นครพนม - องคมนตรี เชิญสัญญาบัตร พัดยศ ผ้าไตร พระราชทาน ถวายแด่ "พระราชมงคลวัชโรดม" พระเกจิเมืองนครพนม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ องคมนตรี เชิญสัญญาบัตร พัดยศ ผ้าไตร พระราชทาน ถวายแด่พระราชมงคลวัชโรดม พระเกจิอายุ 101 ปี

วันที่ 4 กรกฎาคม 2564  ที่วัดโพธิ์ชัย บ้านโพนตูม หมู่ที่ 4 ตำบลก้านเหลือง อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายศุภชัย ภู่งาม องคมนตรี เชิญสัญญาบัตร พัดยศ และผ้าไตร พระราชทาน ถวายแด่พระราชมงคลวัชโรดม หรือ หลวงปู่แสง จันทวังโส อายุ 101 ปี พระเกจิอาจารย์ชื่อดังของจังหวัดนครพนม โดยมีนายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พร้อมด้วย นายทวีศักดิ์ ชัยธันยาภัทร ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนครพนม พลตรี สามารถ จินตสมิทธิ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 210 พลตำรวจตรี ธนชาติ รอดคลองตัน ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครพนม และคณะหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและผู้นำชุมชุมชนท้องถิ่นร่วมประกอบพิธี

พระราชมงคลวัชโรดม (แสง จันทวังโส) เป็นพระสงฆ์ที่เคร่งครัด เปี่ยมด้วยคุณธรรมและเมตตา เป็นที่พึ่งของชาวบ้าน อุทิศตนรับใช้พระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีอายุ 101 ปี 80 พรรษา มีนามเดิมว่า นายแสงวงศ์ วงษ์ตาผา เกิดเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2463 แรม 6 ค่ำ เดือน 4 ปีมะแม ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 บิดาชื่อนายบุญจันทร์ มารดาชื่อนางสิงห์ เป็นชาวบ้านโพนตูม ตำบลก้านเหลือง อำเภอนาแก

ท่านได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ด้วยการบรรพชาเป็นสามเณรหน้าไฟเพื่ออุทิศส่วนกุศลและส่งดวงวิญญาณให้กับคุณตาที่ล่วงลับ เมื่ออายุ 19 ปี ที่วัดศรีสำราญจิต บ้านดอนโทน หมู่ที่ 5 ตำบลก้านเหลือง มีพระครูนาครธรรมนิเทศ เจ้าอาวาสวัดศรีสำราญจิตเป็นพระอุปัชฌาย์ และเมื่อเสร็จพิธีอุทิศส่วนกุศลและส่งดวงวิญญาณแล้ว เจ้าอาวาสไม่ยอมให้ลาสิกขาและพาเดินธุดงค์ไปยังสถานที่ต่าง ๆ ตามจังหวัดขอนแก่น จังหวัดร้อยเอ็ด จนถึงจังหวัดอุบลราชธานี และได้เข้าจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านแก้ง อำเภอเขมราฐเรื่อยมา

กระทั่งวันที่ 3 ตุลาคม 2482 ท่านอายุได้ 22 ปี จึงได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ มีพระครูบริหารเกษมรัฐ เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระอุย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระดม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ โดยหลังอุปสมบทได้มุ่งมั่นเล่าเรียนด้วยปฏิภาณไหวพริบที่ดีเลิศจนสำเร็จการศึกษาแผนกธรรม นักธรรมชั้นตรี–โท–เอก ตามลำดับ ทั้งยังได้เล่าเรียนอักขระเลขยันต์และวิทยาคมต่าง ๆ จนเชี่ยวชาญ

ท่านเป็นพระภิกษุผู้ปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย คอยเทศนาธรรมโวหารโปรดญาติโยมและชาวบ้านในละแวกนั้น

หลายปีต่อมาจึงได้กลับบ้านเกิด มาจำพรรษาอยู่ที่วัดโพธิ์ชัย บ้านโพนตูม และด้วยเป็นพระที่มีความสมถะ ปฏิบัติดี มีความรู้ลึกซึ้งแตกฉาน ในช่วงที่มีผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ชุกชุม ได้นำสมุนไพรที่อยู่ในป่าลึกภูดงน้อย ตำบลก้านเหลือง มาช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้กับชาวบ้านจนหายป่วย จึงมีชาวบ้านและลูกศิษย์ที่เลื่อมใสศรัทธาจำนวนมาก แวะเวียนมากราบไหว้และทำบุญไม่ขาดสาย

ด้วยการบำเพ็ญประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาและดูแลการเจ็บป่วยของชาวบ้าน จึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร นามพระครูอุดมรังสี และดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัย รวมทั้งเป็นเจ้าคณะตำบลก้านเหลือง

และในครั้งนี้ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น "พระราชมงคลวัชโรดม พุทธาคม ธรรมพิสิฐ มหาศณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี" พระราชาคณะชั้นราช มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 4 รูป คือ พระครูปลัด 1 พระครูสังฆรักษ์ 1 พระครูสมุห์ 1 และพระครูใบฎีกา 1


ภาพ/ข่าว  สุเทพ หันจรัส ผสข.นครพนม