คณะสัตวแพทยศาสตร์ เป็นคณะที่หลาย ๆ คนที่รักและเมตตาเหล่าสัตว์น้อยใหญ่ต่างสนใจ อยากที่จะศึกษาเกี่ยวกับการดูแลรักษาสัตว์ไม่ให้บาดเจ็บ และ ปลอดภัย การเรียนในคณะนี้ยังต้องพบเจออีกหลาย ๆ อย่าง ที่ไม่ใช่แค่การดูแลรักษาสัตว์เท่านั้น

สำหรับใครที่สนใจอยากที่จะเรียนในคณะสัตวแพทยศาสตร์แต่ยังไม่รู้ว่าการเรียนภายใน 6 ปีนั้นจะต้องพบเจอกับอะไร วันนี้ THE STUDY TIMES จะขอมาแนะนำการเรียนในคณะนี้กัน ที่นอกจากการเรียนที่เข้มข้นไปด้วยเนื้อหาแล้ว ยังต้องพบเจอกับอะไรอีกมากมายเลยทีเดียว 

แต่ก่อนอื่น คณะสัตวแพทยศาสตร์ นั้นหมายถึง สัตว์ รวมกับคำว่า แพทย์ และ ศาสตร์ คือการเรียนเกี่ยวกับการรักษาสัตว์ไม่ใช่แค่เพียงสัตว์เลี้ยงเท่านั้น ยังรวมไปถึงสัตว์ทุกชนิดและทุกประเภท เมื่อจบมาแล้วจะได้รับวุฒิการศึกษาคือ สัตวแพทยศาสตรบัณฑิต นอกจากการเรียนเพื่อรักษาสัตว์ คณะนี้ยังต้องเรียนเกี่ยวกับ ผลผลิตด้านปศุสัตว์ การขยายพันธุ์สัตว์ การเลี้ยง และบำรุงพันธุ์สัตว์ วิธีการควบคุมโรคของสัตว์ที่สามารถติดต่อมาถึงมนุษย์ได้ รวมถึงด้านสุขศาสตร์อาหาร และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์ เรียกได้ว่าครอบคลุมทุกอย่างเกี่ยวกับสัตว์จริง ๆ 


โดยในคณะสัตวแพทยศาสตร์ จะเรียนทั้งหมด 6 ปี เหมือนกับเรียนแพทยศาสตร์ และ เภสัชศาสตร์ โดยจะแบ่งเป็น ปี 1 - 3 เรียกว่าชั้น Pre-clinic และปี 4 - 6 เรียกว่าชั้น Clinic โดยมีการเรียนคร่าว ๆ ดังต่อไปนี้

ปี 1 (ชั้น Pre-clinic) จะเรียนวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐานทั่วไป เช่น ฟิสิกส์ทางการแพทย์ เคมีทั่วไป ชีววิทยาทั่วไป เคมีอินทรีย์ เป็นต้น 

ปี 2-3 (ชั้น Pre-clinic) เป็นชั้นปีที่เริ่มเรียนวิชาของคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ ซึ่งการเรียนในคณะนี้ ไม่ได้เรียนแค่เฉพาะสัตว์เลี้ยงในบ้านอย่างสุนัขหรือแมวเท่านั้น ยังต้องเรียนไปถึงสัตว์ในฟาร์มเช่น หมู ไก่ ม้า วัว รวมไปถึงสัตวน้ำอีกด้วย วิชาที่เรียนยกตัวอย่างเช่น  จุลกายวิภาควิทยา หลักสัตวบาล Anatomy Neuroanatomy Immunology สรีรวิทยา อนามัยสิ่งแวดล้อม เภสัชวิทยา เป็นต้น เรียนตั้งแต่โครงสร้างของสัตว์และสิ่งมีชีวิตที่มองเห็นและมองไม่เห็น จนถึงสุขอนามัยในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ 

ปี 4-6 (ชั้น Clinic) เริ่มเข้าสู่วิชาเกี่ยวกับการรักษา พยาบาลสัตว์มากขึ้น วิชาเรียนจะเจาะลึกลงไปอีก เช่น อายุรศาสตร์ตามระบบอวัยวะ เทคนิคการวินิจฉัยและการรักษาโรคสัตว์ รังสีวิทยา พิษวิทยา หลักการศัลยศาสตร์และวิสัญญี เทคโนโลยีชีวภาพทางการสืบพันธุ์ของสัตว์ สุขศาสตร์อาหาร กฎหมายและจริยธรรมแห่งวิชาชีพ เป็นต้น ซึ่งในช่วง 3 ปีนี้ก็จะมีความยากมากยิ่งขึ้น มีการฝึกงานและทำวิจัยต่าง ๆ เพื่อให้ตัวผู้เรียนมีประสบการณ์มากยิ่งขึ้น พร้อมที่จะไปดูแลรักษาพยาบาลสัตว์น้อยใหญ่ 

เมื่อเรียนจบแล้ว คณะสัตวแพทยศาสตร์ไม่ได้จบมาเป็นสัตว์แพทย์อย่างเดียวนะคะ ยังสามารถทำงานในหน่วยงานรัฐ ได้แก่ กรมปศุสัตว์, กรมประมง และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฯลฯ ส่วนหน่วยงานเอกชน สามารถประกอบอาชีพในธุรกิจด้านอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ การผลิตอาหารสัตว์ และธุรกิจฟาร์มสัตว์ต่าง ๆ

ส่วนสถาบันที่เปิดสอนในคณะสัตวแพทยศาสตร์มีดังต่อไปนี้ 
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
มหาวิทยาลัยขอนแก่น
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
มหาวิทยาลัยมหิดล
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตบางพระ จังหวัดชลบุรี
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์    
มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น

คณะสัตวแพทยศาสตร์ถือว่ามีความน่าสนใจอย่างยิ่งในการเข้าศึกษาต่อเพราะนอกจากจะได้ช่วยเหลือสัตว์น้อยใหญ่แล้ว ยังฝึกความอดทนอีกมาก แต่ทุกการเรียนรู้จะแลกมาด้วยประสบการณ์ที่อาจจะไม่มีวันลืมได้เลย THE STUDY TIMES ขอเป็นกำลังใจให้น้อง ๆ ทุกคนตามความฝันของตัวเองได้สำเร็จนะคะ


ที่มา 
https://www.dek-d.com/tcas/45341/
https://campus.campus-star.com/education/133857.html
https://www.admissionpremium.com/adplanning/fac?id=20150911135458QJCr0qY