พัทลุง - ทำนาริมทะเล 1 เดียวในประเทศไทย ความภาคภูมิใจของลูกหลานชาวบ้านปากประ

บ้านปากประ หมู่ที่ 8 ตำบลลำปำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง  ชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้ชีวิตออกเรือหาปลาเป็นอาชีพหลัก หารายได้มาเลี้ยงครอบครัวตั้งแต่บรรพบุรุษ บ้านเรือนก็ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลสาบ ซึ่งแต่ละรายมีที่ดินบนฝั่งเพื่อประกอบอาชีพเพาะปลูกน้อยมาก จึงคิดค้นหาวิธีการเพาะปลูกพืชในทะเลสาบ หรือริมฝั่งริมทะเลสาบเพื่อเป็นผลผลิตเลี้ยงครอบครัว บรรพบุรุษของชาวประมงนับร้อยปี  จึงได้คิดทำนาข้าวในทะเล โดยใช้พื้นที่ริมชายฝั่งทะเลสาบที่ทอดยาวกว่า 9 กิโลเมตร และถ่ายทอดความรู้วิธีการปลูกข้าวในทะเลสาบมาจนถึงยุคปัจจุบัน

นายสายัณ รักดำ กรรมการสถานศึกษาโรงเรียนวัดปากประ ดูแลงานกิจกรรมโรงเรียนและการทำนาเล เผยว่า การทำนาเลของจังหวัดพัทลุงเป็นหนึ่งเดียวในประเทศไทย ฤดูกาลในการทำนาเลเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายนจนถึงต้นเดือนกรกฎาคมและจะเก็บเกี่ยวในเดือนกันยายน เราจะเริ่มหว่านต้นกล้าจะเป็นช่วงต้นเดือนมิถุนายนเว้นต้นกล้าอายุ 1 เดือน แล้วไปปักในทะเลใช้เวลาไม่เกิน 90 วันก็จะเก็บเกี่ยวได้เลย ทำไมเราต้องอาศัยช่วงนี้เป็นเพราะช่วงนี้ลมตะวันตกพัดมาฝั่งตะวันออกหรือที่บ้านเรียกกันว่าลมพลัด จะทำให้น้ำทะเลลดและหาดโคลนก็จะปรากฏขึ้นเป็นโคลนตมที่เหมาะกับการทำนาริมเล ส่วนพื้นที่ที่เหมาะในการทำนาเลก็คือแนวทะเลสาบสงขลาฝั่งจังหวัดพัทลุง ตั้งแต่หมู่ที่ 7 8 และ 11 ของตำบลลำปำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ทำได้ปีละ 1 ครั้ง โดยไม่ต้องฉีดยาไม่ต้องใส่ปุ๋ย อาศัยแร่ธาตุและซากพืชซากสัตว์จากโคลนตมที่น้ำทะเลพัดขึ้นมา

ในปีนี้พันธุ์ข้าวที่ใช้จะเป็นข้าวพัฒนาสายพันธุ์ได้แก่พันธุ์ กข.55 เพราะปีที่แล้วเราทดลองระหว่างพันธุ์ กข.43 กับ กข.55 ปรากฏว่าข้าวพันธุ์กข.55 ได้ผลผลิตมากกว่า ปีนี้เลยเน้นเป็นพันธุ์ กข.55 เหมาะสำหรับพื้นที่ทำนาเลตรงนี้ การทำนาเลนี้เป็นอาชีพเสริมรายได้ที่ทำก็เพื่อนำข้าวมาเก็บไว้ใช้กินเองในครัวเรือนไม่ได้ทำไว้ทางการพาณิชย์ ซึ่งปกติแล้วคนทะเลสาบสงขลาจะประกอบอาชีพรับจ้างและการทำประมง ส่วนการทำนาริมเลทำมาเป็น 100 ปีแล้ว ตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษเป็นการสืบสานวัฒนธรรมทางการเกษตรในด้านการทำนาริมเล อีกอย่างที่นี่ชาวบ้านเขาก็ทำกันมานมนานแล้ว ซึ่งทางสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดพัทลุงก็จะมาเน้นเป็นการท่องเที่ยวและเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ในแก่นักเรียนในเรื่องการทำนาเล ส่วนโรงเรียนที่มาเป็นประจำก็คือโรงเรียนสตรีพัทลุงและมหาวิทยาลัยทักษิณวิทยาเขตพัทลุงรวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาเยอะพอสมควร ในด้านผลกระทบในการทำนาเลตรงนี้จะเป็นเรื่องดินและฝนฟ้าอากาศมากกว่า สมมติว่าปีไหนที่พายุเข้าเร็วแล้วข้าวยังไม่สุกดีข้าวก็จะล้ม แล้วถ้าน้ำเค็มเข้าข้าวก็จะลีบไม่เป็นเม็ด แต่โชคดีหน่อยปีที่ผ่านมาน้ำท่วมทำให้น้ำจืดดันน้ำเค็มไปในทะเล และผลจากการน้ำท่วมคลื่นในทะเลแรงเลยพัดเอาตมขึ้นมากองริมขอบชายฝั่งเยอะเลยเหมาะที่จะทำนาเป็นอย่างมาก

ส่วนปริมาณข้าวจะได้ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ชาวนาริมทะเลสาบสงขลา ไม่ต้องซื้อข้าวกิน และบางรายยังเหลือสามารถขายได้ด้วย “การทำนาริมทะเลแห่งเดียวในประเทศไทย ที่นักท่องเที่ยวหากมีเวลาต้องไปสัมผัส” นี่คือความภาคภูมิใจของลูกหลานชาวบ้านปากประ ที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้