เสียเงินไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้ “วัฒนธรรมรักษาหน้า” ของสังคมจีน 

หากผู้อ่านท่านใดเป็นลูกหลานชาวจีน ก็คงจะได้เคยเห็นญาติผู้ใหญ่ของตัวเองกระทำการ “แย่งกันจ่าย” หรือการพยายามออกตัวเป็นเจ้าภาพผู้ใจกว้างที่จ่ายเงินเลี้ยง และดูแลพวกพ้องตามมื้ออาหารต่าง ๆ รวมถึงเวลามีงานเลี้ยงกับเพื่อนฝูงหรืองานเลี้ยงรวมญาติ

ดูเหมือนว่าการแย่งกันจ่ายสำหรับคนจีนนั้นจะทำกันอย่างเป็นวัฒนธรรม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความ “爱面子 - อ้ายเมี่ยนจึ” แปลตรงตัวได้ว่า “รักหน้า” หรือหากจะหาคำภาษามานิยาม ก็คงจะใกล้เคียงกับคำว่า “หน้าใหญ่” ที่สุด ซึ่งก็คือการยึดติดกับเกียรติยศ ศักดิ์ศรี และการมีภาพลักษณ์ที่ดีสมบูรณ์ ซึ่งคนจีนหลายคนให้ความสำคัญกับ “หน้า” เป็นอย่างมาก

ตัวผู้เขียนเรียนมหาวิทยาลัยที่ประเทศจีนมาเป็นเวลา 4 ปี หนึ่งในประโยคที่ผมได้ยินบ่อยมากคือ...

“什么都可以丢,但不能丢脸” (อะไรก็ยอมเสียได้หมด แต่จะไม่ยอมเสียหน้า)

หากแปลเป็นไทยก็จะคล้ายกับประโยคที่ว่า “เสียเงินไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้”

แล้วต้องทำอย่างไรให้ “ได้หน้า” หรืออย่างน้อยก็คือ “ไม่เสียหน้า” ? ซึ่งการกระทำให้ได้หน้านั้นก็เหมือนจะมีสูตรสำเร็จอยู่แล้ว สำหรับผู้ชายก็คือการประสบความสำเร็จในชีวิต มีเงิน มีบ้าน มีรถ และมีเมีย ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามานี้ก็คือเครื่องประดับบารมีของผู้ชาย ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นนิยามของคำว่า “ประสบความสำเร็จ” ซึ่งการประสบความสำเร็จนั่นแล ที่เป็นตัวชี้วัดระดับสถานะทางสังคม หรือเรียกอีกอย่างได้ว่า “มีหน้ามีตาในสังคม”

แต่ความเป็นจริงก็มิได้สวยหรูหรอกครับ เพราะพื้นที่ของปลายยอดพีระมิดนั้นมีจำกัด ทุกคนอยากประสบความสำเร็จ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะประสบความสำเร็จจริง ๆ กระนั้นแล้ว แม้จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่เพื่อการมีหน้ามีตาในสังคม หลายคนยอมทำทุกอย่างเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ตัวเองดูรุ่งโรจน์ มีความมั่นคง และใกล้เคียงกับคำว่าประสบความสำเร็จมากที่สุด

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้คนจีนมากมายเกิดพฤติกรรมที่เรียกว่า “打肿脸充胖子 - ต่า จง เหลี่ยน ชง พ่าง จึ” แปลเป็นไทยได้แบบตรงตัวได้ว่า “ตีหน้าตัวเองให้บวม เพื่อทำให้ตัวเองดูอ้วน” มีความหมายว่า ทำเรื่องเกินตัวเพื่อรักษาหน้า หรือการพยายามสร้างบารมีเกินกว่าความเป็นจริงจนเป็นโทษแก่ตัวเอง

