ประวัติศาสตร์ดำมืดของ “Chinatown” กับการกดขี่ชาวจีนในสหรัฐอเมริกา (ตอนที่ 2)

มาต่อกันกับตอนที่ 2 “ชะตากรรมและจุดพลิกผัน” ของย่าน Chinatown ในสหรัฐอเมริกา หลังจากที่ตอนแรกเราได้ทราบกันแล้วว่า ชะตากรรมของคนจีนในสหรัฐอเมริกานั้น ไม่ได้ราบรื่นเหมือนชาวจีนในสยามประเทศเลยแม้แต่น้อย

ทั้งการต้องตกเป็นแพะรับบาปว่าไปแย่งงานคนอเมริกันในช่วงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตกต่ำ ถูกรังเกียจ ถูกเหยียดเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ (Racism) ดูมองเป็นเผ่าพันธุ์ที่โสโครก ชั่วร้าย ไร้ศีลธรรม ในสายตาคนผิวขาว และจากนี้ก็จะถูกวางแผนขับไล่ให้ออกไปจากที่ดินใน Chinatown 

ก่อนจะกลับมาพลิกผันด้วยวิสัยทัศน์ของชาวจีนที่ต้องการรักษา Chinatown ไว้ ซึ่งในตอนนี้ เราจะมาดูกันว่าเขาจะมีแผนรับมือกับคนผิวขาวอย่างไรบ้าง และทำอย่างไร Chinatown ถึงมาเป็นอย่างที่เป็นอยู่ปัจจุบันได้

ย่าน Chinatown ในเมืองซานฟรานซิสโก ปี 1900

ในปี 1906 คณะกรรมการเมืองซานฟรานซิสโกได้มีแผนให้ทำการย้ายย่าน Chinatown ออกไปอยู่นอกเมืองในเขตห่างไกลจากตัวเมือง แต่แล้วเหตุไม่คาดฝันก็ได้เกิดขึ้น เช้าวันที่ 18 เมษายน ค.ศ. 1906 ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ จนทำให้เมืองซานฟรานซิสโกพังพินาศและเกิดเหตุไฟไหม้ไปทั่วทั้งเมือง จนมีผู้เสียชีวิตกว่า 5,000 คน

สภาพความเสียหายของเมืองซานฟรานซิสโกและย่าน Chinatown เดิม

ไม่มีใครทราบว่ามีชาวจีนเสียชีวิตไปกี่คน เนื่องจากการนับผู้เสียชีวิตครั้งนั้น ไม่นับรวมชาวจีนที่อยู่ในเขต Chinatown แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ ได้ทำให้ย่าน Chinatown พังพินาศ ซึ่งกลายมาเป็นโอกาสให้แผนการย้าย Chinatown ดูจะเป็นไปได้ด้วยดี 

ถึงขนาดที่ผู้สื่อข่าวรายหนึ่งได้ทำข่าวว่า “สิ่งที่น่าพึงพอใจอย่างเดียวท่ามกลางความสูญเสียของเมืองซานฟรานซิสโก ก็คือการที่ย่านคนจีนถูกทำลายลง ชุมชนเชื้อโรคนั้นไม่มีอีกต่อไปแล้ว”

แต่ในเวลาอีกแค่ 2 สัปดาห์ต่อมา ได้มีการพิจารณาเรื่องการย้ายถิ่นคนจีนออกไปนอกเมืองใหม่อีกรอบ เนื่องจากธุรกิจของชาวจีนเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมด้านเศรษฐกิจของเมืองซานฟรานซิสโก และดีต่อความสัมพันธ์ทางการค้าของสหรัฐอเมริกาและจีน

อีกทั้งสินค้าจากจีนที่นำเข้ามาค้าขาย ยังทำรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับเมืองซานฟรานซิสโก จึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของเมืองที่ต้องการการฟื้นฟูหลังความเสียหายจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่

