว่าปัญหานั้นคืออะไร หากเป็นปัญหาการก่อหนี้จากพฤติกรรมส่วนตัวที่ชอบใช้จ่ายเกินตัว ก็จำเป็นต้อง ลด ละ เลิก พฤติกรรมที่จะสร้างปัญหาในอนาคต โครงการแก้หนี้และคลินิกแก้หนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นทางออกหนึ่งที่สำคัญของการแก้ปัญหาภูเขาน้ำแข็งที่จะมาหลังจากฝุ่นควันโควิด-19 เริ่มจางลง

การเอาตัวรอดในภาวะ “หนี้” นั้น จำเป็นต้องประกอบอาชีพสุจริตและพยายามสร้างรายได้จากศักยภาพของตน และคิดเหมือนนักธุรกิจว่ากระแสเงินสดที่เป็นรายได้นั้นควรมาจากหลายช่องทาง มากกว่าพึ่งพารายได้ทางเดียว การพยายามหาอาชีพเสริมรายได้หลัก เป็นสิ่งที่ควรทำ และรู้จักบริหารการเงินส่วนบุคคล ซึ่งผู้ที่อยู่ในกับดักหนี้นั้นจำเป็นต้องมีกลไกช่วยให้หลุดพ้นจากภาวะนี้ รวมไปถึงการออกกฎหมายการฟื้นฟูการเงินส่วนบุคคล ที่คล้ายกับการฟื้นฟูกิจการ เพราะการปล่อยให้ภาวะ “หนี้” บีบคนที่พอมีศักยภาพในการสร้างประโยชน์ให้ประเทศหนำซ้ำบีบให้ไปทำผิดกฎหมายเพื่อมาชำระหนี้นั้น นับเป็นความสูญเสียของประเทศในอีกทางหนึ่ง

หากจะขออะไรในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อสร้างโอกาสที่ดีของเรื่องนี้ คือ ขอวิชาความรู้การเงินพื้นฐาน ให้ถูกบรรจุในการเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา ผ่านบทเรียน ผ่านการ์ตูนสำหรับเด็ก เน้นเรื่องการค้าขาย การประกอบสัมมาอาชีพ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในสังคม การก่อหนี้ที่เป็นประโยชน์ และการไม่ก่อหนี้ที่จะสร้างปัญหา โอกาสในการให้เด็กเรียนรู้การเงินพื้นฐานมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว และแก้ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบในสังคม ที่มีให้เห็นจำนวนมากในช่วงวิกฤตไวรัสโคโรน่า 2019 

ในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน การป้องกันการติดเชื้อ การตรวจคัดกรอง และวัคซีน เป็นเรื่องที่ไม่สามารถย่อหย่อนได้เพราะวิกฤตไวรัสโคโรน่า 2019 ก่อผลกระทบในวงกว้าง ทั้งครอบครัว เศรษฐกิจ และสังคม แต่เราจะเห็นได้ว่าในวิกฤตยังมีโอกาส และแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ หากแต่เพียงผู้ที่เกี่ยวข้องจะมองเห็นและใช้โอกาสในทางที่ถูกที่ควร การเห็นปัญหาเป็นเรื่องที่ดี และการหาทางออกแบบยั่งยืนเป็นการใช้โอกาสในวิกฤตซึ่งต้องอาศัยทุกภาคส่วนในการผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน 


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9