ยกตัวอย่างพฤติกรรมการตีหน้าตัวเองให้บวม เพื่อทำให้ตัวเองดูอ้วน เช่นการดึงดันจะเป็นคนออกเงินเลี้ยงอาหารเพื่อนเพื่อทำให้ตัวเองดูดีมีฐานะ ทั้ง ๆ ที่จริงแล้วอาจมีหนี้สินติดค้างคนอื่น ๆ อยู่มากมาย หรือการดื่มเหล้ามากเกินไป เพื่อทำให้คนอื่นเห็นว่าตัวเองคอแข็ง สามารถดื่มได้มาก แต่สุดท้ายเมาจนต้องให้คนหิ้วปีกกลับบ้าน หรือจะเป็นการลงทุนกับเครื่องแต่งกายด้วยการซื้อแบรนด์หรูให้ตัวเองดูมีมูลค่า แต่ต้องแอบกินบะหมี่สำเร็จรูปอยู่ที่บ้านไปทั้งเดือน

ซึ่งกรีณีเหล่านี้อาจถือได้ว่าเบาไปเลยครับ เมื่อเทียบกับผู้หญิงกลุ่มหนึ่งที่ถูกสามีทำร้ายร่างกาย แต่เพราะกลัวจะเสียหน้า จึงไม่กล้าหย่ากับสามี (ค่านิยมสำหรับคนจีน การหย่าคือเรื่องน่าอับอาย) และได้แต่ยอมทนถูกกระทำต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งก็ไม่ต่างจากเด็ก ๆ บางคนที่ยอมโกงข้อสอบเพื่อรักษามาตรฐานของตัวเอง และเพื่อไม่ให้พ่อแม่เสียหน้า หรือเพื่อให้พ่อแม่เอาคะแนนลูกไปอวดคนอื่นเพื่อเอาหน้า หรือแม้กระทั่งบางคนที่เคยประสบความสำเร็จจริง ๆ แต่เมื่อถึงคราวลำบากกลับไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากญาติมิตรเพราะกลัวจะเสียหน้านั่นเอง

ซึ่งค่านิยมการรักหน้าในรูปแบบของการ “ตีหน้าตัวเองให้บวม เพื่อทำให้ตัวเองดูอ้วน” นับว่าเป็นค่านิยมที่ผิด ส่วนคนที่ยึดติดกับมายาคติของคำว่า “หน้า” มากเกินไปก็มักจะลงเอยด้วยการพาตัวเองไปอยู่ในจุดที่ยากลำบากกว่าเดิม

แต่หากถามว่าการรักหน้านั้นมีข้อดีหรือไม่ ก็มีครับ หากอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพราะสิ่งที่เป็นแก่นหลักของวัฒนธรรมการรักหน้านั้นคือการพยายามพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเองให้มีความรุ่งโรจน์ และตรงกับสิ่งที่นิยามคำว่า “ประสบความสำเร็จ” ซึ่งการรักหน้าก็ถือว่าเป็นแรงขับเคลื่อนในการใช้ชีวิตให้เดินไปข้างหน้าของคนในสังคมได้เหมือนกัน เพราะทำให้เกิดการแข่งขันกันพัฒนา ยิ่งคนในประเทศมีความมุ่งมั่นในการทำงานพัฒนาตัวเองมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งสร้างเม็ดเงินให้กับเศรษฐกิจและบุคลากรคุณภาพให้กับประเทศในภาพรวม

แต่ก็อีกนั่นแหละครับ ค่านิยมเกี่ยวกับการ “รักหน้า” นั้นควรจะอยู่ในระดับที่พอดี เพราะหากมากเกินไปจนการแข่งขันเพื่อพัฒนากลายเป็นแข่งขันเพื่อบลัฟ เพื่ออวดเบ่งความยิ่งใหญ่ของตัวเอง และทำให้เกิดการ “ตีหน้าตัวเองให้บวม เพื่อทำให้ตัวเองดูอ้วน”

ซึ่งสำหรับตัวผู้เขียนแล้ว การให้ค่าตัวเองนั้นสำคัญที่สุดครับ และควรปล่อยวางคำตัดสินต่าง ๆ ของคนอื่นที่เกิดจากค่านิยมในสังคม การประสบความสำเร็จของเรานั้นเป็นอย่างไร เราควรมีส่วนในการตัดสินใจด้วย


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9