การค้าระหว่างอเมริกัน-จีน เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของเมือง จนทำให้เมืองรอบข้างอย่าง Seattle และ Los Angeles เสนอตัวจะขอรับชุมชนชาวจีนจากเมืองซานฟรานซิสโก หากว่าซานฟรานซิสโกไม่ต้องการชาวจีนในเมืองของตน

Look Tin Eli พ่อค้าชาวจีนในเมืองซานฟรานซิสโก ได้นำเสนอแผนต่อคณะกรรมการเมืองซานฟรานซิสโกเพื่อที่จะให้ย่านคนจีนตั้งอยู่ที่เดิมได้ต่อไป ด้วยการเนรมิตย่านคนจีนขึ้นมาใหม่ พร้อมทั้งรูปแบบสถาปัตยกรรมที่นำเอกลักษณ์บางอย่างของสถาปัตยกรรมจีนมาใส่ไว้กับตัวอาคาร

Look Tin Eli พ่อค้าชาวจีนผู้นำเสนอแผนปรับปรุง Chinatown

แบบสถาปัตยกรรมของ Chinatown ใหม่นั้น ออกแบบโดยสถาปนิกชาวตะวันตก ซึ่งไม่เคยเห็นสถาปัตยกรรมจีนจริง ๆ แต่เป็นการเห็นจากรูปวาดหรือภาพถ่าย ดังนั้นสถาปัตยกรรมจีนที่เห็นอยู่ถูกสร้างออกมาไม่ได้ตรงตามระบบโครงสร้างหรือการรับน้ำหนักของสถาปัตยกรรมจีนอย่างแท้จริง แต่เป็น “สถาปัตยกรรมจีนที่อยู่ในความรับรู้ของชาวตะวันตก”

ส่วนที่ถูกนำมาใช้มากที่สุดน่าจะเป็นซุ้มประตูสีแดงและหลังคาแบบจีน ซึ่งเด่นสะดุดตาชาวตะวันตก โดยที่จุดประสงค์ของ Chinatown ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่นั้น มีไว้เพื่อเป็น Theme Park สำหรับดึงดูดนักท่องเที่ยวมายังเมืองซานฟรานซิสโก ด้วยเหตุนี้ทำให้ย่าน Chinatown ไม่ถูกย้ายออกไป และยังคงอยู่ในเมืองซานฟรานซิสโกมาจนถึงทุกวันนี้

รูปแบบ Chinatown ที่ซานฟรานซิสโก ได้กลายมาเป็นต้นแบบของ Chinatown ในเมืองต่าง ๆ ทั่วสหรัฐอเมริกาทั้ง New York, Los Angeles, Washington DC และอื่น ๆ

สุดท้ายเราจะเห็นได้ว่า ประวัติศาสตร์ของ Chinatown ในสหรัฐฯ นั้นเริ่มมาจากแหล่งเสื่อมโทรม และเป็นที่รวมของคนที่ถูกเหยียดเชื้อชาติ เหยียดเผ่าพันธุ์ ก่อนการพลิกผันกลับมาฟื้นฟูเป็น “Chinatown ใหม่” ด้วยวิสัยทัศน์ของพ่อค้าชาวจีน 

ซึ่งการสร้าง Chinatown ใหม่นั้น เป็นความพยายามในการเอาตัวรอด เพื่อให้คนจีนสามารถอยู่ต่อไปได้ในเมืองของคนผิวขาว อีกทั้งยังเป็นการทำเพื่อรักษาอัตลักษณ์และความเป็นตัวตนของตนเองไว้ 

ในกรณีสถาปัตยกรรมของ Chinatown จึงเป็น “เครื่องมือต่อรอง” ในทางการเมืองของชาวจีนกับผู้มีอำนาจผิวขาวในสหรัฐฯ ในเวลานั้น ด้วยการนำเสนอ Chinatown ที่สามารถสร้างรายได้และเศรษฐกิจให้กับเมืองได้ จนทำให้พวกเขาอยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้ 


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9